ข่าวการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นระยะๆ เป็นสิ่งสะท้อนว่าโลกเสี่ยงจะเผชิญปัญหาจากเชื้อโรคสายพันธุ์ต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งเชื้อโรคตามธรรมชาติจากพืชและสัตว์ และเชื้อโรคที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีชีวภาพดัดแปลง และปัญหาจะรุนแรงขึ้นหากเชื้อโรคเหล่านั้นกลายเป็นต้นเหตุของโรคระบาด หรือมีการนำไปพัฒนาเป็นอาวุธชีวภาพเพื่อใช้ในการโจมตี ทั้งที่เป็นการกระทำของรัฐและตัวแสดงที่มิใช่รัฐ
ผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายไม่ด้อยไปกว่าการโจมตีด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร เห็นได้จากยอดผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวนมากทั่วโลก และผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมที่ยาวนานกว่า 3 ปี ทำให้เกิดความห่วงกังวลว่า การอุบัติขึ้นของโรคโควิด-19 อาจเป็นแรงจูงใจให้ผู้ไม่ประสงค์ดีสนใจใช้อาวุธชีวภาพเพื่อก่อเหตุ แม้ยังไม่มีการยืนยันว่าโรคโควิด-19 เกี่ยวข้องกับการใช้เชื้อโรคเป็นอาวุธ
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและความมั่นคงเห็นว่ายังเป็นไปได้น้อยที่จะเกิดการโจมตีด้วยอาวุธเชื้อโรค แต่ก็ยอมรับว่า ปัญหาจากเชื้อโรคและอาวุธชีวภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง เป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังและเตรียมการรับมือ ไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลากรและเทคโนโลยีทางการแพทย์ การกำหนดมาตรการป้องกันและคุ้มครอง (Prevention and Protection) ประชาชน การเตรียมการจัดการเมื่อเกิดเหตุและการฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ เพื่อลดความเสียหายในระดับประเทศและบุคคล เนื่องจากหากมีการนำอาวุธชีวภาพไปใช้โจมตีในที่สาธารณะหรือระบบสาธารณูปโภค อาจสร้างความเสียหายในวงกว้างและยากต่อการควบคุม เฉพาะอย่างยิ่งเชื้อหรือสารก่อโรคใหม่ ที่ต้องใช้เวลาในการศึกษาวิจัย รวมถึงการติดตามตัวผู้ก่อเหตุที่พิสูจน์ทราบได้ยาก
สหรัฐฯ เป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันปัญหาจากเชื้อโรค เห็นได้จากการที่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ฉบับล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อตุลาคม 2565 ระบุให้โรคระบาดและการป้องกันด้านชีวภาพ (Pandemics and Biodefense) เป็นหนึ่งในภารกิจที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญและต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากโรคระบาดในอนาคตจะร้ายแรงขึ้นและทำให้ถึงแก่ความตายได้มากขึ้น การเตรียมการรับมือระดับประเทศและระหว่างประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็น รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกัน
ที่ผ่านมามีการนำเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ มาใช้เป็นอาวุธชีวภาพแล้วหลายครั้ง ทั้งที่เป็นการกระทำของรัฐคู่ขัดแย้ง หรือระดับบุคคลหรือองค์กร เช่น การใช้เชื้อโรค จุลินทรีย์ และสารพิษ เพื่อทำให้เกิดโรคระบาด หรือการปล่อยสารพิษในที่สาธารณะ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำลายสิ่งมีชีวิตทั้งมนุษย์ สัตว์ พืชเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ แม้ยังไม่ใช่เหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายขนาดใหญ่
Global Terrorism Database (GTD) ระบุว่า ระหว่างปี 2513-2562 เกิดการก่อการร้ายทั่วโลกมากกว่า 200,000 ครั้ง เป็นการก่อเหตุที่เกี่ยวกับการใช้สารชีวภาพ 33 ครั้ง โดยเกิดขึ้นในสหรัฐฯ 21 ครั้ง เคนยา 3 ครั้ง สหราชอาณาจักรและปากีสถาน 2 ครั้ง ญี่ปุ่น โคลอมเบีย อิสราเอล รัสเซีย และตูนีเซีย ประเทศละครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 คน และบาดเจ็บ 806 คน
การเกิดขึ้นของโรคโควิด-19 โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (Emerging Infectious Disease) และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ (Re-emerging Infectious Disease) ที่ปรากฏข่าวสารเป็นระยะในประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ สะท้อนว่า ประชากรโลกเสี่ยงจะเผชิญกับปัญหาสาธารณสุขมากขึ้น โดยมีสาเหตุจากเชื้อโรคตามธรรมชาติทั้งพืชและสัตว์ เห็นได้จากที่องค์การอนามัยโลกเพิ่งมีคำเตือนเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า เชื้อรากำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขของคนทั่วโลก และคาดว่ามีผู้เสียชีวิตจากเชื้อราทั่วโลกปีละ 1.7 ล้านคน โดยมีเชื้อรา 19 ชนิดที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพของมนุษย์มากที่สุด และบางชนิดดื้อยาเพิ่มขึ้นและแพร่กระจายได้มากขึ้น ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญและเฝ้าระวังปัญหาจากเชื้อโรคมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยและรักษาโรค
ขณะที่การกลายพันธุ์ของเชื้อโรค ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะเชื้อไวรัสโคโรนา จะเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทั่วโลกเสี่ยงจะเผชิญปัญหาจากโรคติดต่อ โดยมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นอาวุธสำคัญในการป้องกันและลดความสูญเสียจากเชื้อโรค สถานการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่า โรคระบาดที่มีสาเหตุจากเชื้อโรคสายพันธุ์ต่าง ๆ จะเป็นหนึ่งในภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยของประชากรโลก ทั้งโรคระบาดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและที่เป็นการกระทำของมนุษย์ หรือเกิดจากความผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจจากทำงานในห้องปฏิบัติการทางเคมี หรือแม้แต่มีการนำเชื้อโรคไปใช้เป็นอาวุธในการโจมตี
ความขัดแย้งระหว่างประเทศและในสังคมของประเทศต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาจากการใช้อาวุธหลากหลายประเภทในการโจมตีและตอบโต้คู่ขัดแย้ง ซึ่งอาวุธชีวภาพจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่คู่พิพาททั้งรัฐและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐอาจเลือกใช้
……….การแจ้งเตือนล่วงหน้า การคาดการณ์ความเสี่ยง และการแบ่งปันข้อมูลระหว่างฝ่ายสาธารณสุข ภาควิชาการ และหน่วยงานความมั่นคง รวมถึงภาคเอกชน จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมรับกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นทั้งอย่างตั้งใจและไม่ตั้งใจ ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ร่วมกับการให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวและแนวทางในการป้องกันตัวเองในเบื้องต้นแก่ประชาชน
——————————————————–