ท่ามกลางความกังวลว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence :AI) หุ่นยนต์ หรือระบบอัตโนมัติ จะเข้ามาแทนที่และแย่งงานจากแรงงานมนุษย์ ข่าวสารความต้องการ “คนเก่ง” ที่เป็นแรงงานทักษะสูงที่มีคุณภาพ เปี่ยมไปด้วยความสามารถ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือที่เรียกว่า Talent ของประเทศต่าง ๆ ก็ปรากฏให้เห็นเป็นระยะและดูจะเพิ่มขึ้นตามความต้องการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เห็นได้จากการประกาศมาตรการจูงใจ พร้อมกับสิทธิพิเศษต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้เหล่าคนเก่งเข้ามาทำงาน จนทำให้เกิดบรรยากาศการแข่งขันแย่งชิงแรงงานกลุ่มดังกล่าวระหว่างประเทศต่าง ๆ ทั้งโซนตะวันตกและเอเชีย เช่น ยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ รวมถึงไทย และมีแนวโน้มจะดุเดือดขึ้นจนอาจกลายเป็น war for talent โดยเฉพาะในสาขาที่ขาดแคลน
อัตราการเกิดที่ลดลงในหลายประเทศจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเข้ามาเป็นทางเลือกและเริ่มจะกลายเป็นแรงงานหลักในบางวิชาชีพของเทคโนโลยีสมัยใหม่ตามกระแสเทคโนโลยีพลิกผัน ตลอดจนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในเชิงเศรษฐกิจ และเพิ่มความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต ส่งผลให้ภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมต้องพลิกและผันตัวเองให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยการดึง “คนเก่ง” ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติหรือคนในชาติที่ไปอยู่ต่างประเทศ เข้ามาร่วมขับเคลื่อน ฉวยและสร้างโอกาสใหม่ ๆ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจ เป็นกลยุทธ์เฉพาะหน้า/ระยะสั้นที่หลายประเทศเลือกใช้ ในห้วงที่การสร้างและพัฒนาบุคลากรในประเทศให้มีศักยภาพและมีทักษะสูงที่ตอบโจทย์ความต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องรีบทำ ต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล
การจะได้มาซึ่ง “คนเก่ง” ของประเทศต่างๆไม่ใช่เรื่องง่าย เฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา เห็นได้จากผลการจัดอันดับ Global Talent Competitiveness Index (GTCI) 2023 โดยสถาบัน INSEAD ร่วมกับ Portulans Institute และองค์กร Accenture ปรากฏว่า 10 ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดึงดูดบรรดา “หัวกะทิ” ให้เข้าไปทำงานและพักอาศัยในปี 2566 ยังคงเป็นประเทศหน้าเดิม เพียงแต่เปลี่ยนแปลงอันดับบ้าง (สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 1 ติดต่อกันมาถึง 10 ปี รวมทั้งสิงคโปร์ สหรัฐฯ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ นอร์เวย์ ออสเตรเลีย สวีเดน และสหราชอาณาจักร) โดยประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศร่ำรวย พัฒนาแล้ว มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งในแง่การดำรงชีวิต สังคมและสภาพแวดล้อม รวมถึงมีค่านิยมที่เปิดกว้างและมีโอกาสความก้าวหน้าในการทำงานและการเข้าถึงการศึกษา
สำหรับสิงคโปร์ หนึ่งเดียวในเอเชียที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของ GTCI และน่าจะคงรักษาอันดับดังกล่าวได้อีกในปีต่อ ๆ ไป รวมถึงอาจแซงขึ้นเป็นอันดับหนึ่งได้ในอนาคต ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างจริงจัง เพื่อเป็นทัพหน้าในการนำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง โดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือ ไม่เพียงลงทุนพัฒนาศักยภาพของชาวสิงคโปร์ เช่น ส่งเสริมให้ชาวสิงคโปร์ออกไปหาประสบการณ์ ฝึกงาน และเรียนรู้ในต่างประเทศผ่านโปรแกรม Global-ready Talent เพื่อสร้างคนเก่งให้มาสร้างชาติ แต่สิงคโปร์ยังมุ่งแสวงหาและดึงคนเก่งจากต่างชาติมาทำงานเพื่อเสริมทัพ และมีเป้าหมายจะทำให้สิงคโปร์เป็น “ศูนย์รวมของคนเก่งระดับโลก” (world-class talent pool) เพื่อโอกาสในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน พร้อม ๆ กับเป็นอีกช่องทางพัฒนาความรู้ความสามารถของชาวสิงคโปร์ไปในตัวจากการทำงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบรรดาหัวกะทิในด้านต่าง ๆ
