เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมียนมา เมื่อ 28 มีนาคม 2568 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 3,600 คน ได้รับบาดเจ็บ 5,000 คน และสูญหายอย่างน้อย 500 คน ซึ่งคาดว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายอาจเพิ่มขึ้นอีกในระยะต่อไป เนื่องจากทางการเมียนมายังไม่สามารถกู้ร่างผู้เสียชีวิตออกจากซากปรักหักพังได้ทั้งหมดโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ประเมินว่า เหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาทำให้มีเศษซากปรักหักพังในพื้นที่ 6 รัฐ/ภาคที่ได้รับผลกระทบ รวมกว่า 2.5 ล้านตัน ขณะเดียวกันห้วงเวลากว่า 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ภายในประเทศเมียนมายังคงมีเหตุอาฟเตอร์ช็อกมากถึง 490 ครั้ง ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคมัณฑะเลย์ยังไม่กล้ากลับเข้าไปอาศัยที่บ้าน เพราะกังวลด้านความปลอดภัยของโครงสร้างอาคาร และมีคนจำนวนมากที่ต้องพักอยู่ในสถานที่พักพิงชั่วคราว หรือพื้นที่เปิดบริเวณข้างถนน ซึ่งในภาคสะไกง์มีมากถึง 60,000 คน การสูญเสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้สูญหาย และภาวะไร้ที่อยู่อาศัยเป็นทุกข์อันหนักหน่วงที่ชาวเมียนมาเผชิญกับเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้อย่างใหญ่หลวง แต่สิ่งที่ซ้ำเติมความทุกข์มีเพิ่มไปอีกจากภาวะโรคระบาด สภาพความเป็นอยู่ที่แออัดและไม่ถูกสุขอนามัย พร้อมกับการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ยังเข้าไปไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ส่งผลให้เมียนมาเสี่ยงเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากปัญหาภาวะสุขอนามัยไม่เหมาะสม ขาดแคลนน้ำดื่มสะอาด การอยู่อาศัยอย่างแออัดในพื้นที่พักพิงชั่วคราว ได้แก่ อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ ไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออก โรคติดต่อทางผิวหนัง…