“sportswashing” หรือการใช้กิจกรรมกีฬาเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของสาธารณชนออกไปจากประเด็นอื้อฉาว คือข้อหายอดนิยมที่สื่อมวลชนของประเทศตะวันตกใช้วิพากษ์วิจารณ์ เมื่อประเทศอาหรับ โดยเฉพาะกาตาร์และซาอุดีอาระเบีย มีบทบาทสำคัญในการแข่งขันกีฬาระดับโลก เช่น เมื่อกาตาร์เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 นอกจากนั้นยังมีตัวอย่างข้อกล่าวหาเรื่อง sportswashing อีกมากมาย เช่น เมื่อกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) ของซาอุดีอาระเบีย ริเริ่มจัดการแข่งขันกอล์ฟ LIV Golf เพื่อแข่งขันกับพีจีเอทัวร์ของสหรัฐอเมริกา หรือเมื่อกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของกาตาร์และซาอุดีอาระเบียซื้อสโมสรฟุตบอลชื่อดังในฝรั่งเศสและอังกฤษ
กาตาร์และซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศเป้าหมายหลักของการโจมตี กาตาร์ถูกสื่อตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก เพื่อสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกที่จะหันเหความสนใจของประชาคมโลกจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิสตรีและ LGBT และการกดขี่แรงงานต่างชาติ
ซาอุดีอาระเบียก็ตกเป็นเป้าหมายในลักษณะเดียวกัน การจัดแข่งกอล์ฟ LIV Golf ในสหรัฐอเมริกา และการซื้อสโมสรฟุตบอลนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ในอังกฤษ โดนสื่อมวลชนตะวันตกวิจารณ์ว่าเป็นการลงทุนเพื่อ “sportswashing” ที่พยายามหันเหความสนใจของประชาคมโลกจากประเด็นด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ
นักวิชาการบางส่วนให้ความเห็นว่าสื่อตะวันตกมุ่งเป้าวิจารณ์ประเทศอาหรับด้วยข้อหา “sportswashing” แต่เพิกเฉยกับการกระทำในลักษณะเดียวกันของประเทศโลกตะวันตก ประเทศตะวันตกก็มีปัญหาต่าง ๆ เช่นกัน และพยายามใช้กีฬาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี แต่กลับไม่เคยโดนวิจารณ์ในข้อหา “sportswashing” เลย
……..นักวิชาการกลุ่มนี้เห็นว่าเป็นผลมาจากวิธีคิดแบบ moral superiority ที่ประเทศตะวันตกมองว่าตนมีความเหนือกว่าทางศีลธรรม และการผลิตซ้ำวาทกรรม “the West versus the rest” ของประเทศตะวันตกที่มองอารยธรรมอื่นเป็นคนนอก
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่าคำอธิบายของนักวิชาการกลุ่มนี้ ยังไม่สามารถตอบคำถามได้ว่า ทำไมสื่อตะวันตกจึงมุ่งยัดเยียดข้อหา “sportswashing” ให้กับกลุ่มประเทศอาหรับ แต่ไม่ค่อยใช้คำว่า “sportswashing” กับประเทศนอกโลกตะวันตกอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ชาติอาหรับ โดยเฉพาะรัสเซียและจีนสองประเทศนี้ก็โดนสื่อตะวันตกโจมตีบ่อยเช่นกัน แต่โจมตีด้วยข้อหาอื่น ไม่ใช่ข้อหา “sportswashing” เหมือนที่ประเทศอาหรับประสบพบเจอ
รัสเซียเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2018 หลังทำสงครามผนวกไครเมียในปี 2014 ในตอนนั้นสื่อตะวันตกมุ่งโจมตีรัสเซียเรื่องการผนวกไครเมียและปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศ แต่ไม่ได้เชื่อมโยงเข้าหาข้อหา “sportswashing” ……รึตอนที่จีนเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 ก็เช่นเดียวกัน สื่อตะวันตกใช้โอกาสนั้นวิพากษ์วิจารณ์จีนเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ โดยเฉพาะข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการล้างเผ่าพันธุ์ชาวอุยกูร์ในเขตปกครองตนเองซินเจียง รวมทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ประกาศคว่ำบาตรทางการทูตต่อโอลิมปิกครั้งนั้น โดยไม่ส่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าร่วมงาน อย่างไรก็ตาม ก็ไม่มีการเชื่อมโยงเข้าหาข้อหา “sportswashing” ??
กล่าวโดยสรุป สื่อตะวันตกก็โจมตีจีนกับรัสเซียเช่นกัน แต่กรณีของรัสเซียกับจีน สื่อตะวันตกมุ่งจะวิจารณ์ไปตรง ๆ ในประเด็นที่เห็นว่าเป็นปัญหาจากมุมมองของสื่อตะวันตก แต่กับกรณีของประเทศอาหรับ ข้อกล่าวหา “sportswashing” จะโดดเด่นขึ้นมามากกว่า
ผู้เขียนพบว่าไม่เพียงแต่สื่อมวลชนเท่านั้นที่เชื่อมโยงประเทศอาหรับเข้ากับ “sportswashing”สถิติการสืบค้นของประชาชนทั่วโลกจาก Google Trends ก็มีทิศทางลักษณะเดียวกัน มีเพียงชื่อของสองประเทศเท่านั้นที่ปรากฏในรายการคำค้นหา 23 อันดับแรกที่ผู้คนทั่วโลกค้นหาใน Google ด้วยคีย์เวิร์ด sportswashing ในช่วง พ.ศ. 2547-2566 ได้แก่ ซาอุดีอาระเบียและกาตาร์ ซึ่งหมายความว่าคนธรรมดาทั่วโลกก็เชื่อมโยงคำว่า sportswashing เข้ากับซาอุดีอาระเบียและกาตาร์โดยเฉพาะเช่นเดียวกัน
ในความพยายามที่จะตอบคำถามนี้ ผู้เขียนเห็นว่า สื่อตะวันตกปฏิบัติกับประเทศ “คู่แข่ง” สองกลุ่มนี้ต่างกัน เพราะใช้กรอบความคิดที่แตกต่างกันในการทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในกรณีของประเทศอาหรับ สื่อตะวันตกโฟกัสที่กรอบเกี่ยวกับ “อารยธรรมอื่นที่ก้าวขึ้นมาคุกคามอารยธรรมตะวันตก” มากกว่าข้อกล่าวหาที่เห็นว่าเป็นการกระทำผิด แต่ในกรณีของรัสเซียและจีน จะโฟกัสไปที่ประเด็นข้อกล่าวหาต่าง ๆ โดยตรง
เมื่อพิจารณาจากการนำเสนอในภาพรวมของสื่อตะวันตก จะสังเกตได้ว่า สื่อมุ่งนำเสนอภาพลักษณ์เชิงลบทั้งของกาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย จีน และรัสเซีย สื่อตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสี่ประเทศอย่างไม่เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นคุณค่าที่สำคัญในสังคมตะวันตก และประเทศอื่นมักถูกมองว่าล้าหลังประเทศตะวันตกในแง่ของสิทธิมนุษยชน
ทั้งสี่ประเทศถูกมองว่าเป็นคนนอกเหมือนกัน ประเทศอาหรับถูกมองว่าแปลก แตกต่าง และเป็นภัยคุกคาม ประเทศอาหรับถูกมองว่าเป็นบุคคลภายนอกที่มีอิทธิพลและเป็นภัยคุกคามต่อโลกตะวันตก เนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจที่ร่ำรวย สื่อพยายามนำเสนอภาพเศรษฐีชาวอาหรับที่ใช้อำนาจเงินสร้างอิทธิพลเหนือสังคมตะวันตก ทั้งโดยการ “ขโมย” และ “บุกรุก” เข้าสู่ชุมชน (การซื้อสโมสรฟุตบอลตะวันตก ที่เคยเป็นสมบัติของชาวตะวันตก หลุดลอยไปอยู่ในมือของเศรษฐีอาหรับ) และ “แย่งชิง” จากสังคมนั้น (การจ้างนักฟุตบอลชั้นนำของโลกไปเล่นให้กับสโมสรอาหรับ จากเดิมที่สโมสรยุโรปผูกขาดการจ้างนักฟุตบอลชั้นนำแต่เพียงผู้เดียว) กรอบเหล่านี้กระตุ้นเร้าให้ชาวยุโรปเกิดความรู้สึกตกเป็นเหยื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการลงทุนด้านกีฬาของอาหรับทำให้พวกเขาใกล้ชิดกับชุมชนท้องถิ่นของชาวตะวันตกมากขึ้น เพิ่มความใกล้ชิดทางกายภาพ และเพิ่มการรับรู้ว่าอันตรายกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ตัว
จีนก็เป็นมหาอำนาจที่มีปัญหาในสายตาชาวตะวันตก จีนมีค่านิยมที่แตกต่างจากสังคมตะวันตก มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่อิทธิพลของจีนเป็นเรื่องไกลตัว อิทธิพลจีนปรากฏในข่าวการเมืองโลก ข่าวเศรษฐกิจระดับโลก ห่างไกลจากสังคมท้องถิ่นตะวันตก รัสเซียเองก็เช่นเดียวกัน ภัยคุกคามจากรัสเซียยังห่างไกล โดยเฉพาะในห้วงที่รัสเซียจัดฟุตบอลโลกปี 2018 ที่ถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีปัญหากับปัญหาภายในประเทศมากมาย แต่ยังไม่เป็นภัยคุกคามต่อชุมชนท้องถิ่นของชาวตะวันตก (จนกระทั่งการรุกรานยูเครนครั้งหลังสุดที่ภัยคุกคามจากรัสเซียใกล้ตัวชาวยุโรปมากขึ้น)
การกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสโมสรฟุตบอล มีความใกล้ชิดอย่างมากกับชุมชนท้องถิ่นของชาวยุโรป อำนาจเงินของอาหรับที่เข้ามา “ขโมย” “บุกรุก” และ “แย่งชิง” สมบัติด้านการกีฬาที่เคยผูกขาดโดยชาวยุโรป ทำให้คุณจอห์นหรือคุณสตีฟที่นั่งกินเบียร์เชียร์บอลอยู่ในผับ มองเห็นภาพของชาวอาหรับที่ร่ำรวยกำลังเป็นภัยคุกคามใกล้ตัวต่อชุมชน ยืนอยู่ตรงหน้าประตูบ้าน ต่างกับภาพของจีนและรัสเซียที่ยังไกลตัวเหลือเกิน
———————————————–