ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ที่ปัจจุบันกำลังปะทุขึ้นเป็นสงครามระหว่างกองทัพอิสราเอลกับกลุ่มฮะมาส ระหว่าง 7-9 ตุลาคม 2566 นั้นมีเหตุการณ์ในอดีตที่สะสมมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์เป็นเหตุผลสำคัญ นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ที่เหตุปะทะและความขัดแย้งตลอดปี 2566 ก็เป็นชนวนที่ทำให้กลุ่มฮะมาสสะสมความไม่พอใจถึงกับประกาศว่า “ปฏิบัติการทางการทหารครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญ เพื่อให้นานาชาติตระหนักว่าจะไม่มีการกดขี่คุกคามชาวปาเลสไตน์อีกต่อไป” ขณะที่กองทัพอิสราเอลประกาศว่า “จะทำให้กลุ่มฮะมาสหมดความชอบธรรมและอำนาจในการควบคุมปกครองฉนวนกาซา” อาจกล่าวได้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงในปัจจุบันนี้มีทั้งเหตุการณ์ในอดีต และเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในห้วงปี 2566 เป็นแรงผลักดันที่ทำให้ระดับความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชนชาติ
เหตุการณ์หนึ่งที่อาจเป็นจุดชนวนความขัดแย้งที่ทำให้กลุ่มฮะมาสไม่พอใจนโยบายของอิสราเอลมาก ๆ ในปี 2566 นี้ คือ การปราบปรามชาวปาเลสไตน์ในค่ายผู้ลี้ภัยเมือง Jenin ในเขตเวสต์แบงก์ ตั้งแต่ปี 2565 รวมทั้งเมื่อ ม.ค.66 และ ก.ค.66 โดยทั้ง 2 ห้วงเวลานั้นสร้างความเสียหายให้ชาวปาเลสไตน์อย่างมากทั้งในเชิงกายภาพ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากเช่นกัน
การปฏิบัติการในช่วง ก.ค.66 อิสราเอลโจมตีพื้นที่ในค่ายผู้ลี้ภัยในเมือง Jenin ในเวลากลางคืนด้วยจรวดและขีปนาวุธ เพื่อทำลายคลังอาวุธและฐานที่มั่นของกองกำลังกลุ่มฮะมาส หลังจากนั้นก็ส่งทหารติดอาวุธจำนวนมากกว่า 1,000 นายเข้าไปลาดตระเวนและปราบปรามผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ที่อยู่ในค่ายดังกล่าว ซึ่งเป็นค่ายผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ที่ตั้งมาตั้งแต่ปี 2496 มีพื้นที่ประมาณครึ่งตารางกิโลเมตร เป็นที่อยู่อาศัยของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ประมาณ 14,000 คน และถือว่าเป็นพื้นที่สำคัญเพราะเชื่อมระหว่างอิสราเอลกับเขตเวสต์แบงค์ และอิสราเอลเชื่อว่าเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มต่อต้านอิสราเอลด้วย
ปฏิบัติการในช่วง ก.ค.66 กินเวลาประมาณ 2 วันและยุติลงด้วยการที่ฝ่ายอิสราเอลประกาศถอนกำลังออกจากพื้นที่ เพราะประสบความสำเร็จในการสังหารสมาชิกกองกำลังต่อต้านอิสราเอล หรือกลุ่ม Jenin Brigades ในพื้นที่ได้แล้ว การปราบปรามด้วยกำลังครั้งนั้นที่อิสราเอลเรียกว่า ปฏิบัติการ “Break the Wave” ถือว่าเป็นการปฏิบัติการครั้งใหญ่ของอิสราเอลในรอบ 20 ปี ในพื้นที่เขตเวสต์แบงก์ที่ปกครองโดยชาวปาเลสไตน์ จึงอาจเป็นการสร้างชนวนความไม่พอใจครั้งสำคัญ เพราะนอกจากจะสร้างความเสียหายทั้งอาคาร สถานที่ และพลเรือนแล้ว สมาชิกกองกำลังของกลุ่มฮะมาสและกลุ่มต่อต้านอิสราเอลอาจถือว่าเป็นการ “บุกเข้าไปโจมตี” ในฐานที่มั่นสำคัญ จึงเป็นการสร้างความไม่พอใจได้ในระดับที่กลุ่มฮะมาสต้องตอบโต้คืนด้วยปฏิบัติการ Operation Al-Aqsa Flood เพื่อทวงความยุติธรรมให้กับชาวปาเลสไตน์ โดยใช้ยุทธวิธีทางการทหารทุกรูปแบบในการบั่นทอนความมั่นคงภายในอิสราเอลนั่นเอง
ส่วนการปราบปรามค่ายผู้ลี้ภัยในเมือง Jenin เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน โดยกองทัพและเจ้าหน้าที่ตำรวจอิสราเอลติดอาวุธเข้าไปในพื้นที่ในช่วงเช้าตรู่ มีการสังหารชาวปาเลสไตน์ไปอย่างน้อย 9 ราย ซึ่งอิสราเอลระบุว่าเป็นสมาชิกกองกำลังต่อต้านอิสราเอล เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้อิสราเอลถูกประณามโดยสหประชาชาติ เนื่องจากเป้นการก่อเหตุรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของพลเรือน เพราะมีรายงานว่ามีพลเรือนเสียชีวิตจากการปราบปรามของอิสราเอลด้วย ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในสถานะผู้ลี้ภัย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีคาวมเปราะบางและสหประชาชาติให้ความช่วยเหลืออยู่อย่างต่อเนื่อง
ติดตามการอัพเดตสถานการณ์ได้ที่ https://intsharing.co