ท่ามกลางกระแสข่าวการแย่งตัวคนเก่ง (Talent) มาร่วมงานทั้งระดับประเทศและองค์กร พร้อม ๆ กับกระแสสุดฮิตที่ว่าทุกองค์กรต้องปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัลและต้องนำเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง AI หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้งาน เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันที่เราได้ยินกันแทบทุกวัน……ก็ปรากฏรายงานข่าวในจีนที่น่าสนใจข่าวหนึ่งคือ ปัจจุบันนักศึกษาจีนระดับมหาวิทยาลัยกลับเข้าไปเรียนสายอาชีวะเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างโอกาสให้ตัวเองเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับตลาดแรงงาน ที่ไม่เพียงมีความรู้ในสายวิชาการ แต่ยังมีประสบการณ์ที่พร้อมทำงานจากการฝึกงาน เมื่อพูดถึงระบบการศึกษา ปฏิเสธไม่ได้ว่าสายหลักที่หลายประเทศปักหมุดไว้คือสายสามัญ เพื่อเป็นหนทางในการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นช่องทางหลักในการสร้างหลักประกันทางอาชีพในอนาคต ทั้งการเข้าถึงโอกาสในการได้งานและการได้รับการยอมรับทางสังคม โดยการให้ค่าหลักสูตรสายสามัญเหนือกว่าหลักสูตรอื่น…ส่งผลให้การเรียนสายอาชีวะไม่เป็นที่นิยม และผู้เรียนก็มักจะมีภาพลักษณ์เป็นรองในด้านวิชาการ เมื่อเรียนจบส่วนใหญ่ก็เป็นพนักงานระดับปฏิบัติหรือใช้แรงงาน (Blue-collar) มากกว่าจะเป็นพนักงานออฟฟิศ (White-collar) …ซึ่งจีนก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีค่านิยมทำนองนี้เช่นกัน ………..แต่ที่น่าสนใจคือ รายงานเรื่อง “2024 Blue-collar Talent Development Report” ที่เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มจัดหางาน Zhaopin ของจีน ระบุว่า ปัจจุบันมีความต้องการตำแหน่งงาน Blue-collar ในจีนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสายเทคนิค ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ค่าแรงปรับขึ้นในทิศทางเดียวกัน เฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีทักษะสูงตรงตามที่ตลาดต้องการก็ยิ่งได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี…