มหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐฯ ติดตามและแสดงบทบาทในสถานการณ์ความตึงเครียดไทย-กัมพูชา โดยสหรัฐฯ มีท่าทีทันทีในวันที่ไทยกับกัมพูชาเริ่มปะทะกันทางทหารบริเวณพรมแดน เมื่อ 24 กรกฎาคม 2568 โดยเริ่มจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเทพฯ เมื่อ 24 กรกฎาคม 2568 เผยแพร่แถลงการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว 2 ฉบับ และต่อมาเมื่อ 25 กรกฎาคม 2568 ยกระดับเป็นคำเตือนชาวอเมริกันเรื่องการเดินทางในไทยและกัมพูชา (Travel Advisory) ซึ่งสะท้อนว่าสหรัฐฯกังวลต่อความปลอดภัยของชาวอเมริกันที่อยู่ในต่างประเทศ ทั้งนี้ สหรัฐฯตอบสนองตามเหตุการณ์ในพื้นที่เป็นลำดับและเป็นขั้นตอน ตลอดจนมีการอ้างถึงข้อมูลมาตรการของไทยสะท้อนว่ามีการประสานข้อมูลระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง จนถึงระดับผู้นำสหรัฐฯ
ส่วนท่าทีจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อ 24 กรกฎาคม 2568 นาย Thomas Pigott รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ไทย – กัมพูชาระหว่างการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ต่อสื่อมวลชนสหรัฐฯ โดยแสดงความกังวลประเด็นผลกระทบต่อพลเรือน พร้อมเรียกร้องให้แก้ไขความตึงเครียดตามแนวทางสันติภาพ ทั้งนี้ นาย Thomas กล่าวถึงประเด็นไทยต่อเนื่องจากการเล่าถึงความคืบหน้ายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ประกอบด้วยเรื่องความสัมพันธ์สหรัฐฯ กับญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จากนั้นก็แสดงท่าทีของสหรัฐฯต่อสถานการณ์ไทย-กัมพูชา
ในวันเดียวกัน สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเทพฯ ออกเป็นแถลงการณ์ของสำนักงานโฆษก ว่า สหรัฐอเมริกามีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับรายงานการต่อสู้ที่ทวีความรุนแรงขึ้นตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เรารู้สึกตกใจเป็นอย่างมากกับรายงานถึงอันตรายที่เกิดขึ้นกับพลเรือนผู้บริสุทธิ์ เราขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการสูญเสียชีวิต เราเรียกร้องอย่างจริงจังให้ยุติการโจมตีโดยทันทีปกป้องพลเรือน และระงับข้อพิพาทด้วยสันติวิธี ซึ่งถ้อยแถลงนี้มีกำหนดถึง 25 กรกฎาคม 2568
ต่อมาเมื่อ 25 กรกฎาคม 2568 สำนักงานโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์อีกครั้ง แต่ยังไม่ยกระดับการแจ้งเตือนเดินทาง หรือ Travel Advisory โดยเนื้อหาระบุว่า พลเรือนอเมริกันควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ใกล้เคียงพรมแดนไทย-กัมพูชา หรือในระยะ 50 กิโลเมตร เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการทหารยังเกิดขึ้นในพื้นที่ โดยทางการไทยประกาศปิดจุดข้ามแดนทั้งทางบกและทางทะเลในพื้นที่ จ.จันทบุรีและ จ.ตราด ปิดทำการโรงพยาบาล 11 แห่ง และสถานศึกษา 751 แห่งใน 6 จังหวัด พร้อมย้ำให้ชาวอเมริกันในพื้นที่ติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาลไทยอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ยกระดับการแจ้งเตืนพลเรือนชาวอเมริกันในวันเดียวกัน โดยประกาศ Travel Advisory ในระดับ 4 ห้ามชาวอเมริกันเดินทางไปยังพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะในระยะ 50 กิโลเมตร เนื่องจากมีสถานการณ์สู้รบทางการทหาร มีรายงานความรุนแรง การใช้ปืนใหญ่และจรวดโจมตีตอบโต้กันจนทำให้พลเรือนเสียชีวิต ชาวอเมริกันควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ดังกล่าวและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ มีข้อจำกัดในการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ดังกล่าว เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งด้วยอาวุธ หากชางอเมริกันเดินทางไปในพื้นที่ดังกล่าวก็ขอให้เตรียมแผนอพยพ โดยที่รัฐบาลสหรัฐฯ อาจไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สหรัฐฯ แจ้งเตือนชางอเมริกันให้หลีกเลี่ยงและเพ่ิมความระมัดระวังการเดินทางไปยังพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยในระดับ 2 เนื่องจากมีเหตุก่อความไม่สงบ
