กรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศเมื่อ 26 กรกฎาคม 2568 ว่าได้หารือกับไทยและกัมพูชาเพื่อให้หยุดยิงระหว่างกัน รวมทั้งได้รับการตอบรับจากผู้นำกัมพูชาเมื่อ 27 กรกฎาคม 2568 ว่าพร้อมจะหยุดยิงกับไทย ทำให้บทบาทผู้นำโลกของสหรัฐฯ ได้รับความสนใจอีกครั้ง เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงของไทย และมีความร่วมมือด้านการทหารระหว่างกันมาโดยตลอด ทั้งการฝึกร่วมและการซื้อ-ขายอาวุธ ขณะที่กัมพูชาถูกสื่อสหรัฐฯ ประเมินว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน ทั้งฝึกร่วมกับจีนและซื้ออาวุธจากจีนเพิ่มขึ้น
ผู้นำสหรัฐฯ กำลังใช้สถานการณ์ไทย-กัมพูชาเสริมอิทธิพลสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ซึ่งไม่ว่าไทยกับกัมพูชาจะมีท่าทีตอบรับข้อเสนอของสหรัฐฯ ในรูปแบบใด หรือยุติการปะทะหรือไม่ ประธานาธิบดีทรัมป์ก็จะยังสามารถบอกกับชาวอเมริกันได้ว่า ตนเองได้แสดงบทบาทเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยแล้ว เพราะได้หารือโดยตรงกับผู้นำของทั้ง 2 ฝ่าย และได้รับการยืนยันว่าต้องการยุติสงคราม เท่ากับว่า ผู้นำสหรัฐฯมีส่วนร่วมกับการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศ
ประธานาธิบดีทรัมป์จะได้ผลงานการดำเนินนโยบายต่างประเทศจากการแสดงบทบาทครั้งนี้เพื่อลดแรงกดดันจากการที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางและสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้ ทั้งที่ประกาศว่าจะเป็นความสำเร็จอันดับแรก ๆ หลังจากได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้โอกาสกลับเข้าไปมีอิทธิพลต่อความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในกัมพูชา ที่ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ค่อนข้างห่างเหิน เนื่องจากประเด็นสิทธิมนุษยชนและการเมือง จนทำให้จีนขยายอิทธิพลในกัมพูชาได้อย่างรวดเร็วทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจและการทหาร
ประเด็นที่น่าติดตามต่อไปเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐฯ ต่อจากนี้ ได้แก่ 1) ความเคลื่อนไหวของทีมเจรจาการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งอาจดำเนินการตามที่ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่าจะเจรจาการค้ากับไทยและกัมพูชา หากยุติความตึงเครียดครั้งนี้ได้ กรณีนี้จะเป็นโอกาสทั้งสำหรับไทยและกัมพูชา 2) การตอบสนองจากจีน ซึ่งอาจประเมินได้ในชั้นนี้ว่ามีบทบาทน้อยกว่าสหรัฐฯ ในการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ เพราะแม้ว่าก่อนหน้านี้จะเสนอเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย แต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ยังไม่ได่แสดงท่าทีโดยตรง และ 3) ทิศทางการดำเนินนโยบายของกัมพูชาต่อสหรัฐฯ และจีน โดยเฉพาะผู้นำกัมพูชาอาจใช้ความสัมพันธ์กับผู้นำสหรัฐฯ ในกรณีนี้ถ่วงดุลกับอิทธิพลจีน รวมทั้งอาจใช้โอกาสนี้ปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เพราะรัฐบาลที่นำโดยประธานาธิบดีทรัมป์ อาจไม่ได้กดดันกัมพูชาเรื่องสิทธิมนุษยชนและการเมือง มากเท่ารัฐบาลสหรัฐฯ ที่นำโดยรัฐบาลพรรคเดโมแครต ซึ่งจะให้ความสำคัญกับเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมากกว่า
การที่ผู้นำสหรัฐฯ ต้องการแสดงบทบาทในสถานการณ์นี้ อาจเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ดึงดูดให้นานาชาติติดตามและสนใจท่าทีไทยและกัมพูชา ต่อข้อเสนอของผู้นำสหรัฐฯ จึงอาจเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายในการเผยแพร่ข้อมูลทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการทำให้เวทีระหว่างประเทศเข้าใจเหตุความตึงเครียดครั้งนี้
รวมทั้งนโยบายการต่างประเทศในระยะยาวของไทยต่อการบริหารจัดการชายแดนไทยกับกัมพูชา และประเทศอื่น ๆ