ไทยเสนอแนวทางใช้หารือกับสหรัฐฯ : สะเทือนส่งออก 9 แสนล้านบาท
หลายภาคส่วนในไทยได้มีการหารือ และเสนอแนวทางการรับมือกับการประกาศภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีให้ข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางการเจรจากับสหรัฐฯ ว่าเป้าหมายของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มภาษี ได้แก่ 1) ลดการถูกเอาเปรียบจากการขาดดุลทางการค้า และสร้างสมดุลทางการค้าให้กับสหรัฐฯ 2) นำรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษี ไปลดภาระการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ และ 3) ดึงผู้ประกอบการและกลุ่มบริษัทของสหรัฐฯ ให้ย้ายฐานการผลิตกลับไปสหรัฐฯ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด ทั้งก่อนและหลังการการประกาศภาษีตอบโต้ของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งขอหยิบยกข้อประเมินของนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. ที่ได้ระดมสมองหามาตรการรับมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ ซึ่งมูลค่าเสียหายจากการขึ้นภาษีดังกล่าว คาดว่าประมาณ 800,000-900,000 ล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหาร พลาสติก และเคมีภัณฑ์ ซึ่งอัตราภาษีที่สหรัฐฯ เรียกเก็บสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าไทยในสหรัฐฯ เสียเปรียบคู่แข่ง ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า อาจได้รับประโยชน์จากสถานการณ์นี้ เนื่องจากประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและกัมพูชา ถูกเก็บภาษีสูงกว่า ทำให้สินค้าไทยแข่งขันในตลาดสหรัฐได้ดีขึ้น นายเกรียงไกร ประธาน ส.อ.ท.ได้เสนอมาตรการและหนทางที่จะหารือกับสหรัฐ เช่น 1) เจรจาสร้างความสมดุลการค้า ทั้งการนำเข้า และส่งออก เช่น นำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เพื่อมาแปรรูป และส่งออกให้มากขึ้น…