หนึ่งในผลการประชุมในกรอบอาเซียนระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ครั้งที่ 55 หรือ ASEAN Ministries’ Meeting (55th AMM) เมื่อ 5 สิงหาคม 2565 ที่น่าสนใจและสะท้อนความคืบหน้าของอาเซียน คือ การเห็นชอบให้นาย Kao Kim Hourn รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนคนใหม่ แทนนาย Lim Jock Hoi เลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบัน ที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ มกราคม 2561
การเห็นชอบให้นาย Kao Kim Hourn เป็นเลขาธิการอาเซียนคนใหม่นี้ ไม่ใช่เป็นเพราะนาย Lim Jock Hoi ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหรือทำอะไรให้ใครไม่พอใจ แต่เป็นเพราะเขาจะครบวาระการดำรงตำแหน่งครั้งละ 5 ปีในปลายปีนี้ ซึ่งตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนกำหนดไว้แล้วว่าจะไม่สามารถต่ออายุหรือลงรับสมัครวาระที่ 2 ได้ ทำให้นาย Lim Jock Hoi ชาวบรูไน…จะต้องอำลาตำแหน่งไปตามกติกา และให้ผู้แทนจากสมาชิกอาเซียนที่มีตัวอักษรตัวแรกในภาษาอังกฤษเป็นลำดับถัดจาก “B” ของบรูไน คือ “C” ของกัมพูชา ได้ดำรงตำแหน่งนี้ต่อไปอีก 5 ปี
ประวัติของนาย Kao Kim Hourn ว่าที่เลขาธิการอาเซียนคนใหม่ที่จะต้องไปนั่งประจำการที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ปัจจุบันอายุ 56 ปี เป็นชาวกัมพูชาในจังหวัดกำปงจาม ทางตะวันออกของกัมพูชา ใกล้กับแม่น้ำโขง มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา และอยู่ในทีมที่ปรึกษาอาวุโสด้านเศรษฐกิจ (Supreme National Economic Council) ของรัฐบาลกัมพูชาด้วย แถมยังเป็นประธานและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย The University of Cambodia หนึ่งในมหาลัยที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับอย่างมาก
สำหรับประวัติด้านการศึกษา ตัวเขาได้รับการศึกษาทั้งปริญญาตรี-โท-เอกจากสหรัฐอเมริกา เพราะครอบครัวของเขาไปอยู่ที่นู่นในฐานะผู้ลี้ภัยตั้งแต่ปี 2524 จากนั้น นาย Kao Kim Hourn ก็เดินทางกลับมากัมพูชาตั้งแต่ปี 2536 และรับราชการกับหน่วยงานของรัฐบาลกัมพูชา รวมทั้งใน Think Tank ในกัมพูชา ได้แก่ Asia Economic Forum, Asian Faiths Development Dialogue และ Cambodian Institute for Cooperation and Peace (CICP) ผลงานที่สำคัญ คือ การเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้กัมพูชาได้เป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อปี 2542 รวมทั้งให้คำปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของกัมพูชามาโดยตลอด
แม้ว่าประวัติของนาย Kao Kim Hourn จะสะท้อนว่ามีความผูกพันกับสหรัฐอเมริกาที่เรียกได้ว่ามักวิจารณ์สถานการณ์การเมืองภายในของกัมพูชาและนโยบายต่างประเทศของกัมพูชาที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับจีน แต่ดูเหมือนว่าที่จริงแล้วเขามีผลงานสำคัญหลายอย่าง โดยนาย Kao Kim Hourn ทำให้กัมพูชาได้เพิ่มบทบาทในระดับภูมิภาค มีภาพลักษณ์ที่ดีด้านการพัฒนาการศึกษาและงานด้านวิชาการในประเทศ และมีเครือข่ายสถาบันวิชาการที่ทำให้กัมพูชาได้เชื่อมโยงความร่วมมือกับต่างประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งกับอาเซียน
นาย Kao Kim Hourn จึงได้รับความไว้วางใจจากนายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชาอย่างมาก ได้ทำงานสำคัญ ๆ ในกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชา และได้รับการเสนอตั้งแต่ปี 2562 ให้เป็นเลขาธิการอาเซียนคนใหม่ และคนแรกของกัมพูชา ที่จะดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2566-2570
