ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามักมีการรายงานข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายและปัญหาซึมเศร้า โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนไทยที่ประสบกับปัญหาสภาวะทางสุขภาพจิตกันมากขึ้น โดยข้อมูลกรมสุขภาพจิตปี 2562 – 2566 พบว่าอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 7.26 เป็น 7.94 ต่อประชากร1แสนคน และในปี 2566 มีคนพยายามฆ่าตัวตายถึง 25,578 คน โดยกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี มีอัตราพยายามฆ่าตัวตายสูงสุด ซึ่งมีการประเมินกันว่าปัญหาการฆ่าตัวตายของเยาวชนไทยที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น เป็นผลมาจากความเครียดและความโดดเดี่ยวทางจิตใจที่เยาวชนต้องเผชิญ อีกทั้งเห็นว่าการเผชิญภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายของเยาวชนยังอาจนำไปสู่ปัญหาร้ายแรงได้อีกหลากหลาย อาทิยาเสพติดและการกระทำผิดอื่นๆ ตลอดจนการสูญเสียทรัพยากรเยาวชนที่สำคัญย่อมกระทบต่อการพัฒนาประเทศทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจในอนาคต
………..ระยะหลังที่เยาวชนไทยประสบกับปัญหาความโดดเดี่ยวทางจิตใจกันเป็นอย่างมาก คาดว่าส่วนหนึ่งคงเป็นผลมาจากโควิด-19 ที่ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายกับชีวิต ขาดโอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ขาดพื้นที่การทำกิจกรรมร่วมกัน รวมไปถึงปัจจัยจากด้านแรงกดดันจากสังคมและอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย อย่างเช่นอิทธิพลของคอนเทนต์ประเภทที่มักมีการนำเสนอชีวิตที่สมบูรณ์แบบในโลกออนไลน์ ซึ่งการได้เห็นชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้อาจมีส่วนทำให้เยาวชนไทยรู้สึกกดดัน เพราะไม่สามารถใช้ชีวิตเช่นนั้นได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่เกิดจากสังคมไทย กล่าวคือ สังคมไทยนั้นเป็นสังคมที่ยังไม่ค่อยเปิดรับกับปัญหาสุขภาพทางจิตใจมากนัก โดยยังมักมีมุมมองความคิดว่า ปัญหาทางสุขภาพทางจิตของเยาวชนเกิดขึ้น เพราะเยาวชนต้องการเรียกร้องความสนใจ คิดไปเอง และยังไม่จำเป็นต้องพบแพทย์และทำการรักษา ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่เผชิญปัญหาสุขภาพทางจิต มีความกังวลไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง เพราะกลัวคนรอบข้างไม่เข้าใจ
กรมสุขภาพจิตได้มีการรายงานสถิติของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 100 คน ได้รับการรักษาเพียง 28 คนเท่านั้น และมีการวิเคราะห์พบว่าความโดดเดี่ยวทางจิตใจในเยาวชนไทยมีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพจิต โดยมีระดับความเครียดสูงถึง 56.6% ทำให้เกิดความเหงาและส่งผลต่อสุขภาพจิตใจอย่างมาก เช่น โรคซึมเศร้า วิตกกังวล หรือการใช้สารเสพติด ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการกระทำความรุนแรงและการฆ่าตัวตายในเยาวชนได้
ทั้งนี้ โรคทางจิตเวชโดยเฉพาะจิตเวชเด็กและวัยรุ่นเป็นโรคใหม่สำหรับสังคมไทย ทำให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรรองรับ โดยในต่างจังหวัดมีจิตแพทย์ไม่ถึง 1 คนต่อประชากร 1 แสนคน และมีอีก 23 จังหวัดในไทยที่ขาดจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น นอกจากนี้มีรายงานพบว่า บุคลากรในแผนกจิตเวชไม่ต้องการทำงานในแผนกนี้ เนื่องจากงานหนักและสิทธิของพยาบาลก็ไม่ดี ซึ่งการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ด้านจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นในไทยนั้น น่าจะเป็นปัญหาที่สำคัญที่ต้องเร่งหาแนวทางแก้ไข เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์จะส่งผลกระทบต่อการรักษาเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
…..คนที่ทำงานแวดวงด้านสุขภาพจิตมีความเห็นตรงกันและน่าสนใจว่า สังคมไทยควรมีการสร้างระบบดูแลสุขภาพจิตขั้นพื้นฐาน เริ่มต้นจากการมีพื้นที่รับฟังปัญหาของเยาวชนในระดับชุมชน เนื่องจากจะเป็นการช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น และจะช่วยลดอัตราการเกิดปัญหาการฆ่าตัวตายในเยาวชนไทย ดังเช่นกลุ่มประเทศยุโรปที่มีมาตรการช่วยเหลือผู้ป่วย มีบุคลากรทางการแพทย์ด้านจิตเวชที่เพียงพอ ทำให้การเข้าถึงบริการสุขภาพจิตนั้นเป็นเรื่องที่ง่าย …. อย่างในสหราชอาณาจักรนั้นประชาชนก็ประสบปัญหาความเหงากันมากขึ้น โดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาว ทำให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรมีมาตรการช่วยขจัดความเหงา เช่น อาสาไปทำกิจกรรมร่วมกัน หรืออาสาเป็นผู้รับฟังด้วยการนัดเจอหรือทางออนไลน์ เป็นต้น
สังคมไทยของเราขณะนี้คงจำเป็นที่จะต้องทำงานเชิงรุกร่วมกันทุกภาคส่วนทั้งในระดับปัจเจก ระดับชุมชน ไปจนถึงประชาสังคม เอกชน และภาคส่วนของรัฐ ในการร่วมมือกันออกแบบนโยบายเพื่อหาทางแก้ไขปัญหานี้มากขึ้น เพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหาซึมเศร้าในเยาวชนไทย เพื่อดูแลสุขภาพจิตของเยาวชน และเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันเชิงบวกแก่เยาวชน โดยการจะจัดทำนโยบายให้มีประสิทธิภาพนั้นก็ควรให้เยาวชนผู้ประสบปัญหาภาวะทางสุขภาพจิตมีส่วนร่วม เพื่อจะได้มีการรับฟังเสียงของเยาวชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับการช่วยเหลือโดยตรงด้วย