ไม่ว่าจีนจะขยับตัวทำอะไร ก็มักเผชิญกับการหรี่ตามองของหลายประเทศอย่างหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจ จึงไม่แปลกที่การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของจีน เฉพาะอย่างยิ่งสินค้านวัตกรรม และเทคโนโลยีล้ำสมัย ที่ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใดก็มักจะทำให้เกิดความรู้สึก “เอะ” หรือฉุกคิดในทำนองว่าจะเป็นภัยคุกคามหรือไม่ โดยเฉพาะจากบรรดาชาติตะวันตก ตั้งแต่โดรน รถยนต์ไฟฟ้า แอปพลิเคชันยอดนิยมเช่น TikTok แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซน้องใหม่ที่ตีตลาดไปทั่วโลกอย่าง Temu จนถึง DeepSeek ปัญญาประดิษฐ์ (AI) สัญชาติจีนที่มาแรงและกำลังแซง AI ของสหรัฐฯ รุ่นก่อนหน้า ยิ่งในยุคปัจจุบันที่จีนปล่อยนวัตกรรมที่มาจากการรังสรรค์ของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เป็นระยะและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดในและต่างประเทศ จนสั่นคลอนประเทศตะวันตกที่เป็นเจ้าตลาดเดิม
ไม่เพียงสินค้าไฮเทคที่มีต้นกำเนิดในจีนที่ตกผู้บริโภคได้ทั้งในและต่างประเทศ แต่ผลงานการสร้างสรรค์ของจีนที่ออกมาในรูปศิลปะ วัฒนธรรม ภาพยนตร์แอนิเมชัน ซีรีส์ เกมส์ หรือแม้แต่อาร์ตทอย Pop Mart ก็ได้รับความนิยมและตอบรับจากผู้บริโภคชาวจีนและทั่วโลกไม่แพ้กัน จนอาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรม C-Pop (Chinese pop culture) กำลังขึ้นมาท้าชนเจ้าตลาดสินค้าที่ว่ากันว่าเป็นอำนาจละมุน (soft power) เดิมทั้ง J-Pop และ K-Pop รวมถึง Hollywood
กระแสตอบรับ “Ne Zha 2” หนังการ์ตูนเรื่องดังของจีนภาคต่อจากภาคแรกอย่างล้นหลาม ที่สร้างรายได้ถล่มทลายกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐจนติดอันดับต้น ๆ ในบ็อกซ์ออฟฟิศทั้งในจีนและทั่วโลกหลังจากออกฉายเพียง 2 สัปดาห์ ขณะที่อุตสาหกรรมเกมส์ของจีนก็ไม่น้อยหน้า เห็นได้จากยอดการดาวน์โหลดเกมส์ Black Myth: Wukong ของบรรดาเกมเมอร์ ที่บริษัท Game Science studio พัฒนาขึ้น จนติดอันดับ 50 แอปพลิเคชันเกมส์ที่มียอดการดาวน์โหลดสูงในเกือบ 60 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก เฉพาะวันเปิดตัวเมื่อสิงหาคม 2567 มียอดการดาวน์โหลดสูงสุดใน 29 ประเทศและภูมิภาค และไม่เพียงโกยรายได้จำนวนมาก Wukong ยังได้รับรางวัลระดับนานาชาติทั้ง The Game Awards 2024 และ Golden Joystick Awards ที่สะท้อนถึงการยอมรับผลงานการสร้างสรรค์ของจีน
ส่วนซีรีส์จีนก็ได้รับความนิยมจากผู้ชมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนนักแสดงชาวจีนมีงานแฟนมีทในหลายประเทศ รวมถึงไทย ที่เป็นหนึ่งในลูกค้าสินค้าอำนาจละมุนรายใหญ่ของจีน และไม่เพียงซีรีส์จีนที่โดนใจแฟนคลับชาวไทย แต่ความนิยมอาร์ตทอยของ Pop Mart ของเล่นสะสมที่ Wang Ning เป็นผู้บุกเบิก ก็สร้างยอดขายได้ไม่น้อยจนมีสาขาในไทยเพิ่มเป็น 2 สาขา นอกจากนั้น รายการเรียลลิตี้ค้นหาวงไอดอลสุดฮิตของจีน Chuang Asia ยังย้ายการถ่ายทำฐานหลักมาอยู่ที่ไทย ซึ่งในปีนี้จัดเป็น SEASON 2 สิ่งเหล่านี้น่าจะบ่งชี้ถึงอำนาจละมุนของจีนที่กำลังแพร่ขยายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งยังได้รับการตอบรับเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจท่ามกลางกระแสข่าวปัญหาจากทุนจีน สีเทาที่กระจายอยู่ในภูมิภาค ขณะที่ความหวาดระแวงภัยจากจีนเนื่องจากกรณีพิพาททะเลจีนใต้ยังไม่จางหายไป
