“Resident Evil” (2565) ฉบับซีรีส์ที่เพิ่งเปิดตัวใน Netflix เป็นอีกเรื่องที่ได้รับกระแสตอบรับไม่ดีนัก สำหรับเสียงวิจารณ์จากผู้ชม ซึ่งไม่ต่างจากภาพยนตร์เวอร์ชั่นรีเมคในช่วงปีที่แล้วอย่าง “Resident Evil : Welcome to Raccoon City” (2564) ที่ล้มเหลวในแง่คำวิจารณ์เหมือนกัน การที่แฟรนไชส์ภาพยนตร์ Resident Evil ไม่ประสบความสำเร็จในยุคสมัยนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะในปัจจุบัน ภาพยนตร์แนวซอมบี้หรือไวรัสระบาดล้างโลกนั้นมีให้ชมกันเกลื่อนไปหมด
ทว่า หากจะพูดถึงประเด็นว่ามีแต่ซอมบี้ที่สามารถยึดครองโลก โดยสามารถทำให้มนุษย์ต้องเอาชีวิตรอดแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ ได้เพียงฝ่ายเดียว นั่นดูจะเป็นการดูถูก “เอเลี่ยน” และ “หุ่นยนต์” เกินไป ภาพยนตร์แนวภัยพิบัติล้างโลกของวงการ Hollywood มักจะมีตัวหายนะมานำเสนอวนเวียนกันให้เห็นอยู่บ่อย ๆ คือ 3 สิ่งนี้…. ซอมบี้ เอเลี่ยน หุ่นยนต์… จนเรียกได้ว่าฉีกจากแนวภัยพิบัติกลายมาเป็นแนวภาพยนตร์ของตัวเองไปเลย
เริ่มจากสิ่งแรกคือ ซอมบี้ ตัวแทนภัยพิบัติที่มีพัฒนาการในแต่ละยุคสมัยให้เห็นได้เด่นชัดที่สุด ซอมบี้มีต้นกำเนิดมาจากลัทธิวูดูของชาวเฮติ ซึ่งเป็นศาสนาที่ทาสชาวแอฟริกันใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ตั้งแต่ในยุคสมัยที่ถูกนำมาเป็นทาสจากการตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ช่วงปี 2240 แต่ความเชื่อเรื่องซอมบี้นั้นว่ากันว่าเกิดจากพ่อมดนอกรีตของศาสนาที่หลงไปในทางผิด เรียกว่า “โบคอร์” (Bokor) โดยที่กลุ่มโบคอร์นี้จะมีความสามารถในการปลุกศพคนตายมาใช้งานเยี่ยงทาสต่อ นั่นจึงเป็นที่มาของผีดิบหรือซอมบี้
หลังจากที่ชาวเฮติสามารถปฏิวัติได้สำเร็จในปี 2347 และถูกบุกอีกครั้งโดยสหรัฐอเมริกาในปี 2458 ช่วงนั้นจึงเป็นช่วงที่ความเชื่อของวูดูเผยแพร่ไปในหมู่ทหารอเมริกันและนักเดินทาง มีสื่ออเมริกันที่ตีพิมพ์เกี่ยวกับเรื่องไสยเวทย์มนต์ดำของวูดู จนในที่สุดจึงเกิดภาพยนตร์ที่เล่าถึงซอมบี้เรื่องแรกของโลกหรือ “White Zombie” (2475) แต่ภาพยนต์เรื่องนี้ก็ยังคงเล่าในมุมมองที่อิงจากตำนานซอมบี้ดั้งเดิม มีตัวเอกเป็นพ่อมดโบคอร์ที่คืนชีพศพ จนกระทั่งมีการพลิกโฉมซอมบี้ในภาพยนตร์โดยผู้กำกับ George Romero จากเรื่อง “Night of the Living Dead” (2511) ที่วางรากฐานผีดิบซอมบี้ให้กลายเป็นสูตรสำเร็จคือ การเคลื่อนไหวเชื่องช้า ชอบกินเนื้อสด สติปัญญาต่ำ ต้องฆ่าโดยการทำลายสมองหรือยิงที่หัว ต้นกำเนิดมาจากเชื้อโรคหรือรังสี และสามารถแพร่เชื้อผ่านการกัด โดยสิ่งเดียวที่พอจะเชื่อมโยงกับความเชื่อของวูดูได้ก็คือการไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์
