การประชุมระดับนานาชาติที่มีผู้แทนจากหลากหลายประเทศเข้าร่วมในปัจจุบัน นอกจากจะเป็นเวทีให้บุคคลจากประเทศต่าง ๆ ได้ไปพบและพูดคุยกันแล้ว การประชุมนานาชาติในลักษณะนี้ได้กลายเป็น “เครื่องมือ” เพื่อดำเนินนโยบายของประเทศต่าง ๆ เช่น การใช้โอกาสในการประชุมเพื่อเป็นพื้นที่ประกาศนโยบายต่อประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ การจัดการประชุมแต่ละครั้งมักจะตามไปด้วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว หรือที่รู้จักกันในชื่อ MICE Tourism ที่หมายถึง การท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการประชุม (Meetings) การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลให้พนักงานในองค์กร (Incentives) การจัดประชุมนานาชาติ (Conferences) และการจัดงานแสดงสินค้า (Exhibitions)
…อาจเรียกได้ว่าการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้กำลังเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมหรือการประชุมนานาชาติมากขึ้น เพราะนอกจากเรื่อง “เนื้อหาสาระ” ที่เกิดขึ้นในการประชุมแล้ว ประเทศที่เป็นเจ้าภาพยังได้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุมด้วย
การท่องเที่ยวแบบ MICE Tourism ไม่ใช่เรื่องไกลตัวประเทศไทยหรือประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย เพราะทุกครั้งที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานกิจกรรมระดับนานาชาติ ก็จะมีการใช้แนวคิดอุตสาหกรรม MICE Tourism นี้มาเป็นกรอบที่ทำให้มีภาคส่วนต่าง ๆ เข้าไปสนับสนุนการจัดการประชุม การรับรองแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมประชุม และการท่องเที่ยวเพื่อเปิดประสบการณ์ด้านวัฒนธรรมด้วย
ดังนั้น เมื่อมีการประชุมนานาชาติเกิดขึ้นที่ไหนก็ตาม อยากฝากให้ลองเปิดมุมมองเกี่ยวกับ “อุตสาหกรรม” ที่เกิดขึ้นระหว่างนั้นด้วย นอกเหนือจากการ focus ไปที่เรื่องเนี้อหาสาระจากการประชุม ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ แต่หากเราเข้าใจเป้าหมายในการจัดการประชุมได้มากกว่าเรื่อง content ก็จะทำให้สามารถเข้าใจและเตรียมพร้อมในการส่งผู้แทนของประเทศไทยไปเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ ในพื้นที่ที่แตกต่างกัน โดยได้รับประโยชน์มากที่สุด
เหตุการณ์นึงที่เพิ่งผ่านไปไม่นาน และอยากจะยกเป็นตัวอย่างของการจัดการประชุมนานาชาติที่ได้ประโยชน์ทั้งในด้านเนื้อหาสาระ และการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คือ การประชุม Raisina Dialogue ที่ประเทศอินเดีย ไม่นานมานี้เมื่อ 21-23 กุมภาพันธ์ 2567 พี่ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียใต้อย่างอินเดีย เพิ่งเสร็จสิ้นการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติที่มีชื่อว่า Raisina Dialogue ครั้งที่ 9 ไปเรียบร้อย ซึ่งการประชุมนี้เป็น event ที่สถาบันวิชาการ Observer Research Foundation ร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเจ้าภาพมาโดยตลอด ถือว่าเป็นเวทีใหญ่ที่รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญถือว่าเป็น flagship เพื่อให้อินเดียมีโอกาสได้เชิญผู้แทนต่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างการประชุมนี้
ขอสรุป “เนื้อหาสาระ” สำหรับการประชุมในปีนี้ เรามีข้อสังเกตว่า เค้าเน้นประเด็นสำคัญต่ออินเดีย และประเด็นสำคัญต่อโลกกันอยู่ 6 เรื่อง ได้แก่ การออกกฎระเบียบจัดการกับเทคโนโลยี การสร้างสันติภาพ การจัดการภาวะสงคราม การทำให้กรอบความร่วมมือแบบพหุภาคีปราศจากการครอบงำโดยประเทศใดประเทศหนึ่ง การให้ความสำคัญกับความมั่นคงมนุษย์ และการปกป้องประชาธิปไตย… หากเราสังเกตดี ๆ เรื่องเหล่านี้ล้วนแต่มีผลประโยชน์แห่งชาติของอินเดียผสมอยู่ด้วยอย่างมาก ที่ชัดเจนมาก ๆ อาจเป็นเรื่องประชาธิปไตย และเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือแบบพหุภาคี ที่เป็นเรื่องที่รัฐบาลอินเดียผลักดันในนโยบายต่างประเทศมาตลอด เพราะ 2 เรื่องนี้จะช่วยส่งเสริมบทบาทของอินเดียในเวทีโลกให้ชัดเจน และมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมมหาอำนาจอื่น ๆ มากขึ้น ตามเป้าหมายการดำเนินนโยบายเพื่อให้อินเดียเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของโลก
เท่ากับว่า อินเดียจัดการประชุมนานาชาติเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารกับประชาคมระหว่างประเทศว่าอินเดียให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร และการประชุมนี้อาจเป็นโอกาสให้อินเดียพิสูจน์ให้ผู้แทนจากทั่วโลกเห็นว่าประเทศนี้มีศักยภาพในการผลักดันวาระสำคัญ ๆ ของโลก ทั้งเรื่องสันติภาพ เรื่องเทคโนโลยี และเรื่องความร่วมมือแบบพหุภาคี หรือ multilateral รวมทั้งการปฏิรูปองค์กรระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ (United Nations- UN) ให้ปราศจากอิทธิพลของมหาอำนาจประเทศใดประเทศหนึ่ง นอกจากนี้ ปีนี้มีไฮไลท์ที่สำคัญ คือ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ ของอินเดีย ขึ้นกล่าวในงานประชุมนี้อย่างเป็นทางการด้วย
ไปต่อกันที่เรื่องประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตามรูปแบบ MICE Tourism ที่เป็นเหมือน “ผลประโยชน์ก๊อก 2” ที่อินเดียได้รับจากการจัดการประชุม Raisina Dialogue…เนื่องจากการประชุมนี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 วัน ที่กรุงนิวเดลี มีผู้เดินทางจากต่างประเทศไปเข้าร่วมมากกว่า 2,500 คน จาก 115 ประเทศ มีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นักการทูต ผู้สื่อข่าว นักธรุกิจ ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศและนักวิชาการ ซึ่งเท่ากับว่าจะมีคนเดินทางไปประเทศอินเดียจำนวนมาก ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวตามโมเดล MICE Tourism ขายได้ในช่วงที่มีการประชุม เพราะผู้ที่มาเข้าร่วมการประชุมจำเป็นต้องจองที่พักอาศัย ต้องมีการจัดการเตรียมพร้อมการเดินทางเพื่ออำนวยความสะดวก และแน่นอนต้องมีการ “ท่องเที่ยว” ในอินเดียเพื่อให้ได้ประสบการณ์คุ้มค่ากับการไปเยือนอินเดียที่มีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจและมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ตามชื่อนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของอินเดียที่เรียกว่า “Incredible India”
สรุปแล้วบทความเรื่องนี้อยากจะชวนให้เรามองเรื่องสถานการณ์ระหว่างประเทศในหลาย ๆ มุม อย่างเช่นการจัดประชุมหรือมหกรรมสินค้าการแสดงใหญ่ ๆ ก็อาจเป็นทั้งการดำเนินนโยบาย คู่กับการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศด้วย …ดังนั้น ในอนาคตถ้าประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานสำคัญ ๆ ระดับนานานาชาติ ก็อยากจะให้มองเป็นโอกาสของประเทศในอีกหลายๆด้าน โดยเฉพาะการที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะมีโอกาสจากการจัดอีเว้นท์ต่าง ๆ ไปด้วย อย่างเช่นที่อินเดียได้ประโยชน์จากการจัดประชุม Raisina Dialogue ครั้งนี้