รู้หรือไม่ว่าประเทศไทยเรามีการแบ่ง “ภาค” ได้หลายแบบ ปัจจุบันประเทศไทยมี 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร แต่หากแบ่งตามภูมิภาคจะแบ่งได้ 6 ภาค หากแบ่งตามภาคการท่องเที่ยวก็จะมีอยู่ 5 ภาค ซึ่งไม่มีภาคตะวันตก สำหรับด้านสภาพอากาศกรมอุตุนิยมวิทยาแบ่งประเทศไทยออกเป็น 7 ภาค โดยแยกภาคใต้ออกเป็นสองส่วนตามชายฝั่งทะเลทั้ง 2 ส่วน คือ ชายฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน รวมถึงแยกพื้นที่ภาคกลางในส่วนกรุงเทพและปริมณฑลออกมา นอกจากนั้นยังสามารถแบ่งประเทศไทยตามเขตวัฒนธรรมประเพณีเป็น 4 ภาค ในส่วนของการขนส่ง ไปรษณีย์มี 9 ภาค ส่วนสำนักชลประทานมี 16 ภาค อ้างอิงกับพื้นที่แหล่งน้ำและระบบควบคุมน้ำ สำหรับการแบ่งเขตเหล่านี้อ้างอิงตามเขตการปกครองจังหวัด ขึ้นอยู่กับขอบเขตการแบ่งในภาพรวม
……..การแบ่งเขตการปกครองในแต่ละรูปแบบก็เพื่อให้สอดคล้องกับฐานข้อมูลและการบริหารจัดการในแต่ละบริบท แต่ด้วยบริบทของภูมิประเทศของไทยยังมีแหล่งทรัพยากรสำคัญที่ไม่อ้างอิงตามเขตการปกครอง แต่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการบริหารอย่างมาก นั่นคือ “การแบ่งเขตลุ่มน้ำ” เพราะน้ำ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและเกี่ยวเนื่องกับทุกสิ่งตั้งแต่การดำรงชีวิต อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ขนส่ง ประเพณีและวัฒนธรรม
เดิมประเทศไทยแบ่งพื้นที่ลุ่มแม่น้ำออกเป็น 25 ลุ่มน้ำ โดยอ้างอิงจากภูมิศาสตร์ของสันปันน้ำ ที่รับน้ำลงสู่แม่น้ำสายสำคัญต่างๆ ไม่ได้กินพื้นที่เฉพาะพื้นที่ผิวน้ำของแหล่งน้ำเท่านั้น แต่หมายถึงพื้นที่ราบและพื้นที่สูงตั้งแต่ยอดเขา เนินดินที่ราบสูง สู่ท้องน้ำ เมื่อน้ำฝนตกลงสู่ยอดเขาจะกวาดทุกสิ่งที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำลงสู่แหล่งน้ำและไหลไปยังสู่ลุ่มน้ำอื่นๆ ลงสู่ทะเล และในปี 2564 หากอ้างอิงตามพระราชกฤษฎีกาลุ่มน้ำ พ.ศ. 2564 ได้แบ่งลุ่มน้ำในไทยออกเป็น 353 ลุ่มน้ำสาขา และ 22 ลุ่มน้ำหลัก
อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่าเส้นแบ่งขอบเขตลุ่มน้ำบางที่ยังไม่ค่อยสัมพันธ์กับขอบเขตการปกครองของจังหวัดนัก โดยยังมีจังหวัดที่เป็นต้นน้ำให้กับลุ่มน้ำหลายสาขา ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดกำแพงเพชรที่มีภูมิประเทศเป็นเนินเขาเตี้ยๆ สลับที่ราบ มีสันปันน้ำที่แบ่งลุ่มน้ำ 5 ลุ่ม ได้แก่ ปิง ยม น่าน เจ้าพระยา และสะแกกรัง มีพื้นที่ปลายน้ำของลุ่มน้ำปิงและน่าน แต่อยู่พื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาและสะแกกรัง ในขณะที่ลุ่มน้ำสะแกกรังครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ด้วย การกระทำในพื้นที่ต้นน้ำของจังหวัดกำแพงเพชรจึงอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ปลายน้ำของจังหวัดนครสวรรค์ หากพื้นที่ต้นน้ำมีการส่งเสริมการทำอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถควบคุมคุณภาพน้ำเสียที่ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำได้ แน่นอนว่าพื้นที่ชุมชนปลายน้ำย่อมได้รับผลกระทบจากสิ่งเจือปนในน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ลุ่มน้ำสะแกกรังครอบคลุมพื้นที่ 3,066,579 ไร่ แต่ยังมีลุ่มน้ำที่ขนาดใหญ่กว่า อย่างเช่น ลุ่มน้ำมูล 44,412,479 ไร่ ลุ่มน้ำชี 30,706,169 ไร่ และลุ่มน้ำเจ้าพระยา 12,827,135 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่ร่วมกันของ 19 จังหวัด ทำให้กิจกรรมที่เกิดขึ้นของ 19 จังหวัด มีโอกาสส่งผลกระทบต่อกันและกัน ดังนั้น ประเด็นที่ควรคำนึงถึงคือนโยบายของแต่ละจังหวัดหากไม่สอดคล้องกัน อาจทำให้เกิดผลเสียต่อจังหวัดอื่นๆ ในลุ่มน้ำเดียวกันได้
……..ผู้เขียนลองจินตนาการถึงการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำเพื่อการทำเกษตรของพื้นที่จังหวัดกลางน้ำ ที่ต้องสร้างในพื้นที่จังหวัดต้นน้ำ งบประมาณที่แก้ปัญหาให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนอยู่ในความรับผิดชอบของจังหวัดพื้นที่ต้นน้ำขณะที่จังหวัดอื่นๆ ในลุ่มน้ำได้รับผลประโยชน์ ….หรือนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยว ที่ทำให้การใช้น้ำมากขึ้นย่อมส่งผลต่อผู้ใช้น้ำรายอื่นๆ ในลุ่มน้ำ ดังนั้น เมื่อคิดถึงความเชื่อมโยงทรัพยากรอย่างใกล้ชิดแล้ว แต่ละจังหวัดคงจำเป็นที่จะต้องมีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการบริหารจัดการในระดับลุ่มน้ำ โดยยึดถือมุมมองว่าน้ำเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด มีต้นทุนในการบริหารจัดการ ซึ่งแตกต่างไปจากความเชื่อเดิมว่า……ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นทรัพยากรที่ได้มาฟรีและมีอยู่อย่างไม่จำกัด
ในปัจจุบันการบริหารจัดการลุ่มน้ำถูกดำเนินการด้วยกลไกที่เรียกว่า “คณะกรรมการลุ่มน้ำ” ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจากผู้ใช้น้ำแต่ละด้านในแต่ละพื้นที่ของลุ่มน้ำร่วมให้ข้อมูล และวางแผนการบริหารจัดการน้ำ อย่างไรก็ดีการบริหารทรัพยากรที่มีความผันผวนอย่าง “น้ำ” ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสรร การใช้ประโยชน์ และการควบคุมดูแลทรัพยากรให้กับผู้ที่มีความเกี่ยวข้องให้เกิดความพึงพอใจมากที่สุดเพื่อลดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นภายในลุ่มน้ำ เพื่อที่จะไม่เป็นอุปสรรคต่อแผนและนโยบายของการพัฒนาของแต่ละจังหวัดในเขตการปกครองย่อยภายในลุ่มน้ำต่อไป เพราะการบริหารจัดการลุ่มน้ำอย่างไม่มีประสิทธิภาพย่อมสร้างความเดือดร้อนให้กับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน