รถไฟสีขาวที่แตกต่างไปจากรถไฟแบบเดิม ๆ ที่คนไทยคุ้นเคย มีชื่อเรียกว่า “KIHA 183” ซึ่งเป็นรถไฟที่มาจากเกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ในอดีตเคยให้บริการอยู่กับ Hokkaido Railway Company หรือ JR Hokkaido โดยรถไฟรุ่นนี้เป็นรถที่สร้างและพัฒนาโดยการรถไฟแห่งชาติญี่ปุ่น (Japan National Railway : JNR) และประจำการอยู่ในหลายพื้นที่ หนึ่งในนั้นคือ JR Hokkaido ซึ่งในเซ็ตของขบวนรถประกอบด้วยรถไฟ 2 รุ่น คันที่มีห้องขับเราเรียกว่า KIHA 183 ทำหน้าที่เป็นตู้แรกและตู้สุดท้ายของขบวน และ KIHA 182 เป็นรถไม่มีห้องขับอยู่ตรงกลาง ทั้งนี้แม้ว่าจะมีรถไฟรุ่น 182 ผสมอยู่ในขบวน โดยส่วนใหญ่ก็ยังคงเรียก KIHA 183 เป็นหลักมากกว่า
รถไฟของประเทศญี่ปุ่น นับได้ว่าเป็นหนึ่งเทคโนโลยีอันดับต้น ๆ ของโลก ที่มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และเปลี่ยนรุ่นขบวนรถไฟอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งรถไฟญี่ปุ่นจะใช้งานเฉลี่ยเพียง 30 ปี ขณะอายุการใช้งานสูงสุดได้เต็มที่ถึง 50 ปี สมรรถภาพของ KIHA 183 เป็นรถดีเซลราง (Diesel Multiple Unit : DMU) ที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องมีหัวรถจักรลากจูง ข้อเด่นของรถดีเซลรางคือมีความคล่องตัวสูง หัวและท้ายขบวนเป็นรถประเภทที่มีห้องขับ รถทุกคัน (หรือบางคัน) มีอุปกรณ์ในการขับเคลื่อน แรงม้าไม่สูงมากเน้นการช่วยกันฉุดลาก จึงทำให้ทำความเร็วได้ดีกว่ารถไฟประเภทที่ต้องใช้หัวรถจักรในการลากจูง ซึ่งแม้ว่าจะมีแรงม้าที่สูง แต่การฉุดลากรถพ่วงที่ไม่มีกำลังด้วยน้ำหนักหลายร้อยตันนั้น ทำให้การเร่งตัวเป็นไปได้ช้ากว่ารถดีเซลราง จึงเหมาะสมในการใช้งานกับรถโดยสารค่อนข้างมาก
รถไฟ KIHA 183 (คันมีห้องขับ) แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ด้านหน้าสุดเป็นห้องขับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่ารถไฟทั่วไปและเป็นเอกลักษณ์ของรถดีเซลรางของญี่ปุ่น ถัดจากห้องขับมาเป็นส่วนของห้องเครื่อง และหลังจากห้องเครื่องไปเป็นห้องโดยสาร มีที่นั่งเบาะกำมะหยี่แบบปรับเอนได้จำนวน 40 ที่นั่ง รถมีห้องขับจะไม่มีห้องน้ำในตู้ ต้องเดินไปเข้าห้องน้ำที่รถไม่มีห้องขับแทน ส่วนตู้โดยสารแบบ KIHA 182 เป็นห้องโดยสารยาวตลอดแนว นั่งเป็นเบาะปรับเอนได้จำนวน 68 ที่นั่ง มีห้องน้ำระบบปิด พร้อมเตียงเปลี่ยนผ้าอ้อม โดยเมื่อประกอบขบวนรถแล้ว จะใช้ความเร็วสูงสุดในการเดินรถ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง มีความเร็วเทียบเท่ากับรถไฟดีเซลราง THN ของประเทศไทย
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รับมอบรถไฟ KIHA 183 และ KIHA 182 จากบริษัท JR Hokkaido จำนวน 17 คัน โดยเป็นรถรุ่น KIHA 183 (มีห้องขับ) แบบห้องขับสูงจำนวน 8 คัน และแบบห้องขับต่ำจำนวน 1 คัน ส่วนรุ่น KIHA 182 (ไม่มีห้องขับ) มีจำนวน 8 คัน ซึ่งเป็นการรับมอบรถโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ รฟท. เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเฉพาะการขนส่งจากญี่ปุ่นมาไทย (งบประมาณในการขนส่ง 42.5 ล้านบาท และค่าปรับปรุงตัวรถอีกคันละ 16 ล้านบาท) ซึ่งก่อนหน้านั้นไทยเราก็เคยรับบริจาครถไฟใช้แล้วจากบริษัท West Japan Railway Company หรือ JR West
รถไฟ KIHA ที่เราได้รับมาครั้งนี้ ยุติการให้บริการในเส้นทางของ JR Hokkaido เมื่อ พ.ศ. 2560 มีอายุการใช้งานเท่า ๆ กับรถไฟดีเซลราง THN และดีเซลราง Daewoo ของประเทศไทย รถไฟ KIHA 183 และ KIHA 182 มีขนาดความกว้างของล้อที่ใช้กับทางระบบกว้างขนาด 1.067 เมตร ซึ่งของไทยเราใช้อยู่ที่ 1.000 เมตร ต่างกันอยู่ 6.7 เซนติเมตร วิศวกรของ รฟท. ต้องทำการบีบอัดล้อเพื่อปรับขนาดลง (Re-gauge) เพื่อให้เพลาที่มีความกว้าง 1.067 เมตร วิ่งบนทางกว้าง 1.000 เมตรได้ และต้องดำเนินการตรวจเช็กและปรับปรุงเพื่อให้ใช้งานได้
