การจัดการกับชีวิตหลังและใกล้ความตาย: เรื่องควรเตรียมการในวันที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์และต่างชาติเริ่มจะล้นเมือง
ความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากคิดถึง เพราะเมื่อเกิดขึ้นย่อมหมายถึงความสูญเสีย พลัดพราก และการจากลาอย่างถาวร รวมถึงเงินก้อนโตในกระเป๋าที่ต้องใช้สำหรับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งปัจจุบันทำได้ง่ายดาย รวดเร็ว ทั้งยังสวยงามตามความสามารถในการดีไซน์และทุนทรัพย์ของเจ้าภาพ ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ พวงหรีด และของชำร่วยเพื่อเป็นที่ระลึกถึงผู้วายชนม์ จึงไม่แปลกที่บริการจัดงานศพและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจะเฟื่องฟู …และจะยิ่งเติบโตในห้วงที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) และกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในราวปี 2573 เนื่องจากเมื่อคิดเผิน ๆ ตามช่วงอายุก็อาจตีความได้ว่าอายุที่มากขึ้น..ย่อมหมายถึงมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเสียชีวิต ไม่เพียงโครงสร้างประชากรของไทยที่เปลี่ยนไปจะเป็นโอกาสให้ธุรกิจการจัดงานศพครบวงจรขยายตัว แต่ธุรกิจดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นขนาดย่อย ขนาดย่อม และขนาดกลาง (Micro, Small and Medium Enterprise – MSME) ยังน่าจะได้รับผลพลอยได้จากจำนวนคนต่างชาติที่เข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นตามนโยบายดึงดูดคนต่างชาติของรัฐบาล ทั้งผู้ที่เข้ามาอยู่ในระยะสั้นเพื่อท่องเที่ยว ติดต่อธุรกิจ หรือทำงาน โดยได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตราที่สามารถพำนักในไทยได้ไม่เกิน 60 วัน หรือผู้ที่ประสงค์จะพำนักในไทยระยะยาว เพื่อทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน (Workcation) ทั้งกลุ่มที่มีทักษะสูง (High-skilled/Talent Labors) กลุ่มทำงานทางไกลและกลุ่มอาชีพอิสระ…