เมื่อภาพจำของซอมบี้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสัตว์ประหลาดที่เกิดจากวิทยาศาสตร์ ถูกเชื่อมโยงกับทฤษฎีระบาดวิทยาของเชื้อโรค นั่นจึงน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ชมสัมผัสได้ว่ามันเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวมากขึ้น เพราะมนุษย์จะต้องเผชิญกับโรคระบาดอยู่เสมอ ๆ กระทั่งในปัจจุบันเราก็ยังหนีไม่พ้นทั้ง COVID-19 และฝีดาษลิงที่กำลังตามมา การที่วิถีชีวิตของคนเราถูกเปลี่ยนเป็นแบบ New Normal ต้องมีการใส่หน้ากาก มีการเว้นระยะห่าง น่าจะเรียกได้ว่าใกล้เคียงกับการเอาตัวรอดขั้นต่ำที่สุดของภาพยนตร์ซอมบี้แล้ว เหลือแค่ว่าเชื้อโรคทุกวันนี้ยังไม่ทำให้เราบ้าคลั่งกินกันเอง
แต่ก็เพราะแนวคิดที่ถูกนำเสนอผ่านมาทางเกมหรือภาพยนตร์ ตัวอย่างคือจาก Resident Evil ที่ไวรัสซอมบี้ในเรื่องถูก Umbrella Corporation คิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้สร้างอาวุธชีวภาพ (Biological Weapon) อีกทั้งไวรัสยังมีวิวัฒนาการไปเป็นสายพันธุ์ใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ นั่นจึงทำให้ปัจจุบันเกิดข้อถกเถียงว่าเชื้อโรคที่เรากำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้เกิดจากฝีมือมนุษย์ใช่หรือไม่? เป็นความผิดพลาดจากการควบคุมไม่ได้หรือไม่? เป็นต้น
สิ่งที่ 2 คือ เอเลี่ยน เมื่อมนุษย์เราค้นพบว่าโลกเป็นแค่ดาวดวงหนึ่งในระบบสุริยะจักรวาล มันจึงเกิดการตั้งคำถามว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอารยธรรมเพียงหนึ่งเดียวแน่หรือ? แล้วถ้าเมื่อวันหนึ่งมีผู้มาเยือนโลกแบบในจินตนาการของนวนิยายหรือภาพยนตร์ เขาเหล่านั้นจะมาดีหรือมาร้าย
ถ้าหากลองเทียบกันแล้ว ภาพจำของเอเลี่ยนในภาพยนตร์ที่มาแบบเป็นมิตรอย่างเรื่อง “E.T. the Extra-Terrestrial” (2525) หรือเป็นเผ่าพันธุ์ที่อยู่ร่วมกันได้แบบในแฟรนไชส์ Star Wars หรือ Star Trek ที่มี Setting ของเรื่องเป็นสังคมในอวกาศ น่าจะมีไม่มากเท่ากับภาพจำของการมารุกรานโลกเช่นใน “Independence Day” (2539), War of the Worlds (2548), Edge of Tomorrow (2557) และอีกหลายต่อหลายเรื่อง หรือภาพจำในแบบของอสุรกายอวกาศอย่างในแฟรนไชส์ Aliens และ Predator
ทุกวันนี้ความเชื่อเรื่องเอเลี่ยนหรือมนุษย์ต่างดาวก็ยังเป็นหนึ่งในสิ่งที่มนุษย์เราต้องการพิสูจน์พอ ๆ กับเรื่องผี ทั้งภาพถ่ายที่ว่ากันว่ามันคือ UFO เรื่องเล่าที่ว่ากันว่ามีผู้โดนเอเลี่ยนจับไปทำการศึกษาทดลอง มีสมาคมของผู้ที่สนใจศึกษาในเรื่องนี้อยู่มากมายทั่วทุกมุมโลก จนกระทั่งในที่สุดก็มีผู้ที่หยิบเอาประเด็นการรุกรานจากต่างดาวนี้ไปศึกษา นั่นคือนาย Alberto Caballero นักศึกษาปริญญาเอกของ University of Vigo ในประเทศสเปน ซึ่งประเด็นวิจัยของเขาไม่ได้แค่ศึกษาการถูกรุกรานของโลกเรา แต่ยังศึกษาโอกาสที่ชาวโลกเราจะไปรุกรากดาวดวงอื่นอีกด้วย
Caballero ไม่ได้ใช้ทฤษฎีในทางฟิสิกส์หรือดาราศาสตร์ แต่ใช้เรื่องของสถิติในทางรัฐศาสตร์ เช่นการที่ประเทศหนึ่งทำสงครามรุกรานอีกประเทศหนึ่ง โดยในช่วงระหว่างปี 2458-2565 ที่เขาทำการศึกษา พบว่ามีประเทศที่ทำการโจมตีประเทศอื่นถึง 51 ประเทศ และเมื่อรวมค่าเฉลี่ยของศักยภาพในการเปิดฉากโจมตีจากทุกประเทศในโลก อัตราที่มนุษย์โลกในปัจจุบันจะสามารถไปรุกรานดาวดวงอื่นได้มีอยู่แค่ 0.028% ด้วยปัจจัยที่เทคโนโลยีเดินทางข้ามอวกาศยังไม่เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ ทว่าจากการประเมินไปถึงในอีก 259 ปีข้างหน้า มนุษย์เราจะสามารถเดินทางข้ามอวกาศได้ โดยการทำนายนี้ Caballero ได้ใช้หลักการของมาตรวัด Kardashev (มาตรในการวัดอารยธรรมของมนุษย์ โดยใช้การดึงพลังงานจากสิ่งแวดล้อมเป็นเกณฑ์แบ่งความก้าวหน้า)
