The Intelligence Update 14/02/2024 : ภาพรวมการประท้วงจากสนามเลือกตั้ง
พบกับรายการ The Intelligence Update อัปเดตสถานการณ์ต่างประเทศที่น่าสนใจ วันนี้เราจะมาพูดคุยเรื่อง “ภาพรวมการประท้วงจากสนามเลือกตั้ง”
พบกับรายการ The Intelligence Update อัปเดตสถานการณ์ต่างประเทศที่น่าสนใจ วันนี้เราจะมาพูดคุยเรื่อง “ภาพรวมการประท้วงจากสนามเลือกตั้ง”
สำนักข่าว IRNA ของทางการอิหร่าน รายงานเมื่อ 12 ก.พ.67 อ้าง พลตรี Hossein Salami ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guard Corps – IRGC) ของอิหร่าน เปิดเผยในวันเดียวกันว่า IRGC ประสบความสำเร็จในการทดสอบยิงขีปนาวุธพิสัยไกลจากเรือรบเป็นครั้งแรก โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกองกำลังการบินและอวกาศ (IRGC Aerospace Forces) กับกองทัพเรือ IRGC ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรบทางทะเลของ IRGC ได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ อิหร่านขยายโครงการพัฒนาขีปนาวุธเพื่อป้องกันและป้องปรามภัยคุกคามอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อ 15 ม.ค.67 IRGC ยิงขีปนาวุธพิสัยไกลโจมตีเป้าหมายในเขตปกครองตนเองชาวเคิร์ดทางตอนเหนือของอิรัก ที่อิหร่านเชื่อว่าเป็นฐานสายลับอิสราเอล และฐานที่มั่นของกลุ่ม Islamic State (IS) ในเมือง Aleppo และจังหวัด Idlib ทางเหนือของซีเรีย ที่อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในอิหร่าน เมื่อ 3 ม.ค.67
นาย Kumar Muthuvelu ผู้บัญชาการตำรวจรัฐยะโฮร์ มาเลเซีย เปิดเผยเมื่อ 12 ก.พ.67 ยืนยันกรณีสถานที่ราชการในรัฐยะโฮร์ 3 แห่ง ได้แก่ สภาเมือง กรมตำรวจ และสำนักงานศาล ได้รับอีเมลขู่วางระเบิดจากบัญชีที่ใช้ชื่อว่า “Takahiro Karasawa” ([email protected]) และใช้ข้อความเดียวกัน แต่เมื่อเข้าตรวจสอบพื้นที่กลับไม่พบวัตถุต้องสงสัย และจากการสืบสวนเบื้องต้นพบว่า บัญชีดังกล่าวเคยส่งข้อความขู่วางระเบิดสถานที่สำคัญในหลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ เมื่อ ส.ค.66 ฟิลิปปินส์ เมื่อ ก.ย. และ ต.ค.66 ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับอีเมลขู่วางระเบิดเมื่อ ธ.ค.66 ส่วนบุคคลชื่อ Takahiro Karasawa มีตัวตนจริง เป็นทนายความชาวญี่ปุ่น และเคยชี้แจงผ่านบัญชี X ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับเหตุขู่วางระเบิด โดยอ้างว่าเป็นการกระทำของกลุ่มนิยมความรุนแรงที่แฮกบัญชีดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในชั้นนี้ กรมตำรวจรัฐยะโฮร์ยังไม่ทราบแรงจูงใจของผู้ก่อเหตุ แต่สันนิษฐานว่า ผู้ก่อเหตุไม่ได้เจาะจงเป้าหมาย แต่เป็นการส่งอีเมลแบบสุ่มเพื่อสร้างสถานการณ์ โดยจะสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดต่อไป
กระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย ออกแถลงการณ์เมื่อ 12 ก.พ.67 ประณามกองทัพอิสราเอลที่ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อเมืองราฟาห์ ในฉนวนกาซา ว่าเป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบ ผิดกฎหมาย และไร้มนุษยธรรม อีกทั้งชัดเจนว่าเป้าหมายของอิสราเอลคือการทำลายล้างชาวปาเลสไตน์ให้สิ้นซาก โดยไม่คำนึงถึงหลักพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศและละเมิดคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เมื่อ 26 ม.ค.67 ที่ให้ความคุ้มครองชาวปาเลสไตน์ชั่วคราว โดยมาเลเซียเรียกร้องให้อิสราเอลยุติการโจมตีทันที เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างวิกฤตด้านมนุษยธรรม และเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาค นอกจากนี้มาเลเซียยังเรียกร้องให้เลขาธิการสหประชาชาติ และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เร่งยับยั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นี้โดยเร็ว โดยมาเลเซียยังคงยืนหยัดสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์ในการกำหนดใจตนเอง (Right to Self-Determination) การสถาปนารัฐปาเลสไตน์ที่มีกรุงเยรูซาเลมตะวันออกเป็นเมืองหลวง และการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติโดยสมบูรณ์ ทั้งนี้ อิสราเอลโจมตีทางอากาศต่อเมืองราฟาห์เมื่อช่วงเช้า 12 ก.พ.67 เป็นเหตุให้มีพลเรือน รวมถึงผู้หญิงและเด็ก เสียชีวิตกว่า 100 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก ปัจจุบันมีชาวปาเลสไตน์ประมาณ 1.4 ล้านคน อาศัยอยู่ในเมืองราฟาห์ เนื่องจากกองทัพอิสราเอลบังคับให้ชาวปาเลสไตน์ย้ายถิ่นฐานจากทางตอนเหนือลงมายังตอนใต้ของฉนวนกาซา
