เกษตรช่วยป่า ป่าช่วยเศรษฐกิจ เศรษฐกิจช่วยโลก
ต้นสัก ต้นตะเคียน ต้นพะยูง มะฮอกกะนี ต้นมะค่า ชื่อไม้ยืนต้นเหล่านี้เป็นที่นิยมในการเพาะปลูกเป็น “ไม้เกษียณ” หรือหมายถึง ต้นไม้ที่ปลูกเพื่อเตรียมขายซุง เป็นรายได้หลังเกษียณ เสมือนการลงทุนในระยะยาวบนที่ดิน ดีกว่าปล่อยให้ที่ดินว่าง…… เป็นการสร้างมูลค่าที่ดินไปด้วย ไม่แตกต่างจากการขายบ้านพร้อมที่ดิน แต่เป็นการขายบ้านพร้อมสวนที่เป็นทรัพย์สิน ดังนั้น “การปลูกป่า” จึงเป็นกิจกรรมที่นิยมกันมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ปัจจุบันการปลูกป่าเพื่อสร้างรายได้สามารถทำได้หลายทาง ทั้งจากผลผลิตโดยตรงจากการขายเนื้อไม้ การเพาะกล้าไม้จากเมล็ดหรือกิ่งชำ ทำปุ๋ยจากเศษใบไม้ รวมถึงการขายคาร์บอนด์เครดิต (carbon credit) ซึ่งมีแนวโน้มอุปสงค์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะธุรกิจทุกประเภทต้องให้ความร่วมมือในการลดคาร์บอนที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยมีป่าทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนไว้ จากกระบวนการสังเคราะห์แสงตามธรรมชาติ ทำให้มีแนวคิดในการปลูกป่าคาร์บอนตั้งแต่ปี 2537 ในพิธีสารโตเกียว สอดคล้องกับการตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าของไทยให้ได้ 55% ของพื้นที่ประเทศในปี 2580 ซึ่งต้องปลูกป่าเพิ่มขึ้นอีก 360,000 ไร่ จึงจะได้ตามเป้าหมาย …………การเพิ่มพื้นที่ป่าในครั้งนี้ จึงไม่ใช่แค่การประกาศเขตอนุรักษ์หรือเขตอุทยาน แต่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐที่มีที่ดินอยู่ 57.5% ของที่ดินในประเทศ กับความต้องการซื้อคาร์บอนจากภาคเอกชนที่จะเป็นงบประมาณสนับสนุนการปลูกและดูแลรักษาป่า…