ปัจจุบันเริ่มมีสื่อหลายสำนักรายงานเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจของ “จีน” ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก ที่ดูเหมือนว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการเปิดประเทศหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวเข้าแล้ว และตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มกลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายห่วงกังวล เพราะจีนคือประเทศที่เข้าไปมีบทบาทขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนในหลาย ๆ พื้นที่… ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจจีนเผชิญความท้าทายหรือไม่สดใสเท่าที่ควร ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจโลก และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลาย ๆ ประเทศด้วย บทความนี้จึงจะชวนพิจารณาที่มาของความท้าทายทางเศรษฐกิจที่จีนกำลังเจอ คาดการณ์แนวทางที่จีนจะใช้เพื่อแก้ไขปัญหา และประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในช่วง 6 เดือนสุดท้ายของปี 2566 สำหรับสัญญาณล่าสุดที่อาจทำให้ทั่วโลกเริ่มกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน ก็คือเมื่อปลาย มิถุนายน 2566 ที่ ธนาคารกลางจีนต้องเดินหน้านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี หรือ Loan Prime Rate เพื่อผ่อนคลายนโยบายการเงิน การตัดสินใจของธนาคารกลางจีนครั้งนี้มีขึ้นหลังจากตัวเลขเศรษฐกิจของจีนเมื่อ พฤษภาคม 2566 ไม่เป็นไปตามคาด เช่น ยอดขายปลีกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ อัตราการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ก็ลดลง อัตราการบริโภคของชาวจีนตกต่ำลง จนเสี่ยงเกิดภาวะเงินฝืด และอัตราว่างงานของคนรุ่นใหม่ในจีนยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้จีนขาด “ขุมพลัง” ในการบริโภคที่เป็นดัชนีขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ นอกจากนี้ แม้ว่าจีนจะรอดจากวิกฤตธนาคารล้มละลายที่หลายประเทศในโลกตะวันตกต้องเจอ และว่ากันว่าปัญหาอสังหาริมทรัพย์ของจีนก็ยังทรงตัว ซบเซาลงและไม่ได้ส่งผลกระทบต่อทิศทางการเติบโตของจีนมากขนาดนั้น…