รอบรั้วอาคเนย์ ปักษ์แรก ส.ค.67
รอบรั้วอาคเนย์ Intelligence Report by NIA ฉบับปักษ์แรกเดือน สิงหาคม 2567
รายงานสถานการณ์และบทบาทของผู้นำที่น่าสนใจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมประเมินแนวโน้ม
รอบรั้วอาคเนย์ Intelligence Report by NIA ฉบับปักษ์แรกเดือน สิงหาคม 2567
รายงานสถานการณ์และบทบาทของผู้นำที่น่าสนใจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมประเมินแนวโน้ม
สำนักข่าว RIA ของรัสเซีย รายงานอ้างหน่วยข่าวกรองรัสเซีย (SVR) เมื่อ 13 ส.ค.67 ว่า สหรัฐฯ กำลังพิจารณาสรรหาผู้นำยูเครนคนใหม่ที่มีคุณสมบัติในการจัดการกับปัญหาและมีภาพลักษณ์สุจริต แทนประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี โดยอาจใช้ข่าวสารที่สร้างความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของประธานาธิบดีเซเลนสกีเพื่อบีบบังคับให้ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากแกนนำของพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันไม่พอใจประธานาธิบดีเซเลนสกีมากขึ้นจากกรณีการทุจริตงบประมาณช่วยเหลือทางการทหารของสหรัฐฯ นอกจากนี้ SVR ระบุถึงนายอาร์เซน อวาคอฟ อดีตรัฐมนตรีกิจการภายในของยูเครน เป็นผู้เหมาะสมที่สุด เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับกลุ่มชาตินิยมยูเครนและมีการติดต่อกับผู้นำประเทศยุโรปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อการจัดการเจรจากับรัสเซียเพื่อยุติความขัดแย้งในยูเครน ทั้งนี้ ประธานาธิบดีเซเลนสกี หมดวาระ 5 ปี เมื่อ 20 พ.ค.67 แต่ยูเครนยังไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายใต้กฎอัยการศึก ขณะที่รัสเซียยอมรับรัฐสภายูเครน (Verkhovha Rada) มีอำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย
วิทยุเอเชียเสรี ภาษาลาว รายงานเมื่อ 12 ส.ค.67 ว่าเจ้าแขวงบ่อแก้ว และเจ้าหน้าที่กระทรวงป้องกันความสงบ ร่วมหารือกับนายจ้าว เหว่ย ประธานบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว (ตรงข้าม จ.เชียงราย) เพื่อเร่งปราบปรามขบวนการหลอกลวงทางโทรศัพท์ (Call center) โดยทางการลาวสั่งการให้ยุติการเคลื่อนไหว และขนย้ายสิ่งของทั้งหมดออกจากพื้นที่ดังกล่าวภายใน 25 ส.ค.67 หากฝ่าฝืน ลาวจะจัดตั้งกองกำลังพิเศษเพื่อบังคับใช้คำสั่งดังกล่าว ก่อนหน้านี้ เมื่อห้วง ม.ค.-มิ.ย.67 ทางการลาวตรวจพบขบวนการ call center เคลื่อนไหวในเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวมากกว่า 400 แห่ง และการปราบปรามเมื่อต้น ส.ค.67 สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยทั้งสิ้น 1,389 คน เป็นชาวจีน 1,211 คน ชาวเวียดนาม 145 คน ชาวมาเลเซีย 16 คน ชาวเอธิโอเปีย 13 คน และชาวเมียนมา 4 คน ส่วนใหญ่มุ่งเป้าหมายเหยื่อชาวจีน ทำให้ทางการจีนเร่งร่วมมือกับหน่วยงานในลาวเพื่อปราบปราม
ดาโต๊ะ ซรี อาไมรูดิน ชารี มุขมนตรีรัฐสลังงอร์ เปิดเผยเมื่อ 13 ส.ค.67 ว่า บริษัท Tesla ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จากสหรัฐฯ จะยังสานต่อแผนการลงทุนในรัฐสลังงอร์ โดยเน้นการวิจัยและพัฒนา และการเปิดศูนย์ให้บริการยานยนต์ EV ซึ่งจะตอบสนองต่อเป้าหมายของบริษัท Tesla ในการขยายตลาดยานยนต์ EV ในภูมิภาคเอเชีย ปัจจุบัน บริษัท Tesla ตั้งสำนักงานใหญ่ในเมือง Cyberjaya รัฐสลังงอร์ สถานีชาร์จไฟ 52 จุดทั่วมาเลเซีย และมีแผนจะตั้งศูนย์บริการในอนาคต
