สถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในฉนวนกาซาที่เริ่มมาตั้งแต่ ตุลาคม 2567 ยังไม่มีสัญญาณว่าจะสิ้นสุดเร็ว ๆ นี้ แม้ว่านานาชาติและองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติ (United Nations) จะพยายามเรียกร้องให้กองทัพอิสราเอลชะลอหรือหยุดปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ที่มีพลเรือนชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่จำนวนมาก หรือยังไม่อพยพออกจากพื้นที่สงคราม (war zone) เนื่องจากความขัดแย้งครั้งนี้ทำให้มีรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 28,000 ราย ส่วนมากเป็นเยาวชน เด็ก และสตรี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
กองทัพอิสราเอลยกระดับปฏิบัติการโจมตีทางทหาร หรือปฏิบัติการ Swords of Iron ในฉนวนกาซามาโดยตลอด และยังไม่เปลี่ยนแปลงเป้าหมาย คือ “กวาดล้างกลุ่มฮะมาสไม่ให้สามารถกลับไปเป็นภัยคุกคามต่ออิสราเอลได้อีก” เป้าหมายของผู้นำอิสราเอลดังกล่าว ทำให้อาจวิเคราะห์ความมุ่งหมาย (motivation) ได้ว่า กองทัพอิสราเอลจะไม่หยุดความเคลื่อนไหวทางการทหาร จนกว่าสมาชิกกลุ่มฮะมาสระดับสำคัญ ๆ จะถูกกำจัด หรือประกาศยอมแพ้ต่ออิสราเอล
และ…จนถึงตอนนี้ดูเหมือนว่าไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ หรือสหประชาชาติ ก็ไม่อาจเปลี่ยนใจผู้นำอิสราเอลคนปัจจุบันได้ เพราะส่งผู้แทนไปเจรจากี่คนต่อกี่คน ก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าอิสราเอลจะเปลี่ยนยุทธศาสตร์ต่อสถานการณ์ครั้งนี้ และยังคงเน้นย้ำกับชาวอิสราเอลว่าต้องดำเนินการปฏิบัติการ Swords of Iron ต่อไป เพื่อช่วยเหลือตัวประกันที่คาดว่ายังมีชีวิตอยู่ในการควบคุมของกลุ่มฮะมาส และยังอยู่ในฉนวนกาซา
พัฒนาการของปฏิบัติการของกองทัพอิสราเอลมีตั้งแต่….การระดมโจมตีทางอากาศ การลาดตระเวนภาคพื้นดิน และขยายพื้นที่จากตอนเหนือของฉนวนกาซา ไปยังพื้นที่ตอนใต้ ซึ่งตอนนี้เป็นสมรภูมิสำคัญมานานกว่า 2 สัปดาห์ หรือพื้นที่ที่เรียกว่า เมือง Rafah ซึ่งได้รับความสนใจและความใส่ใจจากนานาชาติขึ้นมากอย่างมาก!! เพราะอะไร? ทำไมเหตุการณ์ในเมือง Rafah จึงกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจทำให้ความขัดแย้งในฉนวนกาซาครั้งนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่มากกว่าที่เคยเป็น
นั่นเป็นเพราะ Rafah เป็นเมืองสำคัญด้วยหลายเหตุผล และอาจเป็น “จุดเปลี่ยน” สถานการณ์ในครั้งนี้ด้วย
เมือง Rafah นี้ในอดีตเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ ปัจจุบันเป็น 1 ใน 5 เมืองสำคัญในฉนวนกาซา และเมืองหลวงของพื้นที่ทางตอนตะวันตกเฉียงใต้ของฉนวนกาซา เดิมทีก่อนที่จะมีความขัดแย้งรอบนี้ Rafah มีชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่ประมาณ 250,000 คน นอกจากจะเป็นเมืองใหญ่ที่มีคนอยู่อาศัยมากแล้ว ยังเคยมีท่าอากาศยานนานาชาติตั้งอยู่ที่นี่ (ปิดทำการไปแล้วเพราะมีเหตุรุนแรง)
นอกจากนี้ Rafah ยังมีพรมแดนติดกับอียิปต์ จึงเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่มีช่องทางเปิดสำหรับการเดินทางระหว่างอียิปต์-ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา หรือ Rafah Border Crossing เป็น “ช่องทางเดียว” ที่เชื่อมการเดินทางของมนุษย์ระหว่างฉนวนกาซากับอียิปต์ ส่วนอีกช่องทางนึง หรือประตู Salah al-Din นั้นสำหรับการส่งของระหว่างประเทศเท่านั้น
ดังนั้น ในช่วงที่สถานการณ์อิสราเอล-กลุ่มฮะมาสตึงเครียดรอบนี้ ทำให้เมือง Rafah ได้รับความสำคัญอย่างมาก ทั้งในช่วงที่ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลเริ่มต้นใหม่ ๆ เมืองนี้เป็น “ความหวัง” ทั้งด้านการอพยพไปอยู่และการเป็นเส้นทางผ่านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากนานาชาติที่จะเดินทางเข้าฉนวนกาซาผ่านพรมแดนอียิปต์
