“ลูกลม” หรือ “กังหัน” ลูกลมเป็นทั้งของเล่นและเครื่องมือไล่นก ลูกลมเป็นของเล่นชนิดหนึ่งที่มีเล่นกันทั่วไปในชนบทที่เป็นท้องทุ่ง หรือชื่อเรียกอย่างอื่นตามภูมิภาคต่าง ๆ ในวันนี้มีสถานที่แห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.ตรัง ที่ยังคงมีลูกลมให้ได้เห็นกัน เพราะจังหวัดมีพื้นที่ทำนาขนาดใหญ่ และมีเรื่องเล่าเป็นตำนานว่าพระพายเจ้าแห่งลมได้รับหน้าที่เฝ้านกกาไม่ให้มากินข้าวในนา แต่บ่อยครั้งที่พระพายต้องไปอยู่เวรพัดลมให้เทวดา จึงมอบหมายให้ผู้เป็นลูกซึ่งเรียกกันว่า “ลูกลม” ทำงานแทน โดยคอยเฝ้าโห่ไล่นกกา ลูกลมค่อนข้างขี้เกียจแต่มีปัญญาดีจึงเอาไม้ไผ่มาเหลาให้แบน ๆ หลายอัน แล้วคาดทับกันเป็นกากบาทเพื่อดักลม พอลมพัดมาก็จะหมุนและเกิดเสียงดังจนนกกาตกใจหนีไป เมื่อพระพายมาเห็นเข้าก็พอใจ เอาไปกราบทูลพระอินทร์ พระอินทร์พอพระทัยรับสั่งให้พระวิษณุเอาไปเผยแพร่ให้แก่เหล่ามนุษย์จนเป็นที่แพร่หลายไปทั่ว และเรียกชื่อว่า “ลูกลม”
การทำลูกลมนั้นต้องอาศัยลมเป็นหลัก โดยจะเริ่มทำกันเมื่อลมตะวันออก หรือลมว่าว ที่เป็นลมที่พัดมาจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก โดยพัดมาประมาณเดือนมกราคม – มีนาคม ของทุกปี และเป็นช่วงเวลาซึ่งตรงกับเวลาที่ข้าวเริ่มสุกไปจนเกี่ยวข้าวเสร็จ ลูกลมเป็นประเพณีโบราณนับร้อยปีของชาวบ้านลุ่มน้ำคลองนางน้อย อันเป็นพื้นที่เกษตรกรรมโบราณที่ใหญ่ที่สุดใน จ.ตรัง คือ บริเวณพื้นที่ ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง สิ่งสำคัญในการเล่นลูกลมคือการทำให้มีเสียงร้องที่ไพเราะและดังไปไกล ส่วนผลพลอยได้คือเสียงลูกลมจะทำให้นกตกใจไม่กล้าลงมากินข้าวในนา
………ลูกลมจึงสัมพันธ์กับฤดูกาลและวิถีชาวนาตรัง กลไกของลูกลมคล้ายกังหันคือใช้ลมเป็นตัวขับคลื่อน ลูกลมมีเสียงดังก้อง ดังไปไกลถึง 3 กิโลเมตร เพราะการกลไกที่ติดไว้สองข้างเปรียบเหมือนลิ้น เมื่อตัวกังหันแกว่งด้วยแรงลม ปากลูกร้องกระทบกับแรงลม จึงทำให้เกิดเสียงดังยิ่งลมพัดแรงตัวกังหันแกว่งเร็ว ทำให้เกิดเสียงแหลมต่อเนื่องเรียกกันว่า “ลิ้นลมเอ่ย” คล้ายการเอ่ยบทร้องของหนังตะลุง จึงเป็นที่มาของชื่อ ส่วนใหญ่ลูกลมจะพบได้ทางใต้ จากเดิมมักติดตั้งลูกลมไว้บนยอดไม้ที่มีลำต้นสูงและแข็งแรงใกล้ศาลาพัก เพื่อให้ผู้พักได้พักทั้งกายและและใจ ได้ฟังเสียงลูกลมและเอาไว้ไล่นกไล่กาตอนทำนา นอกจากนี้ยังช่วยบอกทิศทางลมด้วย
ขั้นตอนการทำลูกลมส่วนที่สำคัญคือการทดสอบ ก่อนนำลูกลมไปปัก ช่างลูกลมต้องทดสอบก่อน ถ้าเป็นลูกลมขนาดเล็ก จะให้เด็กชายวัยรุ่นพาวิ่ง โดยจับคันเลาเอาไว้ และให้นายช่างฟังเสียงดู ถ้าเสียงยังไม่กลมกลืน นำมาพอกขี้ผึ้งชันโรงที่ปากลูกร้องใหม่ ก่อนนำไปวิ่งทดลองเสียงจนเป็นที่ถูกใจ ส่วนลูกลมขนาดใหญ่จะถือนำวิ่งไม่ได้ ต้องปักไว้กับต้นไม้เตี้ย ๆ อาจต้องใช้เวลาหลายวันหรือเกือบสัปดาห์ให้แน่ใจว่าไม่มีความผิดพลาดก่อนนำไปปักบนต้นไม้สูง ๆ การทำลูกลมในสมัยโบราณแต่ก่อนมีเพียง กระดาษ ไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้คำจัด ไม้มุก ไม้เป้อ ไม้ปอจง หวายหรือย่านลิเภาแค่นั้น
……..ซึ่งในปัจจุบันเองมีการปรับเปลี่ยนให้เกิดความสวยงามตามยุคสมัย เริ่มจากการพับกระดาษของเล่นเด็ก ๆ ทำเป็นรูปวงกลมโดยพับให้โต้ลมได้ ต่อมามีการใช้กาบไม้ไผ่ ตัดเป็นชิ้นทำเหมือนกระดาษโดยผ่าเหล่าให้ได้ขาดอย่างสวยงาม
นอกจากนี้การปักลูกลมขนาดใหญ่ จะต้องมีพิธีรีตอง บอกกล่าวชาวบ้านเพื่อนฝูงมาร่วมนับร้อย นิมนต์พระภิกษุอย่างน้อย 5 รูป มาเจริญพุทธมนต์ และฉันภัตตาหารเพล ประพรมน้ำพุทธมนต์ โดยมีพระสงฆ์ที่เป็นที่นับถือของชาวบ้านทำพิธีเจิมลูกลมด้วย เพื่อเป็นสวัสดิมงคลตามความเชื่อของชาวบ้านในพื้นที่ ถัดจากนั้นชายฉกรรจ์ของหมู่บ้านช่วยกันติดตั้งบนต้นไม้ที่กำหนดไว้ ร่วมกันพูดคุยและรับประทานอาหาร
สำหรับปีนี้ จะมีการจัดงานระหว่างวันที่ 1 – 5 มีนาคม 2567 ภายใต้ชื่อ “งานเทศกาลลูกลม ชมถ้ำเขาช้างหาย เรียนรู้วัฒนธรรมนาหมื่นศรี ครั้งที่ 26 ประจำปี 2567” บริเวณหน้าถ้ำเขาช้างหาย ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง จากหลายปีที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมโดยนำเสนอในรูปแบบแข่งขันลูกลม การแสดงพื้นบ้าน การออกร้านชุมชน การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมนาหมื่นศรี รวมถึงการแสดงแสง สี เสียง นิทรรศการ ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ลิเกป่า และมโนราห์
กล่าวได้ว่า “ลูกลม” ที่ “นาหมื่นศรี” นั้นมีความเชื่อมโยงกับความเชื่อ การเคารพในธรรมชาติผ่านตัวแทนความศักดิ์สิทธิ์แห่งเทพธรรมชาติ แต่อาจเป็นกุศโลบายที่มีนัยซ่อนอยู่ก็เป็นไปได้ โดยอย่างน้อยคนในชุมชนได้มีการมีส่วนร่วมในการสืบสานวิถีชีวิตดั้งเดิมที่มีมายาวนาน เป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ สานสัมพันธ์ภายในครอบครัว สิ่งเหล่านี้ล้วนจะเป็นการต่อลมหายใจให้ “ลูกลม” ได้ส่งเสียงหวีดหวิวต่อไป เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น
อ้างอิง
https://www.sac.or.th/databases/traditional-objects/th/equipment-detail.php?ob_id=486