เมื่อเปิดรับการติดต่อกับต่างชาติไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ นักศึกษาที่เข้ามาชั่วครั้งชั่วคราวระยะสั้น หรืออยู่ยาวจนตั้งรกรากในประเทศ แน่นอนว่าต้องมีภาษาเป็นสะพานในการสื่อสาร ทั้งภาษาของตนเองหรือภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง ซึ่งในฐานะภาษาสากล ภาษาอังกฤษทำหน้าที่ดังกล่าวมาเป็นอย่างดีในทุกแวดวง โดยที่แทบไม่มีประเทศใดตะขิดตะขวงใจกับอิทธิพลของภาษาอังกฤษทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ในไทยก็เช่นกัน เราคุ้นตาและคุ้นชินกับป้ายร้านค้าหรือป้ายโฆษณาต่าง ๆ ที่ปรากฏภาษาไทยคู่กับภาษาอังกฤษมาตลอด จนมาระยะหลังที่เริ่มปรากฏภาษาต่างประเทศอื่นแซมอยู่กับภาษาไทยบ้างหรืออยู่โดด ๆ ซึ่งจะหนาตาขึ้นในย่านที่มีชาวต่างชาติเจ้าของภาษานั้น ๆ อาศัยอยู่หนาแน่น การปรากฏของภาษาต่างชาติคู่กับภาษาท้องถิ่นตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในทุกประเทศและ จะพบเจอบ่อยครั้งมากขึ้นตามจำนวนคนชาตินั้น ๆ และที่ผ่านมาแทบไม่ปรากฏข่าวการขัดกันในสังคม อันเนื่องจากการใช้ภาษาต่างชาติในประเทศต่าง ๆ …แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น มาเลเซียเป็นตัวอย่างของประเทศที่เกิดความรู้สึกขัดใจในสังคมอันเนื่องมาจากการใช้ภาษาระหว่างภาษามลายูกับภาษาจีน ที่สร้างความไม่พอใจให้ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ซึ่งก็เป็นประชากรของมาเลเซียไม่ต่างจากชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายู เพียงแต่ว่าเป็นประชากรส่วนน้อยมีประมาณร้อยละ 22.6 ขณะที่ชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีประมาณ 34 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมด ปัญหาที่ว่าเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น การขอให้ปลดป้ายภาษาจีนในย่านไชน่าทาวน์ ที่กัวลาลัมเปอร์ ขณะมีการจัดการประชุมที่ Kuala Lumpur City Hall เมื่อปีที่แล้ว หรือปี 2566 หรือการที่ทางการกัวลาลัมเปอร์บังคับใช้กฎหมายที่ระบุให้การโฆษณาต้องใช้ตัวอักษรภาษามลายูใหญ่กว่าภาษาอื่น ส่วนที่รัฐเปรักก็มีเหตุการณ์เกี่ยวกับป้ายภาษาจีนเช่นกัน โดยในการปรับปรุงสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งมีป้ายภาษามลายูและภาษาจีนอยู่ด้วยกัน ระหว่างการปรับปรุงมีการนำป้ายภาษาจีนออก คงเหลือแต่ป้ายภาษามลายูเพียงป้ายเดียว…