เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในโลกขณะนี้ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเอ่ยถึงภูมิภาคตะวันออกกลาง ภูมิภาคที่มีความสลับซับซ้อนในการทำความเข้าใจในด้านสงคราม ความขัดแย้ง สันติภาพและความมั่นคง มากที่สุดภูมิภาคหนึ่งของโลก เพราะผู้เล่นที่สำคัญในภูมิภาคนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ประเทศต่าง ๆ อย่าง ซาอุดีอาระเบีย อิสราเอล อิหร่าน รวมถึงตุรกี อียิปต์ เพียงเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทของกลุ่มติดอาวุธที่มีฐานที่มั่นอยู่ในภูมิภาค …..และขณะเดียวกันก็ยังมีตัวแสดงที่มีบทบาทและอิทธิพลต่อโลก ดังเช่นสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีนที่กำลังเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญ กับทั้งยังมีกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมที่เข้ามามีบทบาทในด้านมนุษยธรรมภายในภูมิภาคแห่งนี้ด้วย
ความขัดแย้งเหตุล่าสุดในภูมิภาคที่จะกล่าวถึงนี้คือ….เหตุสงครามระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอล ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากทั้งฝั่งอิสราเอลและฉนวนกาซาจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดวิกฤตการณ์ตัวประกัน ซึ่งกลุ่มฮามาสเป็นฝ่ายที่ใช้วิธีการโจมตีฝั่งอิสราเอลให้เสียหาย พร้อมกันกับจับตัวประกันทั้งชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติ ทำให้เหตุสงครามในขณะนี้กลายเป็นวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแต่ไทย เพราะมีแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันโดยกลุ่มฮามาสด้วย
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่โลกยังไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก แต่ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ คือเรื่องของอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นอาวุธระดับยุทธศาสตร์ของประเทศที่ครอบครองยุทโธปกรณ์ประเภทนี้ เมื่อกล่าวถึงอาวุธนิวเคลียร์ คนทั่วไปมักนึกถึงแค่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ รัสเซีย ที่เคยเป็นคู่แข่งกันมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น การเอ่ยแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าทั้งสองประเทศยกเลิกการแข่งขันแล้ว แต่เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ประเด็นด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ทั่วทั้งโลกให้ความสำคัญไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่เว้นแต่ไทย ดังจะเห็นได้ว่าไทยเป็นสมาชิกของสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Prohibition of Nuclear Weapons – TPNW) เป็นต้น
สำหรับภูมิภาคตะวันออกกลาง เป็นภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความมั่นคงทางนิวเคลียร์ด้วยเช่นกัน ซึ่งความขัดแย้งของอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในรอบล่าสุด ได้มีนัยต่อผู้เล่นในภูมิภาคที่มีความทะเยอทะยานในด้านอาวุธนิวเคลียร์ และเป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการลักลอบนำวัสดุหรือเทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์ไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ของกลุ่มก่อการร้ายอย่างไรก็ดี ในที่นี้จะมุ่งสำรวจให้เห็นถึงสถานะปัจจุบันของภูมิภาคตะวันออกกลางในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนิวเคลียร์ และนัยที่อาจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งระลอกปัจจุบัน
ประเด็นนิวเคลียร์ของอิหร่าน อิหร่านเป็นประเทศที่มีความสนใจด้านการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ โดยมีรายงานระบุการค้นพบว่าอิหร่านแอบทำโครงการการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมในปี 2545 ซึ่งนานาชาติเริ่มกังวลว่าอิหร่านอาจนำไปใช้ในทางที่ไม่ดี จนถึงปัจจุบัน อิหร่านมีวัสดุฟิสไซล์ (fissile material) เพียงพอที่จะสามารถผลิตหัวรบนิวเคลียร์ได้แล้ว แม้ว่าในปี 2558 อิหร่านยอมทำข้อตกลง JCPOA (Joint Comprehensive Plan of Action) ที่จำกัดการพัฒนาด้านนิวเคลียร์เพื่อแลกกับผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ แต่การที่สหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าวในปี 2561 ส่งผลให้อิหร่านไม่พอใจการกระทำของตะวันตก และมุ่งหน้าพัฒนาขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ของตนเองต่อไป จนถึงปัจจุบันแม้จะมีความพยายามรื้อฟื้นข้อตกลงดังกล่าว แต่ยังคงไม่มีความคืบหน้า
