สถานการณ์ของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยยังคงมีความซับซ้อนและท้าทาย เนื่องจากการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว เผชิญปัญหาในหลายมิติ หนึ่งในปัญหาหลักคือแรงงานจำนวนมากยังคงเข้าสู่ประเทศโดยผิดกฎหมาย ส่งผลให้รัฐไม่สามารถควบคุม ดูแล หรือคุ้มครองสิทธิได้อย่างทั่วถึง และยังเปิดช่องให้เกิดการแสวงหาประโยชน์ เช่น การเรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่ หรือการตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ รัฐบาลไทยจึงได้จัดระเบียบแรงงานเหล่านี้ เช่น การตรวจสอบใบอนุญาตทำงาน การเร่งรัดการขึ้นทะเบียน และการขยายระยะเวลาพำนักอาศัยในไทยของแรงงานตามระบบหนังสือบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (Memorandum of Understanding หรือ MOU) เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศกับประเทศต้นทาง โดยเฉพาะเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา เพื่อจัดการแรงงานอย่างเป็นระบบกำกับการนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย ลดการลักลอบเข้าเมือง และส่งเสริมความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างรัฐ โดยจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้เข้ามาในไทย ในปี 2568 ประเทศที่มีแรงงานเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากที่สุดคือ เมียนมาร์ จำนวน 969,000 คน ต่อมาคือกัมพูชา จำนวน 167,000 คน ลำดับต่อมาคือลาว 64,000 คน อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติพบปัญหา เช่น ความล่าช้าในกระบวนการ ความไม่โปร่งใสในระบบนายหน้า แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือกลายเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ซึ่งนำไปสู่แรงกดดันจากทั้งประเทศต้นทางและองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในด้านสิทธิมนุษยชนและภาพลักษณ์ของไทยบนเวทีโลก ในช่วงที่ประเทศต้นทางเกิดวิกฤต เช่น ความไม่สงบในเมียนมา…