กระทรวงการต่างประเทศ(กต.) และกระทรวงพาณิชย์ (พณ.)สหรัฐฯ เผยแพร่แถลงการณ์เมื่อ 12 ก.พ.67 ว่า ในวันเดียวกัน นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศไทย ได้พบหารือทวิภาคีกับนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และนางจีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในระหว่างการเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ โดยมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ บนพื้นฐานค่านิยมและผลประโยชน์ร่วม เพื่อสร้างสันติภาพและเสถียรภาพทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมทั้งขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ทั้งนี้ไทยมุ่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัล เฉพาะอย่างยิ่งผ่านกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework-IPEF) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมพลังงานสะอาดและมาตรฐานทางการค้าที่เป็นธรรม ตลอดจนเชิญชวนภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาในเมียนมาและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การให้ความช่วยเหลือตัวประกันชาวไทยในกาซา และขอสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี 2568 – 2570
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยศูนย์ SCB EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ รายงานสถานการณ์ด้านแรงงานและการจ้างงานไทย โดยคาดการณ์ว่าโครงสร้างสังคมไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอดในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งมีกลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 ประเภท ได้แก่ กลุ่มการเกษตร กลุ่มค้าปลีกและค้าส่ง กลุ่มการผลิต กลุ่มโรงแรมและร้านอาหาร กลุ่มก่อสร้าง ตามลำดับ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยแพร่รายงานสถานการณ์แรงงานไทยที่มีแนวโน้มขาดแคลน จากการประเมินว่าไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัย “ขั้นสุดยอด” ภายในปี ๒๕๗๒ ปัญหาคือ จะส่งผลให้แรงงานไทยลดลงอย่างรวดเร็วจนเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานที่รุนแรง ขณะที่การพยายามเพิ่มจำนวนประชากรของไทยก็ยังมีปัญหาจากการที่ประชากรยังมีค่านิยมเรื่องการคุมกำเนิด และความต้องการที่จะไม่มีลูกเพิ่มขึ้น เพราะปัจจัยด้านปัญหาเศรษฐกิจ
Bank of America แจ้งเตือนลูกค้าหลังจากที่แฮ็กเกอร์โจมตีระบบ Infosys McCamish Systems (IMS) เมื่อ ปี 2566 ซึ่งเป็นระบบผู้ให้บริการดิจิทัลสัญชาติอินเดียที่ Bank of America นำมาใช้ในองค์กร ส่งผลให้ข้อมูลระบุตัวตนของลูกค้า (Personally Identifiable Information- PII) ถูกละเมิด ได้แก่ ชื่อบุคคลที่ได้รับผลกระทบ ที่อยู่ หมายเลขประกันสังคม วันเกิด ข้อมูลทางการเงิน รวมถึงหมายเลขบัญชีและบัตรเครดิต
เว็บไซต์ VOA และ AP รายงานเมื่อ 12 ก.พ.67 ว่า ชาวกรีกประมาณ 1,500 คน จัดชุมนุมประท้วงที่กรุงเอเธนส์ กรีซ เมื่อ 11 ก.พ.67 เพื่อคัดค้านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมยื่นพิจารณาเข้ารัฐสภาในสัปดาห์นี้ กฎหมายฉบับดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยม แต่จะต้องได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้านกลางและพรรคฝ่ายค้านซ้ายด้วยจึงจะได้รับการอนุมัติ ปัจจุบัน กรีซให้การรับรองสัญญาการอยู่ร่วมกันสําหรับคู่รักเพศเดียวกัน และอนุญาตให้เปลี่ยนอัตลักษณ์ทางเพศได้โดยไม่ต้องมีการประเมินทางจิตเวชและการผ่าตัดแปลงเพศ อย่างไรก็ตาม การที่กรีซเป็นประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์เป็นศาสนาประจำชาติ ทำให้ผู้ชุมนุมมองว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวขัดต่อจริยธรรมประเพณี สวนทางกับความเชื่อทางศาสนา และขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ หากได้รับการอนุมัติ กรีซจะกลายเป็นประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ประเทศแรกที่รับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน
สำนักข่าว Anadolu Agency ของตุรกี รายงานเมื่อ 11 ก.พ.67 ว่า ประชาชนในหลายประเทศทั่วยุโรปยังคงออกมาชุมนุมสนับสนุนปาเลสไตน์และประท้วงการกระทำของอิสราเอลและพันธมิตร โดยเมื่อ 10 ก.พ.67 ประชาชนออกไปรวมตัวประท้วงที่กรุงเวียนนา ออสเตรีย ผู้ชุมนุมถือธงปาเลสไตน์และป้ายข้อความ “หยุดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” “เสรีภาพในฉนวนกาซา” และ “อิสราเอลเป็นผู้ก่อการร้าย”เช่นเดียวกับที่กรุงโรม อิตาลี ประชาชนจำนวนหลายร้อยคนไปรวมตัวกันที่ Fori Imperiali Avenue เพื่อประท้วงและเรียกร้องให้ยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวปาเลสไตน์ ขณะที่ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ผู้ชุมนุมได้เดินขบวนประมาณ 2 ชั่วโมง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ก่อนจะไปยุติที่ด้านหน้าสํานักงานสหประชาชาติ เช่นเดียวกับที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส และกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี ที่มีการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้หยุดยิงทันทีและยุติการเหยียดเชื้อชาติและความหวาดกลัวชาวต่างชาติ