……………เริ่มจากเครื่องยนต์หลักสำหรับการลากจูง ที่ต้องตรวจสภาพตามวาระ ถ่ายสารหล่อลื่น เปลี่ยนกรองเชื้อเพลิง กรองหล่อลื่น ตรวจสอบระบบต่าง ๆ ของเครื่องยนต์ หลังจากนั้นจะไปดูต่อที่ระบบถ่ายทอดกำลัง (Transmission) ระบบห้ามล้อ (Brake System) แก้ไขระยาง (Link Gauge) ต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะกับล้อที่ปรับขนาดลงสำหรับทางกว้าง 1.000 เมตรระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ ระบบห้องสุขาที่เป็นแบบระบบปิดมีถังเก็บ รวมถึงการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อที่นั่งภายในพร้อมผ้าม่าน ปรับปรุงป้ายสัญลักษณ์ในรถจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษ ประตูระหว่างห้องโดยสารกับห้องน้ำเป็นระบบอัตโนมัติที่ซ่อนกลไกไว้ในพรมเช็ดเท้า การดัดแปลงเพื่อให้ใช้งานในประเทศไทย อันดับแรกคือการตัดโคมไฟส่องทาง (Headlight) ตำแหน่งบนสุดออก เนื่องจากมีความสูงเกินเขตบรรทุกของรถไฟไทย จึงดัดแปลงย้ายโคมไฟส่องทางหลักมาไว้ที่หน้ารถใต้กระจกหน้าแทน และบันไดขึ้นลงรถ เพราะของเดิมเป็นประตูสำหรับชานชาลาสูงระดับพื้นรถ แต่ประเทศไทยมีชานชาลาทั้ง 2 ระดับ คือชานชาลาสูงสำหรับสถานีที่สร้างใหม่ และชานชาลาต่ำสำหรับสถานีเดิม ยิ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายความสูง ชานชาลาทั้งประเทศก็จะต้องติดตั้งขั้นบันไดเพิ่ม เพื่อให้ใช้งานได้กับชานชาลาทั้ง 2 แบบ รูปลักษณ์ภายนอกของรถไฟ KIHA 183 รฟท. ปรับปรุงให้คงสภาพสีสันตามรูปแบบเดิม
การวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการใช้รถไฟ KIHA 183 นั้น……. เครื่องยนต์ดีเซลของรถไฟสามารถใช้งานร่วมกับโครงข่ายรถไฟของไทยได้ไม่ยาก เมื่อเทียบกับระบบไฟฟ้า ซึ่งต้องใช้ทั้งเงินทุนและระยะเวลาที่นานกว่าจะพร้อมใช้งาน เพื่อปรับปรุงโครงสร้างรางและต่อเติมระบบจ่ายกำลังไฟฟ้าไว้รองรับ ตัวตู้โดยสารเดิมของรถไฟ รองรับการติดตั้งระบบปรับอากาศไว้อยู่แล้ว จึงเพียงแค่นำมาปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้น โดยไม่ต้องออกแบบใหม่ให้ยุ่งยาก ที่น่าสนใจคือการนำเข้ารถไฟจากญี่ปุ่นในครั้งนี้ ก็เพื่อนำมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องของการทดแทนหัวรถจักรเดิมที่เริ่มล้าสมัย และมีจำนวนไม่เพียงพอต่อ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทาง รฟท. ใช้รถไฟมือหนึ่งและมือสองในการดำเนินกิจการ
นอกเหนือจากนี้ยังมีการวิจัยนำร่อง รถไฟ “สุดขอบฟ้า” เป็นรถไฟโดยสารต้นแบบ ผลงานจากการวิจัยและพัฒนาโดยทีมวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ (รถไฟไทยทำ)” ด้วยทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ( บพข.) ภายใต้แผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต ร่วมกับ กิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด
ปัจจุบันบริบทของขบวนรถไฟ KIHA 183 เป็นขบวนรถไฟนำเที่ยวไฮไลท์ในช่วงวันหยุดที่ผู้คนเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น และทาง รฟท. ได้จัดแผนการท่องเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เป็นการแสดงให้เห็นว่าขบวนรถไฟ KIHA 183ภายหลังจากการปรับปรุงแล้วเสร็จ มีความโดดเด่นและเหมาะสมในการใช้งาน ไม่ต่างจากตอนอยู่ฮอกไกโดมากนัก ยังคงขบวนรถไฟที่รอผู้โดยสารร่วมทางไปยังจุดหมายปลายทางเพื่อสร้างความทรงจำที่ดี
อ้างอิง
https://readthecloud.co/kiha-183/
https://www.longtunman.com/32380
https://mgronline.com/politics/detail/9660000030008