ความสำเร็จในการเผยแพร่สินค้าที่อาจเรียกได้ว่าเป็นอำนาจละมุนเหล่านี้ของจีนจนตีตลาดผู้บริโภคได้ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีความได้เปรียบจากจำนวนประชากรมหาศาลในประเทศในแง่การสร้างรายได้จนนับไม่ถ้วนให้เจ้าของผลงานหากได้รับการตอบรับในจีน มีสิ่งที่ชวนให้คิดคือ การได้ใจผู้บริโภคในต่างประเทศที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการปูทางและสร้างความมั่นใจให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานหน้าใหม่ ๆ ของจีนในการผลิตผลงานออกสู่ตลาดโลก
เมื่อพิจารณาจากสินค้าอำนาจละมุนของจีนอาจกล่าวได้ว่า แทบทั้งหมดมีคุณลักษณะร่วมกันในการเจาะใจผู้บริโภคโดยใช้จุดแข็งและจุดเด่นที่เป็นอัตลักษณ์ของจีนมาเป็นจุดขาย ทั้งความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นเครื่องมือในการผลิตและนำเสนอผลงาน บวกกับใช้เทคนิคการออกแบบและการเล่าเรื่องอย่างสร้างสรรค์ แต่ไม่ทิ้งคาแรกเตอร์ดั้งเดิมของจีนที่เป็นเสน่ห์ทางวัฒนธรรมในการดึงดูดความสนใจของตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็น Ne Zha หรือ Wukong หรือแม้แต่ซีรีส์ย้อนยุค ซึ่งการตอบรับของผู้บริโภคต่างชาติที่เกิดขึ้นไม่เพียงสร้างรายได้ให้ผู้ผลิตอย่างเป็นกอบเป็นกำ ทั้งตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือแม้แต่ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลาตินอเมริกา และตะวันออกกลาง แต่ยังเป็นโอกาสของจีนในการสร้างอิทธิพลทางวัฒนธรรมและการทำให้จีนเป็นที่รู้จักในเชิงบวกในหมู่ประชาชนท่ามกลางข่าวสารเชิงลบเกี่ยวกับจีนที่มาจากสื่อตะวันตก
และในห้วงที่หลายประเทศหวังจะใช้สินค้าที่เป็นอำนาจละมุนเป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้ จีนก็เป็นอีกประเทศที่มีเป้าหมายดังกล่าวเช่นกัน ด้วยการส่งผ่านวัฒนธรรมความเป็นจีนไปยังผู้บริโภคทั่วโลก และใช้ความได้เปรียบในการทำการตลาดผ่านแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ (Social Commerce) ต่าง ๆ ที่บริษัทเทคโนโลยีของจีนพัฒนาขึ้น ขณะเดียวกัน กระแสตอบรับสินค้าเชิงศิลปะวัฒนธรรมสไตล์จีนยังเป็นผลพลอยได้สำหรับผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่อง เฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับอานิสงค์จากการตามรอยแหล่งท่องเที่ยวที่ปรากฏในเกมส์ ซีรีส์ หรือภาพยนตร์ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงไทย
มีข้อที่น่าสงสัยว่า ต่อไปบรรดาประเทศตะวันตก เช่น สหรัฐฯ แคนาดา หรือโอเชียเนีย จะกังวลการขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมผ่านการส่งออกสินค้าที่เป็นอำนาจละมุนของจีนหรือไม่ เช่นเดียวกับที่หวาดระแวงภัยต่อความมั่นคงจากสินค้าไฮเทคของจีนหรือการสร้างอิทธิพลผ่านสถาบันขงจื่อ และจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ จีนจะประสบความสำเร็จในการสร้างความรู้สึกที่ดีให้ประเทศต่าง ๆ ตามรอยญี่ปุ่นผ่านอนิเมะ เกมนินเทนโด หรือซีรีส์ รวมถึงตัวการ์ตูนน่ารักของ Sanrio จนเกิดกระแส J-Pop และญี่ปุ่นยิ่งมีภาพลักษณ์ดีขึ้นผ่านการเป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา แม้ในกรณีของจีนต้องใช้เวลาและอาจไม่ประสบความสำเร็จเช่นญี่ปุ่น …แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้น