ในส่วนของไทย ที่เปิดรับแรงงานต่างชาติทั้งผู้ที่เข้ามาใช้แรงงานและแรงงานทักษะสูง แต่ดูเหมือนว่าสัดส่วนของทั้งสองกลุ่มจะไม่สมดุลกัน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาใช้แรงงาน (แต่แรงงานไทยไปขายแรงงานในประเทศอื่น) ขณะที่แรงงานทักษะสูงที่ไทยต้องการเข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น อุตสาหกรรม S-Curve หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี กลับยังมีน้อย และยากที่ไทยจะพัฒนา “ผู้เชี่ยวชาญ” ในสาขาเหล่านี้ได้เองได้ทันเวลา การพึ่งพาผู้มีทักษะพิเศษจากต่างประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็น
การออกมาตรการดึงดูดใจเหล่าผู้มีทักษะพิเศษที่เป็นที่ต้องการตัว เช่น SMART Visa และ Global Digital Talent Visa เพื่อให้เข้ามาทำงานหรือลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นมาตรการเฉพาะหน้าที่ไทยเลือกนำมาใช้ ไม่ต่างจากประเทศอื่นที่มี visa พิเศษให้แรงงานคุณภาพที่ต้องการ เช่น สิงคโปร์มี Tech pass เพื่อดึงผู้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีขั้นสูงหรือมีประสบการณ์การบริหาร Tech Firm ฮ่องกงมีมาตรการ QMAS หรือ Quality MigrantAdmission Scheme เพื่อดึงคนที่มีความรู้ความสามารถ มีทักษะสูง มาทำงาน รวมถึงมี TechTAS หรือ Technology Talent Admission Scheme เพื่อดึงผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเป้าหมายได้แก่ AI, 5G, Cyber Security, Data Analytics, Fintech, Biotech, IC Design และ Micro Electronics ด้านมาเลเซียจัดตั้ง Talent Corporation Malaysia Berhad (TalentCorp) เป็นหน่วยงานทำหน้าที่ดึงดูดและพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถขั้นสูง
คำถามที่น่าคิดตามมาคือ…แล้วไทยจะดึงดูดคนคุณภาพได้มากน้อยแค่ไหน…เมื่อดูจากอันดับ GTCI โดยในปี 2566 ไทยหล่นไปอยู่ในลำดับที่ 79 จากลำดับที่ 75 เมื่อปี 2565…แล้วเขาเหล่านั้นจะทำงานและพึงพอใจกับบรรยากาศและวัฒนธรรมการทำงานแบบไทย ๆ หรือไม่ รวมทั้งจะอยู่นานพอจะสร้างผลสัมฤทธิ์ที่ก่อให้เกิด impact ต่อเศรษฐกิจไทยมั้ย ท่ามกลางความพยายามซื้อใจคนคุณภาพของนานาประเทศ โดยรายงาน GTCI คาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า การแย่งชิงกลุ่ม Talent จะยิ่งเข้มข้น เนื่องจากความไม่แน่นอนและความตึงเครียดระหว่างประเทศที่ส่งผลต่อสถานการณ์เชิงภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ ความต้องการบุคลากรคุณภาพจึงจะยิ่งสูงขึ้นในทิศทางเดียวกับความต้องการมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัยในครอบครอง
นอกจากดึงคนเก่งมาได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนเก่งต่างชาติหรือคนไทยคนเก่งที่กลับบ้านเกิด สิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือ ทำอย่างไรที่จะรักษายอดฝีมือเหล่านี้ไว้ให้ได้นานที่สุด โดยไม่หลุดลอยไปเมื่อมีการซื้อตัวหรือมองเห็นลู่ทางที่ดีกว่าจากการเสนอสิทธิพิเศษและสิทธิประโยชน์จากประเทศอื่นที่มีมาตรการดึงดูดคนเก่งเช่นกัน รวมทั้งเกิดภาวะสมองไหลเนื่องจากไม่พอใจบรรยากาศและวัฒนธรรมการทำงานหรือโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ ท่ามกลางความต้องการของหลายประเทศที่พร้อมจะให้ข้อเสนอที่ดีกว่า ดังนั้น การรักษาคนเหล่านี้ไว้เพื่อร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาตามเป้าหมาย จึงน่าจะเป็นความสำเร็จอย่างแท้จริงและยั่งยืนในการได้มาซึ่งคนเก่ง
อย่างไรก็ตามไม่เพียงคนเก่งจากนอกประเทศเท่านั้น ที่เป็นเป้าหมายในการดึงดูดและรักษาไว้ แต่คนเก่งในประเทศถือเป็นฟันเฟืองที่สำคัญกว่าที่ต้องสร้าง พัฒนา และรักษาไว้ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนและลดการพึ่งพาจากภายนอก และไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การทำให้เขาเหล่านั้นที่ต้องเป็นทั้งคนเก่งและคนดีรู้สึกและยอมรับว่าไทยคือ The best place to work and to live เพื่อโอกาสการเติบโตอย่างมั่นคงของไทยในระยะยาว