บทบาทของเลขาธิการอาเซียน คือ การเป็นหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการอาเซียน หรือ ASEAN Secretariat ที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย โดยมีหน้าที่กำกับดูแลงานของอาเซียนในภาพรวม อำนวยความสะดวกและทำให้การดำเนินงานของอาเซียนเป็นไปตามกฎบัตร และแนวปฏิบัติของอาเซียน เข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ ทั้งกับอาเซียนและภาคีภายนอก โดยเลขาธิการอาเซียนจะต้องไม่รับคำสั่งของรัฐบาลประเทศใดประเทศหนึ่ง และต้องรับผิดชอบต่ออาเซียนเท่านั้น สำหรับไทยเคยมีผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน 2 คน ได้แก่ นายแผน วรรณเมธี ระหว่างปี 2529-2532 และนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ระหว่างปี 2551-2555
การเปลี่ยนแปลงเลขาธิการอาเซียนอาจไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อแนวทางดำเนินงานและความร่วมมือในกรอบอาเซียนมากนัก อย่างไรก็ตาม นาย Kao Kim Hourn จะมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ดูแลความเรียบร้อยและพูดคุยกับประเทศนอกอาเซียน อันนี้แหละที่น่าจะทำให้การทำงานของเลขาธิการอาเซียนคนใหม่เผชิญความท้าทาย… เพราะดูเหมือนว่า ประเทศอื่น ๆ กำลังกลับมาให้ความสนใจและอยากร่วมมือกับอาเซียนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมถึงสหรัฐอเมริกา รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป รวมถึงกลุ่มประเทศในแปซิฟิกใต้ ก็มอง ๆ และเข้าหาอาเซียน เพราะเป็นกลุ่มความร่วมมือที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างกันทั้งนั้น
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ติมอร์-เลสเต ประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ต้องการสมัครเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนอีก และหลาย ๆ ฝ่ายก็คาดว่า อาเซียนน่าจะเร่งกระบวนการเปิดรับติมอร์-เลสเตเป็นสมาชิกในปี 2566 หรือในช่วงที่อินโดนีเซียจะเป็นประธานอาเซียน…เรื่องนี้ก็อาจเป็นเรื่องที่เลขาธิการอาเซียนต้องทำงานหนัก เพื่อให้การเปิดรับสมาชิกใหม่ราบรื่นและตอบโจทย์สมาชิกเดิม รวมทั้งสมาชิกใหม่อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
ที่สำคัญก็คือ การทำให้อาเซียน บรรลุวิสัยทัศน์ ASEAN Community Vision 2025 ที่ครอบคลุมทั้ง 3 เสา ด้าน (1) การเมืองและความมั่นคง (2) เศรษฐกิจ และ (3) สังคมวัฒนธรรม ภายใต้ธีมที่ว่า “Integrating Countries, Integrating Development” ซึ่งอาเซียนจะเป็นกลไกรักษาสันติภาพและบรรยากาศที่เอื้อต่อความร่วมมือในภูมิภาค ทำให้เศรษฐกิจของอาเซียนเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก และทำให้อาเซียนมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี…ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก เพราะการเมืองโลกปัจจุบันเต็มไปด้วยการแข่งขัน ความขัดแย้ง ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน และความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นจากการที่ทุกประเทศต้องปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติเป็นหลัก
…แต่ไม่ว่าจะเผชิญความท้าทายในรูปแบบใด เชื่อว่า การทำงานของเลขาธิการอาเซียนจะยังได้รับการสนับสนุนจากไทย ซึ่งที่ผ่านมาก็สนับสนุนบทบาทของเลขาธิการอาเซียนมาโดยตลอด เพราะถือว่าเป็นช่องทางที่จะทำให้ความร่วมมือในภูมิภาคขับเคลื่อนไปได้อย่างโปร่งใสและทำให้อาเซียนยังคงเป็นสถาปัตยกรรมความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพต่อไปได้