ส่วนการที่มนุษย์เราจะเผชิญกับกองทัพเอเลี่ยน การวิจัยนี้ได้นำเอาผลการศึกษาขององค์กร SETI (Search for Extra-Terrestrial Intelligence) ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตต่างดาวโดยตรงมารวมในการประเมิน ซึ่งจากการที่ SETI เคยประมาณการไว้ว่าน่าจะมีเผ่าพันธุ์ที่มีอารยธรรมถึง 15,785 กลุ่มในกาแล็กซีทางช้างเผือก และมี 4 กลุ่มที่อารยธรรมอยู่ในระดับ 0-1 คือก้าวหน้าพอจะมีแนวโน้มเป็นภัยคุกคาม อย่างไรก็ดี โอกาสที่ 4 อารยธรรมนี้จะมาโจมตีนั้นมีอยู่น้อยมาก ความเป็นไปได้ต่ำกว่าเหตุการณ์อุกกาบาตยักษ์ชนโลกถึง 100 เท่า
และตัวแทนภัยพิบัติสุดท้ายที่จะกล่าวถึงนั่นคือ หุ่นยนต์ ในแง่ของบทบาทที่ภาพยนตร์นำเสนอหลัก ๆ หุ่นยนต์ที่กลายเป็นภัยมักจะมีสาเหตุมาจากระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence) ที่คอยควบคุมสั่งการหุ่นยนต์เหล่านั้น มันได้ทำการประเมินว่ามนุษย์ที่สร้างตนขึ้นมาเป็นภัยต่อโลกหรือต่อตัวมันเอง และมนุษย์มักจะกลัวพัฒนาการทางการคิดคำนวณของ AI เป็นอย่างมาก ซึ่งภาพยนตร์ที่เป็นต้นตำรับของหุ่นยนต์ล้างโลกคงจะหนีไม่พ้นแฟรนไชส์ Terminator หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อไทยว่า “คนเหล็ก” ของผู้กำกับระดับตำนานอย่าง James Cameron ที่เล่าถึงการที่ระบบ AI ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ หรือ Skynet เกิดพัฒนาการระบบคิดคำนวณจนประเมินว่ามนุษย์เป็นภัย ส่งผลให้เกิดการสั่งยิงระบบหัวรบนิวเคลียร์ของทุกชาติในโลก จากนั้น Skynet จึงสร้างเหล่าหุ่นรบ Terminator มาไล่ล่ามนุษย์ตั้งแต่ในโลกอนาคต รวมถึงกระทั่งส่งย้อนเวลาไปตามไล่ล่าผู้นำมนุษย์ในอดีตอย่าง John Connor เกิดเป็นมหากาพย์คนเหล็กของอดีตผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียหรือ Arnold Schwarzenegger ที่เราคุ้นเคย
หรือจะมาในรูปแบบของหุ่นยนต์ที่ต้องการปลดแอกจากการเป็นเครื่องมือของมนุษย์อย่างเรื่อง I, Robot (2547) ที่ดัดแปลงจากนวนิยายของ Isaac Asimov การสลับบทบาทถูกปกครองโดยใช้มนุษย์เป็นแหล่งพลังงานของเครื่องจักรแทนอย่างในแฟรนไชส์ The Matrix กระทั่งสามารถนำหุ่นยนต์ไปรับบทบาทร่วมกับแนวเอเลี่ยน เป็นการรุกรานโดยหุ่นยนต์จากต่างดาวแบบแฟรนไชส์ Transformers แต่ทั้งหมดจะนำเสนอให้เห็นว่าหุ่นยนต์เหล่านั้นมีพัฒนาการทางความคิดใกล้เคียงกับมนุษย์ ซึ่งเพราะเหตุนี้หรือไม่ที่ทำให้พวกมันอยากทำลายมนุษย์
การครองโลกโดยหุ่นยนต์ที่มีความเป็นไปได้ในปัจจุบันนั้น แนวคิดในเรื่องของ AI ดูจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด อาจจะไม่ใช่การฆ่าล้างบางมนุษย์ด้วยตรรกะแบบที่เราชมในภาพยนตร์ แต่ทุกวันนี้ AI ก็ได้ทำให้ผู้คนตกงานไปหลายต่อหลายคนแล้วเช่นกัน ตัวอย่างความสามารถในการเรียนรู้อันน่าทึ่งของ AI เช่น AlphaGo ที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท Deepmind สามารถเอาชนะ Lee Sedol ที่เป็นแชมป์หมากล้อมได้ การควบคุมยานอวกาศของบริษัท SpaceX ทำให้แม้แต่นักวิทยาศาสตร์แห่งยุคหลายคนเองอย่าง Elon Musk, Bill Gates หรือ Stephen Hawking ก็ยังมีความกังวลในประเด็นการเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์
แต่ก็ยังมีแนวคิดของ Kai Fu Lee ผู้เขียนหนังสือ “AI Superpowers” ที่นำเสนอว่า AI ในทุกวันนี้ยังควบคุมได้ เพราะเกิดจากฝีมือของมนุษย์ มันยังไม่เกิดการเรียนรู้ในธรรมชาติแบบที่มนุษย์มี อาทิเช่น สัญชาตญาณเอาตัวรอด การสืบพันธุ์ การแสวงหาอำนาจ ถ้าจะมีอันตรายเกิดขึ้นก็น่าจะมาจากการสั่งการผิดพลาดของมนุษย์เอง เพราะโดยหลักการแล้ว AI จะพยายามทำงานตามที่มอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งจุดนี้เองที่จะทำให้กลุ่มคนที่เป็นแรงงานแพ้ให้กับเทคโนโลยีนี้ AI และหุ่นยนต์จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่เหนื่อย ไม่มีหยุด ไม่มีลา ไม่มีสาย แถมไม่ต้องมีเงินเดือน ถ้าจะเรียกว่าหุ่นยนต์เริ่มยึดครองพื้นที่งานจากมนุษย์ในระบบอุตสาหกรรมของโลกไปมากแล้วก็คงไม่ผิดนัก ส่วนประเด็นอันตรายที่น่าจะเกิดจากการควบคุมของมนุษย์คือ ถ้ามนุษย์บังเอิญไปขวางการทำงานตามคำสั่งของ AI ระบบของมันจะคำนวณออกมาว่ามนุษย์เป็นตัวขัดขวางประสิทธิภาพของงานหรือไม่?
โดยสรุปแล้ว จากตัวแทนของภัยพิบัติยอดฮิตบนแผ่นฟิล์มทั้ง 3 สิ่ง ทั้งซอมบี้ เอเลี่ยน และหุ่นยนต์ น่าจะบ่งบอกได้ว่าพวกมันคือ “ความกลัวต่ออนาคตที่ไม่แน่นอนของมนุษย์” ซึ่งนั่นเป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติ แต่เนื่องจากว่าทั้ง 3 สิ่งนี้มันมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้น มันอาจจะไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรมของอสุรกายชัดเจนแบบในสื่อ ทว่าเราก็ได้พบกับอะไรหลาย ๆ อย่างที่คล้ายกับพวกมันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดที่พัฒนาตัวเองได้อย่างไม่หยุด พัฒนาการของเทคโนโลยีด้านอวกาศ และ AI ที่เริ่มจะใกล้เคียงกับจินตนาการเข้าไปแล้ว ซึ่งจะต้องมีทั้งผลดีต่อมนุษยชาติและผลเสียที่คาดไม่ถึงอยู่ หรือการที่เรายังพิสูจน์ไม่ได้ว่าตกลงแล้วมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาสปีชี่ส์เดียวในจักรวาลหรือไม่ เรื่องที่เราไม่รู้ ไม่อาจเข้าใจถึงแก่นของมันได้ มันจึงไม่แปลกที่คนเราจะจินตนาการในแง่ร้ายไว้ก่อน สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจให้เราได้อย่างดีว่า…ไม่ควรประมาท…กับอนาคต
อ้างอิง
https://ngthai.com/history/41065/zombiehistory/
https://www.bbc.com/thai/international-61665843
https://www.blockdit.com/posts/6279417a92126e8d9b4ae8de
https://www.sanook.com/game/1152777/
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%95%E0%B8%B4