สำนักข่าว AFP รายงานเมื่อ 14 ส.ค.67 อ้าวแถลงของ พล.จ.ซอมินทุน โฆษกรัฐบาลเมียนมา ปฏิเสธข่าวลือเกี่ยวกับการรัฐประหาร หลังจากปรากฏกระแสข่าวลือในสื่อสังคมออนไลน์ ระหว่าง 13 – 14 ส.ค.67 ว่า พล.ท.เนียวซอ สมาชิกสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council – SAC) และ พล.ร.อ.โมอ่อง รัฐมนตรีประจำสำนักประธาน SAC ที่ 4 ร่วมทำการรัฐประหาร โดยสั่งการให้ พล.ท.อ่องลินดเว เลขานุการ SAC เป็นผู้ควบคุมตัว พล.อ.อาวุโส มินอองไลง์ ประธาน SAC ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรักษาการประธานาธิบดีเมียนมาว่าไม่เป็นความจริง พร้อมระบุว่า เป็นการโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มต่อต้าน โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำลายสันติภาพและเสถียรภาพของประเทศ ในห้วงที่ นายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน จะเยือนกรุงเนปยีดอใน 14 ส.ค.67 และพบหารือกับ พล.อ.อาวุโส มินอองไลง์ ในประเด็นความมั่นคงและความร่วมมือทวิภาคี
เว็บไซต์สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The Office of the High Commissioner for Human Rights – OHCHR) ออกแถลงการณ์เมื่อ 12 ส.ค.67 ว่า ผู้เชี่ยวชาญอิสระของ OHCHR แสดงความผิดหวังต่อกรณีศาลรัฐธรรมนูญไทยมีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล เมื่อ 7 ส.ค.67 โดยระบุว่าเป็นการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) เป็นเครื่องมือยุบพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งมากที่สุด ผู้เชี่ยวชาญอิสระของ OHCHR ระบุด้วยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังเห็นว่าการเสนอปฏิรูปกฎหมายและการอภิปรายในประเด็นสาธารณะแม้ในเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตยและสิทธิพลเมืองในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทั้งนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญอิสระของ OHCHR เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้แน่ใจว่าพื้นที่ทางการเมืองของไทยเปิดกว้างต่อความหลากหลาย รวมถึงการอภิปรายในประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
การตอบโต้ด้วยมาตรการทหารระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮะมาสในฉนวนกาซายังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อ 14 สิงหาคม 2567 อิสราเอลแจ้งเตือนให้ชาวปาเลสไตน์อพยพออกจากพื้นที่ Khan Younis ทางตอนใต้อีกครั้ง เพื่อเตรียมโจมตีกองกำลังกลุ่มฮะมาส ที่ยังคงโจมตีผลประโยชน์ของอิสราเอล โดยมีรายงานว่าเมื่อ 13 สิงหาคม 2567 กลุ่มฮะมาสยิงจรวด 2 ลูกจากฉนวนกาซาเข้าไปยังกรุงเทลอาวีฟของอิสราเอล แม้ว่าอิสราเอลจะสกัดได้ แต่การที่กลุ่มฮะมาสยังมีศักยภาพในการโจมตี จะทำให้อิสราเอลไม่ยุติการทำสงครามในฉนวนกาซา แม้ว่านานาชาติ รวมทั้งองค์กรสำคัญอย่างสหประชาชาติ (UN) จะคัดค้านอย่างมากก็ตาม
โดนัลด์ ทรัมป์กลับไปเคลื่อนไหวบนแอปพลิเคชัน X หรือชื่อเดิม Twitter อีกครั้ง โดยให้สัมภาษณ์กับนายอีลอน มัสก์ ผู้บริหารของ X เมื่อ 12 สิงหาคม 2567 คาดว่าเพื่อใช้สื่อสังคมออนไลน์เข้าถึงชาวอเมริกัน เนื้อหาการสัมภาษณ์ส่วนใหญ่กล่าวถึงความสำเร็จในช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และความเป็นไปได้ที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะมีผลงานทางการเมือง เศรษฐกิจ การบริหารจัดการผู้อพยพ และนโยบายต่างประเทศที่ดีกว่านี้ หากทรัมป์ยังคงอยู่ในตำแหน่ง นอกจากนี้ ทรัมป์ยังกล่าวถึงการรอดชีวิตจากความพยายามลอบสังหารเมื่อ 13กรกฎาคม 2567 พร้อมกับโจมตีกมลา แฮร์ริส ผู้แทนพรรคเดโมแครตที่จะชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปลายปีนี้ด้วย โดยระบุว่าพรรคเดโมแครตทำการรัฐประหารประธานาธิบดีไบเดน สื่อตั้งข้อสังเกตว่าทรัมป์และผู้บริหารของ X ชื่นชมกันและกันบ่อยครั้ง สะท้อนว่าทั้ง 2 บุคคลมีแนวโน้มจะสนับสนุนกันเป็นอย่างดี
