โครงสร้างประชากรกับการแย่งชิงทรัพยากรมนุษย์
ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เรามีประชากรผู้สูงอายุมากกว่า 20% ของโครงสร้างประชากรทั้งหมด ทำให้เกิดความหวาดวิตกของการเป็นสังคมผู้สูงอายุ วัยแรงงานจะต้องรับภาระในการเลี้ยงดูวัยชรา ส่งผลต่อการผลิตและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพื่อเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ไทยได้กำหนดแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) โดยมียุทธศาสตร์ด้านการเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาผู้สูงอายุ สร้างระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ เผยแพร่องค์ความรู้ให้กับบุคลากรด้านผู้สูงอายุเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุ ยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่กำหนดไว้และได้ดำเนินการด้วยการพัฒนาผู้สูงอายุให้มีอาชีพ สามารถหารายได้ วางแผนการเงินเพื่อการพึ่งพาตนเองได้ มีสุขภาพที่แข็งแรง และได้ดำเนินการมาจนถึง พ.ศ. 2564 ตามแผนที่วางไว้…. คำถามสำคัญก็คือ แล้วหลังจากนี้คืออะไร? เมื่อจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุอยู่ในช่วง 60 ปีขึ้นไปในไทยยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงร้อยละ 28 ของประชากร ในขณะที่วัยแรงงานลดลงเหลือร้อยละ 58 รวมถึงประชากรที่เกิดใหม่ก็กำลังลดลงเหลือร้อยละ 14 ในปี พ.ศ. 2575 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อปัญหาสังคมผู้สูงอายุไม่ได้รับการแก้ไข โครงสร้างประชากรยังอยู่ในความเสี่ยงที่มีความเปลี่ยนแปลงไป อะไรจะเข้ามาเติมศักยภาพให้กับวัยแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แน่นอนว่าด้วยระบบสาธารณสุขในปัจจุบันทำให้คนมีอายุยาวขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้นในวัยชรา เกษียณช้าลง แต่กระนั้นก็ไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ทางออก…จึงมุ่งไปที่การนำ “เทคโนโลยี” เข้ามาช่วยในการทำงาน ซึ่งการใช้เครื่องจักรหรือคอมพิวเตอร์เข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ก็ทยอยเปลี่ยนถ่ายมาอย่างต่อเนื่อง…