ล่าสุด ผู้นำสหรัฐฯ หรือประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งแสดงท่าทีผ่านสื่อสังคมออนไลน์ Truth Social เมื่อ 26 กรกฎาคม 2568 ว่าได้โทรศัพท์หารือกับผู้นำรัฐบาลกัมพูชาและผู้นำรัฐบาลไทยแล้ว ได้รับการตอบรับจากทั้ง 2 ฝ่ายว่าจะหยุดยิง การพูดคุยทางโทรศัพท์เป็นไปด้วยดี โดยฝ่ายไทยต้องการหยุดยิงทันทีเช่นเดียวกัน รวมทั้งต้องการสันติภาพ และต่อจากนี้ตนเองจะเป็นผู้ส่งข้อความดังกล่าวไปยังผู้นำกัมพูชาว่าจากนี้ไปทั้ง 2 ฝ่ายจะหยุดยิงและสร้างสันติภาพร่วมกัน นอกจากนี้ ไทยและกัมพูชายังต้องการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งในมุมมองของสหรัฐฯ รวมทั้งไทยและกัมพูชาปัจจุบันเชื่อว่าการเจรจาการค้าในช่วงที่มีการปะทะและการต่อสู้ระหว่างกันนี้จะไม่เหมาะสม ดังนั้น การต่อสู้ต้องยุติก่อน จึงจะมีการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ได้
ผู้นำสหรัฐฯ ยังโพสต์ข้อความเกี่ยวกับผลการหารือกับกัมพูชาและไทยผ่าน Truth Social โดยระบุว่าโทรศัพท์คุยกับผู้นำกัมพูชาก่อนเพื่อแจ้งให้ยุติการทำสงคราม ส่วนในการโทรศัพท์หารือกับผู้นำไทย ประธานาธิบดีทรัมป์จะขอให้หยุดยิงและยุติสงครามที่กำลังขยายตัวครั้งนี้ นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ระบุว่า ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาบังเอิญที่ทั้ง 3 ประเทศกำลังเจรจาการค้าระหว่างกัน แต่ไม่ต้องการทำข้อตกลง หากยังมีความขัดแย้งและการต่อสู้ดำเนินอยู่ ทั้งนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศ ว่า ได้พยายามแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนนี้เพราะมีประชาชนเสียชีวิต เปรียบเทียสถานการณ์ไทย – กัมพูชากับปากีสถาน – อินเดีย ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ประสบความสำเร็จในการไกล่เกลี่ยมาแล้ว
ท่าทีของผู้นำสหรัฐฯ ทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่า สหรัฐฯ กำลังใช้การเจรจาการค้า โดยเฉพาะอัตราภาษีตอบโต้ เป็นเงื่อนไขกดดันกัมพูชาและไทยให้ยุติความขัดแย้ง อย่างไรก็ดี ผู้นำสหรัฐฯไม่ได้กล่าวถึงการเจรจาอัตราภาษีโดยตรง และระบุว่าจะหารือกับทั้ง 2 ประเทศในระดับที่เท่าเทียมกัน คาดว่ากรณีนี้ ผู้นำสหรัฐฯ พยายามสร้างบทบาทการไกล่เกลี่ยและแก้ไขปัญหาขัดแย้งในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อสร้างผลงานและสร้างความน่าเชื่อถืแในห้วงที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหารัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ปาเลสไตน์
หากสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จที่ทำให้ไทยและกัมพูชาหยุดยิงได้ ในมิติเชิงในเชิงแข่งขันทางยุทธศาสตร์อาจทำให้อิทธิพล และบทบาทของจีนในกัมพูชา ลดทอนลงได้ จากในห้วงประธานาธิบดีทรัมป์ 2.0 นี้ ความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐฯ กับจีนใกล้ชิดกันมากขึ้น ขณะที่ไทยที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ กับสหรัฐฯ อยู่แล้วอาจมีเงื่อนไขมากขึ้นที่สหรัฐฯ จะใช้ดำเนินความสัมพันธ์กับไทย ทั้งในแง่มุมเชิงบวกและลบ
นอกจากนี้ การที่ผู้นำสหรัฐฯ หยิบยกเรื่องการเจรจาการค้ามาพร้อมกับการโน้มน้าวให้ไทยและกัมพูชาหยุดยิงสะท้อนเทคนิคการดำเนินนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะนำเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของ สหรัฐฯ ผูกโยงกับเรื่องต่างประเทศ เพื่อสร้างแรงกดดันและข้อต่อรอง เหมือนกรณีกดดันผู้นำยูเครนให้เจรจากับรัสเซีย แลกเปลี่่ยนกับการให้ความช่วยเหลือด้านการทหารต่อไป รวมทั้งต้องให้สหรัฐฯ ได้ส่วนแบ่งจากการขายแร่ธรรมชาติของยูเครนด้วย