ในช่วงแรกของความขัดแย้ง ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากอพยพลี้ภัยสงครามและความสูญเสียจากภาคเหนือสู่ภาคใต้ ทำให้จำนวนประชากรในเมือง Rafah เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีรายงานว่า ใน กุมภาพันธ์ 2567 มีชาวปาเลสไตน์อยู่ในเมือง Rafah ประมาณ 1.3 ล้านคน !!! หนาแน่นมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ที่เคยมีคนอาศัยอยู่ก่อนแล้ว และมีจำนวนพื้นที่อยู่ประมาณ 64 ตารางกิโลเมตร จำนวนชาวปาเลสไตน์ที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่เริ่มสร้างคาวมกังวลให้ประเทศเพื่อนบ้านของฉนวนกาซาอย่าง “อียิปต์” เพราะกลัวว่าจะเกิดคลื่นผู้อพยพครั้งใหญ่ ที่อาจจะทำให้อียิปต์ปวดหัวในการบริหารจัดการความมั่นคงได้
ที่ผ่านมา อียิปต์ค่อนข้างแบ่งรับแบ่งสู้ในการช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ที่ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เช่น บาดเจ็บสาหัส หรือเป็นชาวต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ แต่…อียิปต์เองก็มีความลำบากในการรับมือกับสถานการณ์ที่ยืดเยื้อมามากกว่า 4 เดือน แถมยังไม่สามารถโน้มน้าวผู้นำอิสราเอลให้เปลี่ยนใจเรื่องการหยุดยิงได้ …เมือง Rafah ไม่สามารถทำหน้าที่เป็น “ทางเชื่อม” ไปยังความปลอดภัยในอียิปต์ได้ แถมยังไม่สามารถเป็น “ช่องทาง” ลำเลียงความช่วยเหลือไปให้ชาวปาเลสไตน์ได้เพียงพออีก
สถานการณ์ในเมือง Rafah ตอนนี้ย่ำแย่ลงไปอีก และเมือง Rafah กลายเป็นจุดศูนย์กลางความสนใจของสื่อมวลชนทั่วโลก เมื่อกองทัพอิสราเอลทำให้เมือง Rafah กลายเป็นสมรภูมิ ด้วยการเริ่มปฏิบัติการกวาดล้างสมาชิกกลุ่มฮะมาสในพื้นที่ Rafah เพราะเชื่อว่ามีสมาชิกกลุ่มฮะมาสหลบซ่อนและเคลื่อนไหวอยู่ รวมทั้งเชื่อว่ามีตัวประกันบางส่วนถูกควบคุมตัวเอาไว้ในพื้นที่นี้ด้วย ดังนั้น อิสราเอลมีเหตุผลมากพอที่จะปฏิบัติการทางทหาร แม้ว่าจะมีพลเรือนชาวปาเลสไตน์ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จนมีการเรียกพื้นที่นี้ว่า “เรือนจำกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก” เพราะชาวปาเลสไตน์ถูกบีบให้อยู่ในพื้นที่นี้ และเสี่ยงโดนลูกหลงจากสงครามอยู่ทุกวัน
เหตุการณ์ในเมือง Rafah จึงมีโอกาสเป็น “ทางแพร่ง” หรือ dilemma ที่สำคัญในสถานการณ์ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ครั้งนี้ เพราะสภาพการณ์ในพื้นที่น่าเป็นห่วงหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปฏิบัติการทหารของอิสราเอลที่ยังไม่มีวี่แววจะยกเลิก ความเคลื่อนไหวของกลุ่มฮะมาสและตัวประกันที่ไม่แน่ใจว่าอยู่ตรงไหนหรือเคลื่อนไหวอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ …พลเรือนชาวปาเลสไตน์จำนวนมากตกอยู่ในความเสี่ยงสูง ในระดับวิกฤตด้านมนุษยธรรม ขณะเดียวกัน นานาชาติ มหาอำนาจ หรือองค์กรระหว่างประเทศใดก็ยังไม่มีอำนาจมากพอจะหยุดสงครามนี้ได้
…อย่างไรก็ตาม การที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาออกมาเคลื่องไหวเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567 เตือนอิสราเอลอย่างจริงจังมากกว่าหลายครั้งที่ผ่านมา เพื่อให้หลีกเลี่ยงการโจมตีพลเรือน..อาจเป็นลางบอกเหตุว่าสหรัฐอเมริกากำลังจะบอกให้อิสราเอลคิดใหม่อีกครั้ง ก่อนที่สหรัฐอเมริกาอาจต้อง…เข้าไปเปลี่ยนแปลงทิศทางสถานการณ์นี้ เพื่อไม่ให้ลุกลามบานปลายกลายเป็นผลกระทบต่อเพื่อนบ้านของฉนวนกาซา รวมทั้งอียิปต์…ที่ตอนนี้เองก็ติดตามการตัดสินใจของอิสราเอลอย่างใกล้ชิดเช่นกัน …ทั้งสหรัฐฯ และอียิปต์ต่างมีความสำคัญต่ออิสราเอล ดังนั้น หากอิสราเอลตัดสินใจผิดพลาดในเมือง Rafah อาจจะไม่เป็นผลดีต่อความมั่นคงของอิสราเอลในระยะยาวได้….