ทะเลจีนใต้เป็นพื้นที่ตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญในปัจจุบัน เพราะเป็นพื้นที่ที่หลายประเทศอ้างสิทธิ์เหนือดินแดน รวมถึงจีน ซึ่งมีความเคลื่อนไหวเพื่อเพิ่มความชอบธรรมในการอ้างกรรมสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อต้นกรกฎาคม 2567 จีนส่งเรือรบและเรือกองกำลังยามฝั่งเข้ามาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ จนเกิดการปะทะกันเล็กน้อย เหตุการณ์ดังกล่าว แม้ไม่บานปลายเป็นความขัดแย้งใหญ่ แต่เป็นตัวอย่างหนึ่งของความตึงเครียดในพื้นที่นี้ ….นอกจากนี้ ทะเลจีนใต้ยังเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีมูลค่าสูง จึงถือเป็นแหล่งทรัพยากรที่การันตีความมั่นคงให้กับผู้ที่ครอบครอง อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายของจีนในทะเลจีนใต้ไม่เพียงแต่เป็นการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ หรือขยายอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงการแข่งขันกับสหรัฐฯ ในเวทีโลกอีกด้วย เท่ากับว่า……นโยบายของจีนต่อสถานการณ์ในทะเลจีนใต้มีความสำคัญอย่างมาก โดยนอกจากรัฐบาลจีนจะต้องปกป้องสิทธิทางทะเลแล้ว ยังเป็นการสร้างอำนาจถ่วงดุลกับประเทศนอกภูมิภาค ควบคู่กับรักษาระดับความสัมพันธ์กับประเทศคู่ขัดแย้งในปัญหานี้ด้วย การติดตามและวิเคราะห์นโยบายจีนต่อทะเลจีนใต้จึงจะเป็นประโยชน์ต่อการประเมินสถานการณ์ในพื้นที่นี้ต่อไป ย้อนกลับไปตั้งคำถามว่า ทำไมจีนถึงต้องให้ความสำคัญกับทะเลจีนใต้? ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ซึ่งจีนอ้างอิงจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่มีมากว่า 2,000 ปี ที่จีนใช้หลักฐานว่า นักเดินเรือจีนเคยสำรวจและตั้งถิ่นฐานบนหมู่เกาะในทะเลจีนใต้มายาวนาน และในสมัยราชวงศ์หมิงก็มีการเดินทางของเจิ้งเหอ แสดงถึงบทบาทของจีนในทะเลจีนใต้ โดยจีนใช้การเดินเรือของเจิ้งเหอเป็นหลักฐานในการสนับสนุนการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดน ซี่งชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการควบคุมกิจกรรมทางทะเลที่มีมาแต่โบราณ และในสมัยสาธารณรัฐจีนยังคงถือสิทธิในทะเลจีนใต้เช่นเดิม โดยพรรคก๊กมินตั๋งใช้หลัก “เส้นประ 11 เส้น” ต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์จีนปรับเป็น “เส้นประ 9 เส้น” ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้ ดังนั้น…… ในมุมมองของจีน ทะเลจีนใต้ถือเป็นอาณาเขตของตนเองมาแต่โบราณ และจีนใช้ข้อมูลชุดนี้เป็นวาทกรรมในการดำเนินนโยบายต่อทะเลจีนใต้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน…
ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในการสำรวจอวกาศได้นำไปสู่ยุคใหม่ของความร่วมมือและการแข่งขันระหว่างประเทศ ดังที่ได้เห็นจากโครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (International Lunar Research Station -ILRS) ของจีน และข้อตกลงอาร์เทมิส (Artemis Accords) ของสหรัฐฯ ซึ่งทั้งสองโครงการนี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงการพยายามแข่งขันกันในด้านเทคโนโลยีของ 2 มหาอำนาจของโลก แต่ยังแสดงถึงมิติใหม่ในการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์อีกด้วย …….ที่ว่าเป็นมิติใหม่นี้ ก็เพราะว่าทั้งสองโครงการนำโดยสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯและจีน ที่สร้างกรอบความรวมมือระหว่างประเทศเรื่องอวกาศ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการหาสมาชิกหรือมิตรประเทศเข้าร่วม โดย ILRS เริ่มมาจากความร่วมมือของจีนและรัสเซียเมื่อปี 2564 เป้าหมายเพื่อการวางแผนสร้างสถานีอวกาศในบริเวณดวงจันทร์ ขณะที่ Artemis Accords นำโดยสหรัฐอเมริกา เริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 ก่อนหน้าโครงการของจีนแค่ 1 ปี ข้อตกลงขอสหรัฐฯ นี้เสนอโครงการร่วมเพื่อการสำรวจดวงจันทร์ พร้อมแผนการ Artemis ที่จะส่งมนุษย์กลับไปยังดวงจันทร์ในปี 2569 ข้อตกลงของสหรัฐฯ มีประเทศต่างๆ ให้ความสนใจและลงนามเป็นภาคีด้วยแล้ว 43 ประเทศ แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแค่สิงคโปร์ที่เข้าร่วม ส่วนไทยเรา แม้จะยังไม่เป็นภาคีใน Artemis Accords…