สำรวจนโยบายความมั่นคงของสวิตเซอร์แลนด์ท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดในยุโรปจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เราเห็นประเทศยุโรปผนึกกำลังกันอย่างชัดเจนมากในการต่อต้านการกระทำของรัสเซีย ประเทศที่มีนโยบายเป็นกลางมาอย่างยาวนานอย่างสวีเดนและฟินแลนด์ก็ได้ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมนาโต้อย่างเป็นทางการแล้ว อีกประเทศหนึ่งที่สมควรจับตามองไม่แพ้กันว่าจะดำเนินนโยบายต่อไปอย่างไรคือสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศเป็นกลางใจกลางยุโรป สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไม่มีแนวโน้มที่จะยุติลง เนื่องจากยังไม่มีสัญญาณว่าทั้งสองฝ่ายจะเจรจาหาข้อยุติเมื่อใด และทั้งสองฝ่ายต่างต่อสู้กันและกันอย่างเข้มข้น ทั้งในด้านการสู้รบทางทหารซึ่งยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยชาติพันธมิตรนาโต้หลายประเทศได้ส่งอาวุธให้ยูเครน อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยูเครนสามารถต้านทานการรุกคืบของรัสเซียได้ อีกด้านหนึ่ง เราเห็นการผนึกกำลังในชาติตะวันตกซึ่งนำโดยสหรัฐฯ ผ่านกลุ่มนาโต้และกลุ่มอียู ในการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงินต่อรัสเซียอย่างหนักหน่วง อีกทั้งยังประณามการกระทำของรัสเซียอย่างต่อเนื่อง และโน้มน้าวให้ประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ แสดงจุดยืนเชิงนโยบายที่ต่อต้านปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย จากสภาวะสงครามข้างต้น สวีเดนและฟินแลนด์เริ่มมองเห็นถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงจุดยืนเชิงนโยบายที่เคยมีมาอย่างยาวนาน ทั้งสองประเทศประกาศถึงความจำเป็นในการเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรนาโต้ เพื่อรับประกันความมั่นคง เนื่องจากทั้งสองประเทศมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ใกล้กับรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟินแลนด์มีพรมแดนทางบกติดกับรัสเซียกว่า 1,340 กิโลเมตร มองกลับมาที่สวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่ตั้งอยู่ใจกลางยุโรป ซึ่งภาคภูมิใจในสถานะความเป็นกลางที่เริ่มตั้งแต่ปี 1815 โดยในช่วงเวลาความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์นั้น สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ดำเนินนโยบายเป็นกลางทางทหารมาโดยตลอดไม่มีเปลี่ยนแปลง ทั้งสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง และสงครามเย็น ท่ามกลางสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบัน เริ่มมีข้อถกเถียงในแวดวงนโยบายถึงมาตรการที่สวิตเซอร์แลนด์สามารถจะดำเนินการได้โดยที่สามารถคงสถานะความเป็นกลางไว้ได้ ทั้งนี้ สิ่งที่สวิตเซอร์แลนด์ดำเนินการไปแล้วคือ การประณามปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย การโหวตสนับสนุนขับรัสเซียออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ยูเครน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กลุ่มประเทศพันธมิตรตะวันตกทำ แต่สวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้ทำคือ การขับไล่นักการทูตรัสเซียออกจากประเทศ และการส่งยุทโธปกรณ์ไปยูเครน โดยกรณีล่าสุดคือ สวิตเซอร์แลนด์ปฏิเสธคำขอของเยอรมนีที่ต้องการส่งมอบยุทโธปกรณ์ที่เยอรมนีนำเข้าจากสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อไปมอบให้ยูเครน ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์มองว่าขัดกับการดำรงสถานะความเป็นกลาง…