กัมพูชาผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สามารถเพิกถอนสัญชาติผู้สมรู้ร่วมคิดกับต่างชาติ
กัมพูชามีการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในทางการเมือง โดยที่ประชุมสภาแห่งชาติกัมพูชา เมื่อ 11 กรกฎาคม 2568 มีมติเห็นชอบผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่ออนุญาตให้รัฐบาลสามารถออกกฎหมายเพิกถอนสัญชาติของบุคคลที่ถูกตัดสินว่าสบคบคิดกับชาวต่างชาติเพื่อบ่อนทำลายผลประโยชน์แห่งชาติ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกัมพูชายืนยันว่า กฎหมายใหม่นี้จะบังคับใช้เฉพาะกับบุคคลผู้กระทำการทรยศ บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติเท่านั้น และผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดต่อผลประโยชน์ของชาติก็ไม่จำเป็นต้องกังวล ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีเป้าหมายหลักในการเพิ่มอำนาจให้รัฐบาลสามารถจัดการกับบุคคลที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงและอธิปไตยของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำที่บ่อนทำลายเสถียรภาพทางการเมือง หรือทำงานร่วมกับกองกำลังต่างชาติเพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่เป็นไปตามผลประโยชน์ของกัมพูชา โดยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 33 จากเดิมที่ระบุว่า “พลเมืองเขมรจะไม่มีการถูกเพิกถอนสัญชาติ ถูกเนรเทศ หรือส่งตัวไปประเทศอื่น เว้นแต่จะมีข้อตกลงร่วมกัน” โดยแก้ไขเป็น “การได้รับสัญชาติ การสูญเสียสัญชาติ และการเพิกถอนสัญชาติเขมร จะถูกกำหนดโดยกฎหมาย” กล่าวคือ สามารถเพิกถอนสัญชาติสามารถสำหรับผู้ที่มีสัญชาติกัมพูชาโดยกำเนิด หรือผู้ที่ได้รับสัญชาติในภายหลัง หากพิสูจน์ได้ว่ามีพฤติกรรมดังกล่าว การผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนี้ได้ก่อให้เกิดความกังวลจากองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและหลายประเทศทั่วโลก โดยมีข้อโต้แย้งว่าการกระทำดังกล่าวอาจถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และอาจนำไปสู่การไร้สัญชาติ (statelessness) ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล รวมถึงละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่าคำว่า “สมรู้ร่วมคิดกับต่างชาติ” นั้นมีความคลุมเครือและสามารถตีความได้อย่างกว้างขวาง ทำให้มีโอกาสสูงที่จะมีการนำกฎหมายไปใช้ในทางที่ผิดหรือใช้เพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมืองโดยไม่เป็นธรรม ก่อนหน้านี้ สมเด็จฯ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภา ยืนยันว่า กัมพูชามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเพิกถอนสัญชาติมาแต่เดิมแล้ว และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือแตกต่างจากหลักปฏิบัติของประเทศอื่น ๆ ในโลก…