เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมียนมา เมื่อ 28 มีนาคม 2568 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 3,600 คน ได้รับบาดเจ็บ 5,000 คน และสูญหายอย่างน้อย 500 คน ซึ่งคาดว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายอาจเพิ่มขึ้นอีกในระยะต่อไป เนื่องจากทางการเมียนมายังไม่สามารถกู้ร่างผู้เสียชีวิตออกจากซากปรักหักพังได้ทั้งหมดโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ประเมินว่า เหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาทำให้มีเศษซากปรักหักพังในพื้นที่ 6 รัฐ/ภาคที่ได้รับผลกระทบ รวมกว่า 2.5 ล้านตัน
ขณะเดียวกันห้วงเวลากว่า 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ภายในประเทศเมียนมายังคงมีเหตุอาฟเตอร์ช็อกมากถึง 490 ครั้ง ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคมัณฑะเลย์ยังไม่กล้ากลับเข้าไปอาศัยที่บ้าน เพราะกังวลด้านความปลอดภัยของโครงสร้างอาคาร และมีคนจำนวนมากที่ต้องพักอยู่ในสถานที่พักพิงชั่วคราว หรือพื้นที่เปิดบริเวณข้างถนน ซึ่งในภาคสะไกง์มีมากถึง 60,000 คน
การสูญเสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้สูญหาย และภาวะไร้ที่อยู่อาศัยเป็นทุกข์อันหนักหน่วงที่ชาวเมียนมาเผชิญกับเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้อย่างใหญ่หลวง แต่สิ่งที่ซ้ำเติมความทุกข์มีเพิ่มไปอีกจากภาวะโรคระบาด สภาพความเป็นอยู่ที่แออัดและไม่ถูกสุขอนามัย พร้อมกับการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ยังเข้าไปไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ส่งผลให้เมียนมาเสี่ยงเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากปัญหาภาวะสุขอนามัยไม่เหมาะสม ขาดแคลนน้ำดื่มสะอาด การอยู่อาศัยอย่างแออัดในพื้นที่พักพิงชั่วคราว ได้แก่ อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ ไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออก โรคติดต่อทางผิวหนัง อาการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารและทางเดินหายใจเฉียบพลัน และกาฬโรค ซึ่งปัจจุบันพบการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวแล้วในภาคมัณฑะเลย์และภาคสะไกง์
รัฐบาลเมียนมา ประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา ประชาคมระหว่างประเทศ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศไม่ได้เพิกเฉยต่อความทุกข์ที่ชาวเมียนมาเผชิญในครั้งนี้ รัฐบาลเมียนมากำลังเร่งฟื้นฟูอาคาร เส้นทางคมนาคมขนส่ง ระบบไฟฟ้า และโทรคมนาคมที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งจะแจกจ่ายสิ่งของจำเป็นให้พอเพียงต่อความต้องการของประชาชนและครอบคลุมทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ แต่เมียนมายังคงขาดแคลนสถานพยาบาล ยารักษาโรค และบุคลากรทางการแพทย์ หลังเหตุแผ่นดินไหวสร้างความเสียหายให้กับโรงพยาบาลหลายแห่งจนไม่สามารถให้บริการได้ ปัจจุบันนานาชาติต่างเร่งส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเมียนมา อาทิ UN จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย บังกลาเทศ ภูฏาน รวมถึงไทย
ไทยที่เป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกับเมียนมาเต็มที่กับเมียนมามาก สะท้อนพันธกิจด้านมนุษยธรรมของประเทศไทย เพราะนับตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา หน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชนของไทยร่วมมือกันส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา อาทิ การส่งทีมแพทย์เข้าไปให้บริการทางการแพทย์ ส่งมอบอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ และช่วยพัฒนาระบบกรองน้ำสะอาดในเมียนมา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ที่สำคัญคือ กองบัญชาการกองทัพไทยส่งกำลังพลเดินทางไปปฏิบัติภารกิจด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ (HADR) ภายใต้ “ยุทธการมัณฑะเลย์ 82” เพื่อช่วยเหลือในพื้นที่ภาคมัณฑะเลย์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขที่ส่งทีมปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะภัยพิบัติ (Thailand EMT) เดินทางไปช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเมียนมา