The Intelligence Weekly Review 02/06/2024
The Intelligence Weekly Review นำเสนอความเคลื่อนไหวประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นรอบโลกในแต่ละภูมิภาคให้ท่านผู้ฟังรู้ทันเหตุการณ์ เห็นความสำคัญ และนำมุมมองของเราไปใช้ประโยชน์กันต่อไป
The Intelligence Weekly Review นำเสนอความเคลื่อนไหวประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นรอบโลกในแต่ละภูมิภาคให้ท่านผู้ฟังรู้ทันเหตุการณ์ เห็นความสำคัญ และนำมุมมองของเราไปใช้ประโยชน์กันต่อไป
ประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดนของสหรัฐฯ แถลงเมื่อ 31 พ.ค.67 ว่า อิสราเอลเสนอข้อตกลงฉบับใหม่ให้กับกลุ่มฮะมาสผ่านทางกาตาร์ ซึ่งจะเป็นแนวทางสู่การหยุดยิงอย่างถาวร โดยระยะแรกใช้เวลา 6 สัปดาห์ที่กองกำลังอิสราเอลจะยุติปฏิบัติการและออกจากฉนวนกาซา พร้อมกับการปล่อยตัวประกันสตรี ผู้สูงอายุ และบาดเจ็บ แลกกับการปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์ รวมทั้งการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปในพื้นที่ด้วยรถบรรทุก 600 คันต่อวันโดยทันที พร้อมกันนี้ สหรัฐฯ อียิปต์ และกาตาร์ จะร่วมกันผลักดันให้การเจรจาระหว่างอิสราเอล-ฮะมาสบรรลุข้อตกลงจนนำไปสู่การหยุดยิงถาวรในระยะ 2 และการฟื้นฟูฉนวนกาซาในระยะ 3 ทั้งนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ยังระบุว่า ฮะมาสควรรับข้อตกลงฉบับนี้ที่จะเป็นโอกาสในการยุติสงครามที่สังหารพลเรือนไปแล้วจำนวนมาก กับทั้งจะค้ำประกันความมั่นคงให้กับอิสราเอลและฟื้นฟูฉนวนกาซาที่ไม่มีฮะมาสปกครอง เพื่อสร้างอนาคตที่ดีสำหรับอิสราเอลและปาเลสไตน์
พล.ท. Jing Jianfeng รองเสนาธิการคณะเสนาธิการทหารร่วมของคณะกรรมาธิการทหารกลางของจีน ให้ความเห็นตอบโต้สุนทรพจน์ของนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เกี่ยวกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ในการประชุม Shangri-La Dialogue ครั้งที่ 21 ที่สิงคโปร์เมื่อ 1 มิ.ย.67 ว่า สหรัฐฯ พยายามใช้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวสร้างเนโตขึ้นในภูมิภาค เพื่อรักษาความเป็นใหญ่ของสหรัฐฯ โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังคงยึดหลักคิดของสงครามเย็นและ zero-sum game ใช้การรวมกลุ่มเฉพาะโดยอ้างเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค ซึ่งขัดต่อเจตจำนงของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคที่ต้องการสันติภาพ การพัฒนา และความร่วมมือแบบที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ เพราะยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกตอบสนองเพียงผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เห็นแก่ตัวของสหรัฐฯ อาทิ อาเซียนที่ถูกสหรัฐฯ แบ่งแยกเป็นกลุ่มความร่วมมือขนาดเล็กโดยสหรัฐฯ มีบทบาทนำ ส่งผลให้ความร่วมมือในกรอบอาเซียนอ่อนแอลง ทั้งยังเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาค ขณะที่จีนยึดมั่นหลักความเป็นมิตร จริงใจ และผลประโยชน์ร่วมกัน โดยกองทัพจีนยินดีทำงานร่วมกับกองทัพของประเทศต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างการสื่อสารและความร่วมมือในเชิงปฏิบัติเพื่อสร้างประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกที่มีอนาคตร่วมกัน
สำนักข่าว CGTN รายงานเมื่อ 2 มิ.ย.67 อ้างสุนทรพจน์ของ พล.ร.อ.ต่ง จุน รัฐมนตรีกลาโหมจีน ในการประชุม Shangri-La Dialogue ครั้งที่ 21 ที่สิงคโปร์ว่า จีนเคารพต่อสันติภาพและความสามัคคี ไม่เคยพยายามครองความเป็นใหญ่หรือขยายอิทธิพลทางทหาร ทั้งยังระบุว่า ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกมีความสามารถแก้ไขความตึงเครียดได้เอง แต่ก็ยังคงถูกบีบบังคับจากพลังอำนาจภายนอกที่พยายามใช้อำนาจเข้าครอบงำ ขณะเดียวกัน พล.ร.อ.ต่ง จุน ยังระบุถึงประเด็นไต้หวันโดยให้คำมั่นว่าจีนจะดำเนินการรวมชาติอย่างสันติ แต่ความพยายามดังกล่าวกลับถูกกัดเซาะจากกองกำลังภายนอกและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในไต้หวัน ซึ่งจีนจะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อควบคุมความพยายามแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวัน และสร้างหลักประกันว่าความพยายามแบ่งแยกดินแดนจะไม่ประสบผลสำเร็จ
พ.อ.อาวุโส Wu Qian โฆษกกระทรวงกลาโหมจีน แถลงเมื่อ 31 พ.ค.67 เกี่ยวกับผลการหารือนอกรอบการประชุม Shangri-La Dialogue ที่สิงคโปร์ ระหว่าง พล.ร.อ.ต่ง จุน รัฐมนตรีกลาโหมจีน กับนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ในวันเดียวกัน ซึ่งใช้เวลานานถึง 75 นาทีว่าจีนย้ำจุดยืนในประเด็นไต้หวันและทะเลจีนใต้ และเน้นวัตถุประสงค์ของการพบหารือทางทหารว่าควรมุ่งส่งเสริมความเข้าใจ ขจัดความเข้าใจผิด เสริมสร้างความไว้วางใจเพื่อให้บรรลุความสัมพันธ์ที่มีเสถียรภาพ พร้อมกับย้ำว่าอีกฝ่ายไม่ควรละเลยข้อเท็จจริง และตำหนิหรือหาโอกาสใส่ร้ายและสกัดกั้นอีกฝ่าย ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันในประเด็นระหว่างสองประเทศ ความสัมพันธ์ทางทหาร ไต้หวัน ทะเลจีนใต้ วิกฤติยูเครน และสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ผลการประชุมเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และปฏิบัติได้จริงในระดับยุทธศาสตร์ ช่วยให้สองฝ่ายรับทราบท่าทีของอีกฝ่ายได้โดยตรงและเข้าใจกันมากขึ้น