กรุงเทพมหานครเป็นเมืองอันดับหนึ่งของประเทศไทยในฐานะ “มหานครโตเดี่ยว” เนื่องจากเป็นแหล่งรวมอาชีพ แหล่งท่องเที่ยว ครองอันดับ 1 เมืองที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาลต่อไป และด้วยความเจริญที่กระจุกอยู่เพียงแห่งเดียวนี้ ก็ได้นำความแออัดหนาแน่น และปัญหาคุณภาพชีวิตสู่คนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเมือง และยังเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างสูง ไม่ว่าจะด้วยเรื่องการศึกษา แหล่งงาน หรือการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคและ สาธารณูปการ
ถ้าคิดจะแก้ไขปัญหาความหนาแน่นของเมือง ตามแนวทางของการกระจายอำนาจ “การพัฒนาพื้นที่ชนบท” อาจจะเป็นคำตอบ เพราะจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความเจริญในการบริหารจัดการประเทศ สังเกตไหมว่า….ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีทั้งศูนย์กลางทางเศรษฐกิจหลายศูนย์ มีมหานครและเมืองรองที่มีความเจริญทัดเทียมกัน เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น ส่วนบางประเทศได้กำหนดให้เมืองแต่ละเมืองมีหน้าที่ (Function) แตกต่างกัน เช่น เมืองปูตราจายาของมาเลเซีย เป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองที่ย้ายหน่วยงานราชการสำคัญๆ ออกจากเมืองกัวลาลัมเปอร์ที่มีความหนาแน่น เมืองโคลัมโบที่เป็นเมืองท่าของศรีลังกา ซึ่งตั้งเป้าที่จะเป็นมหานครใหม่เทียบเท่ากับดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือเมืองอู่ตะเภาในจังหวัดระยองที่จะพัฒนาสนามบินนานาชาติและเป็นเมืองศูนย์กลางการบินของประเทศ
ด้วยโครงสร้างการบริหารประเทศของไทยที่มีการมอบอำนาจให้สู่จังหวัด และมีงบประมาณในการพัฒนาจังหวัดที่เฉลี่ยตามจำนวนประชากร โครงสร้างและการบริหารจัดการตามแนวทางนี้ทำให้การพัฒนาจังหวัดของไทยส่งเสริมลักษณะ “ความโตเดี่ยว” ของเมืองมากขึ้น จึงเกิดเมืองที่มีแนวโน้มที่จะเป็น “เมืองรอง” ต่อจากกรุงเทพมหานครที่มีจำนวนประชากรมาก 3 ลำดับ ได้แก่ เชียงใหม่ อุบลราชธานี และนครราชสีมา
……….หากพิจารณาการขยายตัวของเมืองจากปัจจัยด้านระยะทางที่ใกล้กับกรุงเทพมหานครมากที่สุด โดยไม่รวมพื้นที่เขตปริมณฑลแล้ว “จังหวัดนครราชสีมา” จึงมีศักยภาพในการเป็นมหานครแห่งใหม่ และสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้การพัฒนานี้สำเร็จนั่นคือ….. รถไฟฟ้าความเร็วสูง ที่จะทำให้การเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปสู่จังหวัดนครราชสีมานั้นเป็นไปได้ง่ายดายและรวดเร็วมากขึ้น เช่นเดียวกับการพัฒนาเมืองโอซากาของญี่ปุ่น ที่ถูกพัฒนาเป็นเมืองรองต่อจากโตเกียวด้วยการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมเมืองทั้งสองเมืองเข้าหากัน เมื่อปี 2507 นั่นเอง
การที่จังหวัดนครราชสีมาจะก้าวไปสู่มหานครอันดับที่ 2 ของประเทศ จึงเป็นเรื่องไม่ยาก แต่จะต้องมีการพัฒนาในหลายๆ ด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม คมนาคม โดยคำว่า “มหานคร” หรือ Metropolis มีนิยามถึงจำนวนประชากรไม่ต่ำกว่า 5,000 คนต่อตารางกิโลเมตร และการพัฒนาให้เมืองมีจำนวนประชากรหรือความหนาแน่นมากขึ้น จะต้องมีการพัฒนาแหล่งงานและเศรษฐกิจเพื่อเป็นการเพิ่มประชากรหลักที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ถาวร ซึ่งแตกต่างจากเมืองท่องเที่ยวที่มีเพียงประชากรแฝง โดยการสร้างแหล่งงานจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมรับกับการลงทุนเพื่อการเติบโตของแหล่งงาน…. ทั้งหมดนี้ ต้องเกิดขึ้นภายใต้ “วิสัยทัศน์” ที่ชัดเจนว่า นครราชสีมาจะเป็นมหานครแบบใด? จากเอกลักษณ์เดิมทางด้านพื้นที่ที่มีขนาด 25,494 ตารางกิโลเมตร ใหญ่ที่สุดของประเทศ ตามด้วยเชียงใหม่และกาญจนบุรี และด้วยตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ใกล้กับเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครเพียง 289 กิโลเมตร เดินทางด้วยรถยนต์ใช้เวลา 2.30 ชั่วโมง และเป็นประตู่สู่อีสาน ศิลปะวัฒนธรรมที่หลากหลาย หรือในด้านสิ่งแวดล้อมที่มีพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อยู่ด้วย
………..แน่นอนว่าด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นเหล่านี้ นครราชสีมาหรือโคราช จะกลายเป็นมหานครแห่งใหม่ที่แตกต่างจากกรุงเทพมหานครศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมแล้ว จังหวัดนครราชสีมามีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นเมืองสุขภาพ (Wellness) ด้วยเช่นกัน หรือเป็น เมืองที่มีการออกแบบเพื่อเน้นตอบโจทย์นโยบายส่งเสริมสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งนี่อาจเป็นเอกลักษณ์ของมหานครใหม่แห่งนี้ และในที่สุดกรุงเทพมหานครอาจจะไม่ใช่มหานครที่โตเดี่ยวอีกต่อไป เมื่อโมเดล “มหานครราชสีมา” ประสบความสำเร็จ… ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จะมีหัวเมืองที่เจริญทัดเทียมกันหมด…. เป็นการกระจายความเจริญสู่พื้นที่ต่างจังหวัด และบรรลุเป้าหมายในการกระจายอำนาจตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และช่วยลดความหนาแน่นของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อีกด้วย