การโจมตีทางไซเบอร์ต่ออากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน (drone) ของภาคเอกชน มีแนวโน้มถูกแสวงประโยชน์เพื่อสร้างความเสียหายทางกายภาพได้อย่างรุนแรง โดยใช้วิธีควบคุมเครื่องจากระยะไกลแล้วบุกรุกน่านฟ้าเพื่อปฏิบัติการสอดแนม ขนส่งสิ่งของผิดกฎหมาย หรือส่งสัญญาณรบกวนการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งสามารถอำนวยความสะดวกแก่การก่ออาชญากรรมได้หลายรูปแบบ เช่น การโจมตีหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐาน การลักลอบติดต่อกับนักโทษในเรือนจำ การสวมสิทธิ์ใช้งานโดรนของบุคคล/หน่วยงานอื่น ประเด็นดังกล่าวเป็นข้อห่วงกังวลที่สำคัญของหน่วยงานด้านความมั่นคง เนื่องจากปัจจุบันโดรนเป็นสินค้าที่แพร่หลายแต่ยังไม่มีกฏหมายควบคุมอย่างรัดกุมเพียงพอ ซึ่งคาดว่าในปี ๒๕๗๓ มูลค่าการซื้อขายโดรนทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 90,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสัดส่วนการใช้งานอยู่ในภาคการทหาร ภาคธุรกิจ และภาคการขนส่งมากที่สุดตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีผู้ใช้โดรนส่วนบุคคลอีกจำนวนมากที่ไม่รายงานตนเพื่อขึ้นทะเบียนการใช้งานอุปกรณ์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาชญากรทางไซเบอร์ที่สามารถใช้โดรนขยายพื้นที่ก่อเหตุให้เป็นวงกว้างขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เสมือนการใช้คอมพิวเตอร์เคลื่อนที่เร็ว สำหรับตัวอย่างเครื่องมือที่กลุ่มแฮ็กเกอร์นิยมใช้โจมตีทางไซเบอร์ต่อโดรน คือ ชุดคำสั่ง Dronesploit ในซอฟต์แวร์ Kali Linux (เป็นซอฟต์แวร์สำหรับตรวจพิสูจน์หลักฐานดิจิทัลและทดสอบความปลอดภัยของระบบเครือข่าย ที่ถูกนำไปประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือโจมตีทางไซเบอร์) ทั้งนี้ แฮ็กเกอร์สามารถเข้าควบคุมอุปกรณ์ได้ผ่านการดักรับสัญญาณวิทยุ (RF) และอินเทอร์เน็ตไร้สาย (Wi-Fi) ซึ่งเป็นช่องทางสื่อสารหลักของโดรน โดยใช้ซอฟต์แวร์ดังกล่าวขโมยข้อมูลยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน สำรวจช่องโหว่ความปลอดภัยของเครือข่ายและอุปกรณ์ รวมทั้งลักลอบแก้ไขข้อมูลในหน่วยความจำของโดรนเพื่อดัดแปลงไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายได้