ในยุคที่คนรุ่นใหม่เลือกที่จะอยู่เป็นโสด ไร้คู่ หรือไม่มีบุตรกันมากขึ้น สุนัข แมว นก รวมถึงสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ กลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่คอยทำหน้าที่เป็นเปรียบเสมือน “เพื่อนและครอบครัว” ที่คอยเยียวยาจิตใจจากสภาพสังคมที่วุ่นวายให้คลายเครียดและห่างไกลจากภาวะซึมเศร้า มีงานวิจัยค้นพบว่าการใช้ pet therapy นั้นช่วยลดภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยได้ ดังนั้น เมื่อสัตว์เลี้ยงดูแลเรา แล้วใครกันที่จะเป็นผู้ดูแลสัตว์เลี้ยงเหล่านั้น
ด้วยความต่างของเผ่าพันธุ์ เป็นเรื่องยากที่มนุษย์จะเข้าใจธรรมชาติของสัตว์ได้ทั้งหมด เมื่อสัตว์เลี้ยงป่วย เจ้าของจะพาไปที่คลีนิครักษาสัตว์ หรือโรงพยาบาลสัตว์ ซึ่งมีอยู่น้อยหากเทียบกับจำนวนสัตว์เลี้ยงที่มีอยู่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อาการป่วยของสัตว์เลี้ยงจะถูกละเลย ไม่ได้รักษาอย่างถูกวิธี จนทำให้เสียชีวิตในที่สุด การดูแลรักษาสัตว์เลี้ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก
ปัจจุบัน ธุรกิจสินค้าและบริการสัตว์เลี้ยง เติบโตอย่างรวดเร็ว เฉลี่ยปีละ 7.2% ตามจำนวนสัตว์เลี้ยงและการให้ความสำคัญกับวิธีการเลี้ยงสัตว์มากขึ้น แต่ในแง่ของการรักษาแก้ไขปัญหายังคงเข้าถึงได้ยาก หากเทียบกับการบริการการแพทย์แล้วยังมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะการบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ (Tele Medicine) ซึ่งทำให้คนไข้ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา นั่นเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง หรือผู้สูงวัยที่ทำการตรวจเช็คร่างกายเป็นปกติ เป็นการลดภาระของคนไข้และโรงพยาบาลเพื่อให้คนไข้สามารถพักฟื้นได้ในสถานที่ที่เหมาะสม และแพทย์สามารถดูแลคนไข้ได้มากขึ้น
ลองคิดดูสิว่า ….จะดีแค่ไหนหากเจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่ต้องพาสัตว์ไปหาหมดทุกครั้งเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอาการแปลกไป เมื่อสัตว์เลี้ยงไม่สามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้โดยตรงเจ้าของจึงมักเกิดความวิตกกังวล เมื่อสัตว์เลี้ยงของพวกเขามีอาการแปลกๆ
จากการสำรวจพบว่า การเข้าพบสัตวแพทย์ส่วนใหญ่นั้นมีสาเหตุเพียงเล็กน้อย หรือเป็นอาการที่เกิดจากอารมณ์ของสัตว์ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้วิทยาการทางการแพทย์ในการรักษา เพราะสัตว์เองก็มีอารมรณ์เบื่อ เศร้า เหงา ที่อาจจะทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนไปจนเจ้าของคิดว่านั่นคืออาการป่วย ดังนั้น สัตวแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านสัตว์ในแต่ละชนิดจะสามารถให้คำแนะนำในการดูแล หรือเป็นที่ปรึกษาในการเลี้ยงผ่านระบบออนไลน์ได้เช่นกัน โดยเฉพาะสัตว์สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ถูกนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง เช่น กิ้งก่า งู แมงมุม และชูก้าร์ไรเดอร์ หรือสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อเสริมความมงคล เช่น นกยูง หงส์ ปลามังกร การดูแลสัตว์ที่มีมูลค่าสูงเหล่านี้ต้องใช้ความรู้ในการดูแลที่มีความแตกต่างจากสัตว์เลี้ยงทั่วไป ผู้เลี้ยงจะขาดประสบการณ์ในการเข้าใจพฤติกรรมของสัตว์ จำเป็นต้องมีที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำอยู่อย่างสม่ำเสมอ หรือการดูแลในลักษณะของการเป็น เทรนเนอร์ ที่ไม่ใช่แค่การฝึกคำสั่งเท่านั้น แต่หมายถึงการเฝ้าดูและติดตามสุขภาพของสัตว์เลี้ยงให้แข็งแรงอยู่เสมอ ถือเป็นการดูแลสุขภาพเชิงรุกเพื่อให้สัตว์เลี้ยงอยู่กับเราได้อย่างยาวนาน
การใช้ Tele medical สำหรับสัตว์ จึงเป็นบริการที่ได้รับความสนใจอย่างมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะการใช้ tele medical สำหรับการทำปศุสัตว์ แม้จะไม่ได้ให้ประโยชน์ทางใจอย่างสัตว์เลี้ยง แต่ความเสียหายจากการติดโรคและล้มป่วยของฟาร์มปศุสัตว์นั้นก็มีมูลค่าสูงเช่นกัน จึงต้องการการดูแลจากสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิด ไม่แตกต่างจากฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ที่ต้องมีห้องทดลอง (Labratory) เพื่อใช้ในการทดสอบการติดโรคและคุณภาพของสิ่งแวดล้อมในการเลี้ยงดูสัตว์ให้เพื่อปริมาณและคุณภาพตามที่คาดหวังไว้ ตามรูปแบบของการเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture)
…….จะเห็นได้ว่าอุปสงค์ของการบริการดูแลรักษาสัตว์เลี้ยงมีสูงกว่าอุปทาน การทำบริการ Tele medical จะช่วยลดช่องว่างนี้ลงได้ และไม่เพียงเท่านั้น เพื่อดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงยังต้องดำเนินการเสริมบริการและความรู้ให้กับร้านขายอุปกรณ์หรืออาหารสัตว์ คลินิกตัดแต่งขน ให้สามารถแก้ไขปัญหาเบื้องต้นของสัตว์เลี้ยงก่อนถึงโรงพยาบาลสัตว์ เพื่อลดภาระของโรงพยาบบาลที่คับคั่ง และลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียสัตว์เลี้ยงแสนรักลงไปด้วย