ทะเลจีนใต้เป็นพื้นที่ตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญในปัจจุบัน เพราะเป็นพื้นที่ที่หลายประเทศอ้างสิทธิ์เหนือดินแดน รวมถึงจีน ซึ่งมีความเคลื่อนไหวเพื่อเพิ่มความชอบธรรมในการอ้างกรรมสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อต้นกรกฎาคม 2567 จีนส่งเรือรบและเรือกองกำลังยามฝั่งเข้ามาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ จนเกิดการปะทะกันเล็กน้อย เหตุการณ์ดังกล่าว แม้ไม่บานปลายเป็นความขัดแย้งใหญ่ แต่เป็นตัวอย่างหนึ่งของความตึงเครียดในพื้นที่นี้ ….นอกจากนี้ ทะเลจีนใต้ยังเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีมูลค่าสูง จึงถือเป็นแหล่งทรัพยากรที่การันตีความมั่นคงให้กับผู้ที่ครอบครอง อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายของจีนในทะเลจีนใต้ไม่เพียงแต่เป็นการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ หรือขยายอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงการแข่งขันกับสหรัฐฯ ในเวทีโลกอีกด้วย เท่ากับว่า……นโยบายของจีนต่อสถานการณ์ในทะเลจีนใต้มีความสำคัญอย่างมาก โดยนอกจากรัฐบาลจีนจะต้องปกป้องสิทธิทางทะเลแล้ว ยังเป็นการสร้างอำนาจถ่วงดุลกับประเทศนอกภูมิภาค ควบคู่กับรักษาระดับความสัมพันธ์กับประเทศคู่ขัดแย้งในปัญหานี้ด้วย การติดตามและวิเคราะห์นโยบายจีนต่อทะเลจีนใต้จึงจะเป็นประโยชน์ต่อการประเมินสถานการณ์ในพื้นที่นี้ต่อไป ย้อนกลับไปตั้งคำถามว่า ทำไมจีนถึงต้องให้ความสำคัญกับทะเลจีนใต้? ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ซึ่งจีนอ้างอิงจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่มีมากว่า 2,000 ปี ที่จีนใช้หลักฐานว่า นักเดินเรือจีนเคยสำรวจและตั้งถิ่นฐานบนหมู่เกาะในทะเลจีนใต้มายาวนาน และในสมัยราชวงศ์หมิงก็มีการเดินทางของเจิ้งเหอ แสดงถึงบทบาทของจีนในทะเลจีนใต้ โดยจีนใช้การเดินเรือของเจิ้งเหอเป็นหลักฐานในการสนับสนุนการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดน ซี่งชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการควบคุมกิจกรรมทางทะเลที่มีมาแต่โบราณ และในสมัยสาธารณรัฐจีนยังคงถือสิทธิในทะเลจีนใต้เช่นเดิม โดยพรรคก๊กมินตั๋งใช้หลัก “เส้นประ 11 เส้น” ต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์จีนปรับเป็น “เส้นประ 9 เส้น” ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้ ดังนั้น…… ในมุมมองของจีน ทะเลจีนใต้ถือเป็นอาณาเขตของตนเองมาแต่โบราณ และจีนใช้ข้อมูลชุดนี้เป็นวาทกรรมในการดำเนินนโยบายต่อทะเลจีนใต้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน…