ก่อนจะคุยกันว่า ขั้วอำนาจโลกทางเศรษฐกิจ : เปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน ? ขอสำรวจสภาวะแวดล้อมโลกในช่วงนี้ก่อน…. เห็น ๆ กันว่าสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีความซับซ้อนมากขึ้นจากการที่ประเทศต่าง ๆ มีผลประโยชน์ทับซ้อน พึ่งพา และแข่งขันกันทั้งในมิติความมั่นคง การทหาร การเมือง เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ ทำให้เห็นสัญญาณว่า ประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกันในลักษณะที่เป็นผลประโยชน์ร่วม (common interest) เฉพาะเรื่องมากกว่าที่จะร่วมมือหรือพึ่งพากันอย่างครอบคลุม
สิ่งที่เห็นชัดเจนกันเรื่อย ๆ คือ การแข่งขันอิทธิพลระหว่างสหรัฐฯ จีน และรัสเซีย เพราะต้องการช่วงชิงความได้เปรียบในการเป็นผู้กำหนดระเบียบและมาตรฐานของโลก จึงพยายามเพิ่มบทบาทของตัวเอง ควบคู่กับสกัดกั้นและบ่อนทำลายบทบาทของคู่แข่ง นอกจากนี้ การที่ทั้ง 3 ประเทศ ยังไม่ลดระดับการแข่งขันกัน ยิ่งทำให้แนวโน้มบรรยากาศความมั่นคงระหว่างประเทศ มีการแข่งขัน และแบ่งขั้วอำนาจระหว่างประเทศมากขึ้น
ประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดนระบุชัดเจนตั้งแต่รับตำแหน่งเมื่อปี 2563 ว่า สหรัฐฯ จะแข่งขันกับจีน ควบคู่กับร่วมมือกับประเทศพันธมิตรและหุ้นส่วนที่มีผลประโยชน์ร่วม ขณะที่จีนจะตอบโต้สหรัฐฯ ในระดับที่เท่าเทียม และเดินหน้าใช้ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจเป็นช่องทางพัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศอย่างต่อเนื่องในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ส่วนรัสเซีย ในช่วงวิกฤตยูเครนนี้เห็นได้ชัดว่า รัสเซียมีอำนาจต่อรองด้านพลังงานสูงมาก ๆ และพลังงาน ก็คือสิ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมาโดยตลอด นอกจากนี้ อิทธิพลของรัสเซียในพื้นที่ต่าง ๆ ก็แข็งแกร่งไม่น้อยไปกว่าสหรัฐฯ กับจีน ทั้งในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก รวมไปถึงพื้นที่นอกโลก ได้แก่ ไซเบอร์ และอวกาศ ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ปะทะสังสรรค์ที่สำคัญ
ในเมื่อสภาวะแวดล้อมโลกเป็นอย่างนี้ “ขั้วอำนาจโลกทางเศรษฐกิจ : เปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน ?” อาจจะขอเชื่อมโยงไปยังวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน และประเทศต่าง ๆ ใช้มาตรการทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือกดดันการเมืองระหว่างประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคว่ำบาตร การงดส่งออก และการปิดเส้นทางส่งออกสินค้าเอาดื้อ ๆ ประกอบกับวิกฤตโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อจำนวนทรัพยากรและกำลังในการผลิตสินค้า จะเป็นปัจจัยเร่งให้รูปแบบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลง ทั้งหมดนี้ เชื่อมโยงวิกฤตพลังงาน ความไม่มั่นคงทางอาหาร และขาดแคลนสินค้า ทำให้ประเทศมหาอำนาจที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจสอดคล้องกัน มีแนวโน้มจะสามารถรักษาความร่วมมือกันด้านเศรษฐกิจได้
ตัวอย่างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ หรือการจับมือกันเพื่อสร้างขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจเห็นได้ชัดเจน เช่น รัสเซีย-จีน รัสเซีย-อินเดีย สหรัฐฯ -พันธมิตรในภูมิภาคยุโรป สหรัฐฯ -พันธมิตรในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ขณะเดียวกัน ประเทศกำลังพัฒนากำลังเผชิญแรงกดดันให้เลือกข้าง หรือปรับเปลี่ยนนโยบาย รวมทั้งมาตรฐานด้านเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับประเทศมหาอำนาจมากขึ้น ไม่เช่นนั้นจะไม่มีส่วนร่วมในความร่วมด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ
เมื่อสภาวะแวดล้อมโลกด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจโลกเป็นแบบนี้ ดูเหมือนว่า การแบ่งขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกจะชัดเจนขึ้น มี 3 ขั้ว ซึ่งขั้วแรก ได้แก่ สหรัฐฯ และพันธมิตรที่จะใช้กรอบความร่วมมือทั้งทวิภาคีและพหุภาคีเพื่อรักษาผลประโยชน์ด้านการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกของเรา สหรัฐฯ ก็มีกรอบ Indo-Pacific Economic Framework (IPEF) ที่เป็นกรอบเจรจาประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ
ขั้วที่สอง เจ้าของขั้วนี้อยู่ในภูมิภาคของเราทีเดียว ได้แก่ จีนและหุ้นส่วนที่มีผลประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และเป้าหมายการพัฒนาร่วมกัน ซึ่งจีนมีจุดแข็งที่เชื่อมโยงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับการพัฒนา ร่วมมือด้านเศรษฐกิจได้โดยไม่มีเงื่อนไขทางการเมืองหรือค่านิยม และมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตสินค้าที่สำคัญตอบสนองความต้องการของตลาดโลก ซึ่งเห็นได้ชัดว่าดำเนินการควบคู่ไปกับ ข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI)
ส่วนขั้วที่สาม คือ ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจแบบพหุภาคี ที่จะมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และสามารถถ่วงดุลอิทธิพลทางเศรษฐกิจกับประเทศจีนและสหรัฐฯ ได้ เช่น G20 BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation)และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) เป็นต้น
การแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจ ปัญหาโลกร้อนและทรัพยากรธรรมชาติที่จำกัด ความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งทางการทหารระหว่างประเทศ การแข่งขันด้านเทคโนโลยี และการที่ขั้วอำนาจโลกแบ่งแยกออกเป็นหลายฝ่ายอย่างชัดเจน จะทำให้ประเทศต่าง ๆ เผชิญความท้าทายในการร่วมมือด้านเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะประเทศต่าง ๆ ต้องการรักษาผลประโยชน์ภายในประเทศ จนอาจเกิดบรรยากาศการดำเนินนโยบายปกป้องการค้า (protectionism) หรือความร่วมมือด้านการค้าที่มีลักษณะเฉพาะด้าน ไม่พึ่งพิงมหาอำนาจทางเศรษฐกิจประเทศเดียว และเป็นความร่วมมือที่ใช้การเจรจาต่อรองนาน เพราะทุกประเทศต้องการ win-win solution และความร่วมมือที่ได้ผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม
ไทยจะทำอย่างไร …. เพราะจะต้องเผชิญความท้าทายในการร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้ากับต่างประเทศมากขึ้น โดยมหาอำนาจก็มุ่งปกป้องผลประโยชน์ตนเองเป็นหลัก และยังใช้ประเด็นเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง รวมทั้งเป็นกลไกสร้างมาตรฐานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น คุณภาพสินค้าและแรงงาน ให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของตัวเอง
…จริง ๆ แล้วไทยมีพื้นฐานที่ดีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งของประเทศที่เชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ นอกจากนี้ ไทยมียังความร่วมมือและความสัมพันธ์ด้านการค้าและเศรษฐกิจกับทุกมหาอำนาจ ไทยน่าจะต้องรักษาดุลยภาพในความร่วมมือ แต่ก็ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับการพิจารณาผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจที่จะได้รับจากการร่วมมือกับประเทศมหาอำนาจที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชน นอกจากนี้ ความร่วมมือต่าง ๆ ต้องโปร่งใสและให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนรับทราบ เพราะประชาชนให้ความสนใจประเด็นเศรษฐกิจอย่างมาก รวมทั้งเชื่อมโยงความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจกับความน่าเชื่อถือและผลงานของรัฐบาล