CyberXplore ปักษ์แรก เม.ย. 2568
CyberXplore ฉบับปักษ์แรกเดือนเมษายน 2568 รายงานสถานการณ์ไซเบอร์รอบโลก รายปักษ์ ทุก 15 วัน
CyberXplore ฉบับปักษ์แรกเดือนเมษายน 2568 รายงานสถานการณ์ไซเบอร์รอบโลก รายปักษ์ ทุก 15 วัน
สงครามการค้ารอบใหม่ สหรัฐฯ VS จีนเริ่มขึ้นแล้ว จากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่ยอมยุติเก็บภาษีตอบโต้สินค้านำเข้าจากจีน หลังจากเมื่อ 9 เมษายน 2568 ประกาศให้จีนยังเป็นประเทศที่ต้องถูกเก็บภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ ขณะประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ชะลอการจัดเก็บภาษีตอบโต้กับประเทศที่จะเจรจากับสหรัฐฯ ไว้ 90 วัน (แต่ยังอยู่พื้นฐานจัดเก็บที่ร้อยละ 10) ดังนั้น ภาพสงครามการค้ารอบใหม่ด้วยการใช้การขึ้นภาษีตอบโต้ ระหว่างสหรัฐฯกับจีนชัดเจนมากขึ้น โดยในชั้นนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์จะจัดเก็บภาษีสินค้าจากจีนถึง ร้อยละ 125 หากนับรวมที่มีการขึ้นภาษีที่จีนไม่ยอมสกัดกั้นยาแก้ปวดเฟนทานีล (Fentanyl) จะขึ้นสูงถึงร้อยละ 145 นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังจะเพิ่มภาษีจัดเก็บพัสดุขนาดเล็กจากจีนที่ส่งออกไปสหรัฐฯ อีกด้วย ซึ่งมูลค่าต่ำกว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐ จะถูกเก็บภาษีตั้งแต่ 2 พฤษภาคม 2568 ซึ่งปกติกไม่ถูกเก็บภาษี ซึ่งเท่ากับสกัดกั้นธุรกิจ e-commerce ของจีนไปยังสหรัฐฯ ขณะที่จีนตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นร้อยละ 84 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 10 เม.ย.68 รวมทั้งเพิ่มรายชื่อบริษัทสหรัฐฯ 6…
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) ประเมิน เมื่อ 9 เม.ย.68 ว่า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นต้นมา หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 89 ของ GDP ส่งผลกระทบต่อการบริโภค การลงทุน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งล่าช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค รวมถึงเพิ่มแรงกดดันในการชำระหนี้ของประชากรกลุ่มเปราะบางและธุรกิจขนาดเล็ก สาเหตุหลักคือการที่แรงงานจำนวนมากในไทยไม่ได้เป็นแรงงานในระบบ ส่งผลให้ไม่มีรายได้ประจำที่แน่นอน และไม่ได้รับการคุ้มครองสวัสดิการ จึงเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะขาดรายได้ หากเศรษฐกิจในประเทศประสบภาวะชะลอตัวหรือตกต่ำและผลักดันให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวต้องกู้ยืมเงินเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ทั้งนี้ IMF ระบุว่าการเสริมสร้างการคุ้มครองทางสังคมเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและลดหนี้ครัวเรือนลงได้
ถ้อยแถลงของ นางอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เมื่อ 10 เม.ย.68 ระบุว่า สหภาพยุโรป (EU) ประกาศระงับมาตรการตอบโต้การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เป็นเวลา 90 วัน หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศระงับการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศเป็นการชั่วคราว (90 วัน) ยกเว้นจีน นางฟอน แดร์ ไลเอิน ระบุว่า แม้ EU จะเตรียมมาตรการตอบโต้ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากประเทศสมาชิกไว้แล้ว แต่จะเลื่อนการดำเนินการออกไปเพื่อให้มีช่องว่างสำหรับการเจรจา นางฟอน แดร์ ไลเอิน เน้นย้ำว่า หากการเจรจาไม่เป็นที่น่าพอใจ EU ก็พร้อมที่จะดำเนินการตอบโต้ต่อไป
นสพ.Global Times และ สนข.Reuters รายงานเมื่อ 11 เม.ย.68 ว่า คณะกรรมาธิการด้านภาษีศุลกากรแห่งคณะรัฐมนตรีจีน (Customs Tariff Commission of the State Council) ประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ จากร้อยละ 84 เป็นร้อยละ 125 เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 12 เม.ย.68 เพื่อตอบโต้หลังจากสหรัฐฯ เพิ่มอัตราภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีนเป็นร้อยละ 145 พร้อมทั้งระบุว่า เป็นไปไม่ได้ที่สินค้าจากสหรัฐฯ จะขายได้ในจีนจากอัตราภาษีที่สหรัฐฯ บังคับใช้กับจีนในปัจจุบัน และจีนจะไม่สนใจมาตรการภาษีของสหรัฐฯ อีกต่อไปหากสหรัฐฯ ยังคงขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าจีน ด้าน กค.จีนระบุว่า การที่สหรัฐฯ ขึ้นอัตราภาษีสินค้าจีนสูงจนเกินไปทำให้กลายเป็นเพียงเกมตัวเลข ไม่มีความหมายทางเศรษฐกิจ ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ใช้ภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งและบีบบังคับ
