การเติบโตของธุรกิจร้านอาหาร เครื่องดื่ม ไอศกรีม และสินค้าประเภทอื่น ๆ ที่ว่าด้วยเรื่องอาหารสัญชาติจีนในต่างประเทศเป็นอีกตัวอย่างที่สะท้อนถึงการมุ่งดำเนินยุทธศาสตร์ “Go Global” ของจีน ด้วยการส่งเสริมให้นักธุรกิจออกไปแสวงหาโอกาสในต่างประเทศนอกเหนือจากการลงทุนในจีน ขณะที่นักลงทุนจีนเองก็ต้องการหาโอกาสใหม่ในต่างประเทศ ธุรกิจที่ว่าด้วยเรื่องอาหารจึงเป็นดาวกระจายดวงใหม่ของจีนที่ประเทศต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่ไทยที่ต้องได้รู้จัก…มากขึ้น…และมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าจีนคงไม่ง่ายนักในการออกสู่สนามรบในต่างประเทศไม่ว่าจะด้วยธุรกิจใดจะเล็กหรือใหญ่ ในเมื่อหลายประเทศยังคงหวาดระแวงและหวาดกลัวกับการเข้ามาของทุนจีน ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังซบเซาโดยมีจุดเริ่มต้นจากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ เป็นหนึ่งในปัจจัยผลักดันให้ผู้ประกอบการร้านอาหารชาวจีนจำเป็นต้องออกไปหาโอกาสเติบโตในประเทศอื่นและเพื่อหนีการแข่งขันที่ดุเดือดในประเทศ แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นการหนีเสือปะจระเข้หรือไม่ เมื่อการแข่งขันในต่างประเทศที่ผู้ประกอบการชาวจีนมองว่ายังมีโอกาส ก็ร้อนแรงไม่ต่างจากรสชาติหม่าล่าของจีน เนื่องจากต้องเผชิญกับการแข่งขันกับนักลงทุนชาติอื่น ที่เล็งเห็นโอกาสจากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเช่นกัน ปัจจุบันมีร้านอาหารสัญชาติจีนในต่างประเทศประมาณ 600,000 แห่ง และแน่นอนว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากจีนและมีชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ในแทบทุกประเทศ รวมถึงไทย เป็นตลาดที่มีศักยภาพในสายตานักลงทุนจีน ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะเห็นร้านอาหารและเครื่องดื่มสัญชาติจีนหน้าใหม่ผุดขึ้นเป็นระยะในประเทศแถบภูมิภาคนี้ เช่น ร้านชาบูหม้อไฟ haidilao ร้านกาแฟ Luckin Coffee ร้านชานมไข่มุกและไอศกรีม Mixue แต่นักลงทุนจีนยอมรับว่าความสำเร็จในการเจาะตลาดต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันกับผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มีเมนูคุ้นลิ้นคนพื้นที่และเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว หรือผู้ประกอบการต่างชาติก็เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นอาหารฝรั่ง เกาหลี และญี่ปุ่น เพราะครองส่วนแบ่งการตลาดอาหารอยู่เดิม และที่สำคัญคือต้องต่อสู้กับผู้ประกอบการชาวจีนด้วยกันที่ต่างก็มองหาโอกาสในต่างประเทศเช่นกัน บทความเรื่อง “China’s restaurant chains may be biting off…