ในส่วนของมุมมองที่ประเทศอย่างอิสราเอลมีต่อโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ค่อนข้างไปในทางที่สุดโต่ง เนื่องมาจากความเป็นศัตรูของทั้งสองประเทศ ในบริบทของผู้ที่ติดตามสถานการณ์ในตะวันออกกลางมักจะกล่าวว่าทั้งสองประเทศกำลังทำสงครามเงา (Shadow War) ระหว่างกัน กล่าวคือ ทั้งสองประเทศไม่ได้ทำสงครามด้วยการใช้กองทัพรบกันโดยตรง แต่ใช้การโจมตีผ่านปฏิบัติการโจมตีทางไซเบอร์ การลอบสังหาร การใช้กลุ่มติดอาวุธ การใช้ปฏิบัติการทางข่าวสาร เช่น การที่อิสราเอลลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของอิหร่าน หรือการที่อิหร่านสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในเลบานอนเพื่อโจมตีอิสราเอล เป็นต้น สำหรับความสุดโต่งที่อิสราเอลมีต่ออิหร่านในด้านนิวเคลียร์ หมายถึงว่า อิสราเอลมองว่าอิหร่านพัฒนาโครงการนิวเคลียร์เพื่อต้องการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ให้ได้ และหนทางเดียวที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์นั้น คือการสกัดกั้นทุกวิถีทางไม่ให้อิหร่านไปถึงจุดนั้นได้
ปัญหาข้างต้นนี้มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เมื่อมองไปที่อิสราเอลด้วยเช่นกัน เพราะอิสราเอลเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ครอบครองหัวรบนิวเคลียร์ โดยมีข้อมูลจากการคาดการณ์อยู่ที่ประมาณ 90 ลูก กับทั้งอิสราเอลคงนโยบายนิวเคลียร์ที่แปลกกว่าทุกประเทศที่มี กล่าวคือ อิสราเอลไม่ยอมรับและไม่ปฏิเสธการมีอยู่ของหัวรบนิวเคลียร์ โดยหลังจากเกิดเหตุความขัดแย้งที่อิสราเอล-ฉนวนกาซาในรอบล่าสุด นาย Amihai Ben-Eliyahu ซึ่งเป็นรัฐมนตรีด้าน Jerusalem Affairs and Heritage ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในฉนวนกาซาเป็นหนึ่งในทางเลือกที่เป็นไปได้ของรัฐบาลอิสราเอล ……..อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีอิสราเอลออกมาปฏิเสธข่าวว่าไม่เป็นความจริง
นอกจากโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน และการครอบครองหัวรบนิวเคลียร์อย่างลับ ๆ ของอิสราเอลแล้ว อีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจคือซาอุดีอาระเบีย เพราะในมุมมองของโลกมุสลิม การที่อิสราเอลทำสงครามกับกลุ่มฮามาสซึ่งทำให้ชาวปาเลสไตน์ได้รับผลกระทบนั้น ย่อมส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นประเทศสำคัญของโลกมุสลิมต้องระมัดระวังตัวเองในการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับอิสราเอล หลังจากปรากฏข่าวอย่างต่อเนื่องว่าซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลอยู่ระหว่างการเจรจาทางลับเพื่อปรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ …..ในเรื่องนิวเคลียร์นั้น ผู้นำซาอุดีอาระเบียเคยกล่าวออกสาธารณะอย่างน้อยสองครั้งว่าหากอิหร่านผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ซาอุดีอาระเบียก็จะตามเหมือนกัน เพราะทั้งสองประเทศเป็นคู่แข่งทางด้านอุดมการณ์ทางศาสนามาเป็นเวลานานแล้ว
จากสถานการณ์ความขัดแย้งของอิสราเอลและฮามาสที่กำลังดำเนินอยู่นี้ ….จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีนัยต่อประเด็นความมั่นคงทางนิวเคลียร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง….โดยในขณะที่อิหร่านยังคงเป็นผู้สนับสนุนหลักของกลุ่มฮามาส ทั้งในรูปแบบของเงินทุน ด้านการเมือง การทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ อิหร่านก็ยังคงเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์ต่อไป ตราบใดที่การรื้อฟื้น JCPOA ยังไม่เป็นผล (แม้ว่าขณะนี้เริ่มมีข่าวว่าอิหร่านเริ่มพูดคุยในเรื่องนี้อย่างไม่เป็นทางการกับสหรัฐอเมริกาบ้างแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า) ยิ่งไปกว่านั้น การที่อิสราเอลครอบครองหัวรบนิวเคลียร์เพียงประเทศเดียวในภูมิภาค ย่อมทำให้ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคต้องตระหนักถึงประเด็นนี้เช่นกัน โดยเฉพาะอิหร่านซึ่งมองว่าการพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์ได้ อาจทำให้อำนาจต่อรองในภูมิภาคสูงขึ้น รวมถึงซาอุดีอาระเบีย ที่กำลังต้องการใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นแหล่งพลังงาน และไม่ยอมหากอิหร่านสามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อมองมาที่ไทย ….แม้ว่าไทยไม่ได้เป็นประเทศที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปผลิตอาวุธ เพราะไทยมีข้อผูกพันระหว่างประเทศหลายประการที่จำกัดการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อในทางสันติเท่านั้น ….อย่างไรก็ดี ไทยยังเป็นประเทศที่อาจเสี่ยงต่อการลักลอบขนส่งวัสดุหรือส่วนประกอบที่อาจเกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ได้ เพราะไทยเป็นประเทศที่มีการนำเข้า-ส่งออก หรือเป็นทางผ่านสินค้าของหลายประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการที่ดีในการกำกับตรวจสอบความเคลื่อนไหวของสินค้าเหล่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้วัสดุหรือเทคโนโลยีเหล่านี้ตกอยู่ในมือผู้ไม่หวังดีหรือผู้ก่อการร้าย