ดาโต๊ะ ซรี เติงกู ซาฟรูล อับดุล อาซิซ รมว.การลงทุน การค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศของมาเลเซียให้สัมภาษณ์กับ สนข.CNBC เมื่อ 11 เม.ย. 68 ว่า ผู้นำอาเซียนทุกประเทศเห็นพ้องที่จะเดินทางไปยังสหรัฐฯ เพื่อพบหารือกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ถึงกรณีมาตรการภาษีตอบโต้ ตามที่มาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียนได้ยื่นคำร้องขอจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอยืนยันกำหนดการจากสหรัฐฯ
สนข.เอพีรายงานเมื่อ 11 เมื่อ เม.ย.68 ว่า ราคาไข่ไก่ในสหรัฐฯ เมื่อ มี.ค.68 สูงเป็นประวัติการณ์ที่ 6.23 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 โหล เมื่อเทียบกับห้วง ม.ค.และ ก.พ.68 ที่ราคาไข่ไก่อยู่ที่ 4.95 ดอลลาร์สหรัฐ และ 5.90 ดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ อีกทั้งยังไม่มีแนวโน้มที่ราคาจะลดลง เพราะมีความต้องการสูงช่วงเทศกาลอีสเตอร์ใน 20 เม.ย.68 การระบาดของไข้หวัดนกเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาไข่ในสหรัฐฯ สูงขึ้น เพราะกำจัดแม่ไก่ไข่ไปแล้วกว่า 30 ล้านตัว พื่อสกัดการแพร่ระบาด ทั้งนี้ กษ.สหรัฐฯ ระบุว่า เมื่อ 1 มี.ค.68 มีแม่ไก่ไข่เหลืออยู่ประมาณ 285 ล้านตัวในประเทศ ลดลงจากช่วงก่อนไข้หวัดนกระบาดที่เคยมีมากกว่า 315 ล้านตัว และมีการกำจัดสัตว์ปีกเพียง 2.1 ล้านตัวเมื่อ มี.ค.68 กับทั้งไม่มีรายงานการระบาดในฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่แต่อย่างใด
สนข.แห่งชาติมาเลเซีย รายงานเมื่อ 11 เม.ย.68 ว่า สภาองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve-APTERR) ได้อนุมัติข้าวจำนวน 3,500 ตัน เมื่อ 5 เม.ย.68 เพื่อให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินและบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรมให้แก่เมียนมา หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว ภายใต้โครงการสำรองข้าวฉุกเฉินรูปแบบ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นการให้เปล่ากรณีเกิดภัยพิบัติฉุกเฉิน ความช่วยเหลือในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนข้าวจากจีนจำนวน 500 ตัน และเกาหลีใต้ จำนวน 3,000 ตัน ที่เก็บไว้ที่กรุงย่างกุ้ง เมียนมา และข้าวดังกล่าวได้ถูกจัดส่งไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงแล้ว ทั้งนี้ APTERR เป็นความร่วมมือระดับภูมิภาคที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ความตกลง APTERR ในการประชุมรัฐมนตรีเกษตรและป่าไม้อาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 11 เมื่อปี 2554 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค
ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อ 10 เม.ย. 68 เปิดเผยว่า สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีนรวมทั้งหมดในอัตราร้อยละ 145 โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเพิ่มการเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากจีนที่ร้อยละ 125 เมื่อ 9 เม.ย. 68 แต่อัตราภาษีดังกล่าวยังไม่รวมกับการเรียกเก็บภาษีจากจีนในอัตราร้อยละ 20 เพื่อลงโทษจีนที่ไม่ได้แก้ไขปัญหาการลักลอบค้ายาเฟนทานิลจากจีนสู่สหรัฐฯ ที่ประกาศเมื่อต้น ก.พ. 68 ส่งผลให้ขณะนี้อัตราภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯ เรียกเก็บรวมจากจีนอยู่ที่ร้อยละ 145 และดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดตลาดร่วงลงมามากกว่า 1,000 จุด หรือประมาณร้อยละ 2.5 ส่วนดัชนี S&P 500 ลดลงร้อยละ 3.5 ขณะที่ดัชนี Nasdaq Composite ลดลงมากกว่าร้อยละ 4
นสพ. Khmer Times รายงานเมื่อ 10 เม.ย.68 ว่า กัมพูชาเตรียมร่วมมือกับบริษัท Guanzun Energy Investment จำกัด ของจีน เพื่อพัฒนาโครงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของประเทศ ใน จ.กัมปอต บนพื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่ มูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองรับการกลั่นน้ำมัน 10 ล้านตันต่อปี การพัฒนาโครงการดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ใช้เวลาประมาณ 18 เดือน เป้าหมายสร้างโรงกลั่นที่มีกำลังผลิตน้ำมัน 5 ล้านตันต่อปี (ลงทุน 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนระยะที่ 2 ยังไม่เปิดเผยรายละเอียด ทั้งนี้ โครงการโรงกลั่นน้ำมันช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของกัมพูชา ตอบสนองความต้องการเร่งด่วนของการกลั่นน้ำมันในประเทศ โดยคาดว่า ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและน้ำมันของกัมพูชาจะเพิ่มจาก 2.8 ล้านตันเมื่อปี 2563 เป็น 4.8 ล้านตันในปี 2573