แม้ว่าความท้าทายและอันตรายจากการก่อการร้ายจะไม่ได้ถูกจัดให้เป็นความกังวลอันดับแรก ๆ ของสหรัฐอเมริกาอีกต่อไปแล้ว แต่ความท้าทายจากการกระทำที่เป็นการก่อการร้าย หรือ act of terror ยังมีอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่ง (extremist) ที่นอกจากจะมีอุดมการณ์หรือความเชื่อแบบสุดโต่งแล้ว ยังต้องการก่อเหตุการณ์ หรือกระทำการเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในสังคม สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้น แม้ว่าเหตุก่อการร้ายหรือระดับความรุนแรงจากเหตุก่อการร้ายจะลดน้อยลง แต่สำหรับในปี 2567 นี้ การก่อการร้ายที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายสากล อย่างกลุ่มอัลกออิดะห์ และกลุ่ม Islamic State (IS) ยังคงเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ และความมั่นคงมนุษย์……….
นอกจากนี้ สิ่งที่น่ากลัวมากกว่า คือ การก่อเหตุรุนแรงที่เชื่อมโยงกับแนวคิดสุดโต่ง ไม่ว่าจะเป็นซ้ายสุดโต่งหรือขวาสุดโต่ง เสรีนิยมเต็มขั้นหรืออนุรักษ์นิยมเท่านั้นที่ถูกต้อง!! ความคิดสุดทางแบบนี้แพร่กระจายไปทั่วโลกและมีแนวโน้มจะน่ากลัวกว่าการก่อเหตุที่เกี่ยวข้องกับผู้ก่อการร้ายด้วย เพราะผู้ก่อเหตุอาจเป็นใครก็ได้ที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีเฝ้าระวังของคุณตำรวจ และอาจจะไม่เคยมีบันทึกเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะก่ออาชญากรรมหรือเหตุรุนแรงเลย
ขอสรุปตรงนี้สั้น ๆ ว่า….. ภัยอันตรายที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ไม่ได้หายไปจากโลกเราเลย แม้ว่าการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่เริ่มต้นหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 จะผ่านมามากกว่า 20 ปีแล้วก็ตาม
จากข้อมูลที่เผยแพร่ในรายงานประเมินการก่อการร้ายประจำปี 2567 ของสถาบันวิชาการ CSIS(Center for Strategic and International Studies) บอกเราเอาไว้ว่า การก่อการร้ายจากขบวนการนิยมแนวคิดจีฮัดตามลัทธิซาลาฟี (Salafi-jihadist) มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกันกับการก่อเหตุรุนแรงที่มีสาเหตุมาจากแนวคิดและอุดมการณ์การเมือง หรือความเชื่อมแบบสุดโต่ง ซึ่งมีพัฒนาการจากสมัยก่อน จากที่แนวคิดสุดโต่งเหล่านี้เคยจำกัดขอบเขตอยู่เป็นเรื่อง “ภายในประเทศ” แต่ในระยะหลัง ๆ การใช้สื่อสังคมออนไลน์และอินเทอร์เน็ตอย่างเสรีทำให้อุดมการณ์และแนวคิดแบบนี้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และขยายขอบเขตไปเป็นเรื่อง “ระหว่างประเทศ” ที่รัฐบาลหรือประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถควบคุมได้ง่าย ๆ
อยากเรียกให้ง่าย ๆ ว่า….. ระบบนิเวศของการก่อการร้ายปัจจุบันเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการไปแล้ว อันตรายจากเรื่องก่อการร้ายมาถึงตัวเราได้ในหลากหลายรูปแบบ….
สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์ด้านการก่อการร้ายน่าห่วงกังวลมากที่สุด คือ …….ภูมิภาคแอฟริกา เพราะมีรายงานว่ากลุ่มก่อการร้ายขยายตัวและก่อความรุนแรงได้จำนวนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งในแอฟริกายังไม่มีความเคลื่อนไหวในลักษณะที่เชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายในภูมิภาคอื่น ๆ รวมทั้งยังไม่มี “เจตนา” ที่จะขยายอุดมการณ์ไปยังต่างประเทศ ยังเน้นการสร้างอำนาจและควบคุมพื้นที่ในประเทศและภูมิภาคของตัวเอง ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่กระจายไปภูมิภาคอื่น แต่การก่อการร้ายในแอฟริกา “สร้างปัญหา” ทางอ้อมให้ประเทศตะวันตก เพราะความไม่มั่นคงที่เกิดจากการก่อการร้ายมักจะทำให้ “กองทัพ” ในภูมิภาคแอฟริกาใช้เป็นเหตุผลในการทำรัฐประหารและเปลี่ยนแปลงการปกครองในภูมิภาคแอฟริกา
ส่วนการก่อการร้ายในภูมิภาคอื่น ๆ ที่น่าสนใจ มีการประเมินว่า การก่อการร้ายที่เชื่อมโยงกับกลุ่มจีฮัดในอเมริกาและแคนาดา พบน้อยลง แต่ที่น่าวิตก คือ การก่อเหตุรุนแรงภายในประเทศ กลับเพิ่มจำนวนมากขึ้นและมีแนวโน้มจะกลายเป็นความเคลื่อนไหวที่กระจายไปทั่วโลก ทั้งกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐบาล ต่อต้านนโยบายของรัฐ และกลุ่มที่ต้องการแสดงออกเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่ใช้แนวทางสุดโต่งและความรุนแรง …ความเคลื่อนไหวแบบนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน จึงทำให้อาจมีผู้คิดคล้อยตามและสนับสนุนได้ไม่ยาก
…….ขณะที่ในยุโรป สิ่งที่ต้องระวังมากขึ้น คือ อุดมการณ์หัวรุนแรงสุโต่งในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการแพร่กระจายแนวคิดนิยมความรุนแรงผ่านสื่อสังคมออนไลน์
…….ในภูมิภาคตะวันออกกลางนั้น ความขัดแย้งระหว่างประเทศมีส่วนสำคัญมากที่ทำให้เกิดแนวคิดหัวรุนแรงสุดโต่งที่กลุ่มก่อการร้ายอาจจะใช้ประโยชน์ได้
……..สำหรับในเอเชีย ไฮไลท์สำคัญของภูมิภาคนี้อยู่ที่อัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายสากล
……..ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ยังมีอันตรายจากกลุ่มนิยมแนวคิดจีฮัดตามลัทธิซาลาฟี แต่น้อยลงเนื่องจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ประสบความสำเร็จในการปราบปรามอย่างแข็งขัน แต่การเผยแพร่อุดมการณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ที่เข้าถึงเยาวชน ยังคงเป็นเรื่องยากที่หลาย ๆ ประเทศยังไม่มีแนวทางในการควบคุม
ในทุกภูมิภาคมีปัจจัยนึงที่ทำให้การก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งยังคงมีพลังอยู่อย่างต่อเนื่อง คือ การใช้สื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ กลายเป็นเครื่องมือแพร่กระจายอุดมการณ์ โน้มน้าว สะสมผู้สนับสนุน และสร้างแรงจูงใจในการก่อเหตุรุนแรง ดังนั้น แนวโน้มการก่อการร้ายในปี 2567 และในอนาคต ดูเหมือนว่าความร่วมมือระหว่างรัฐบาล องค์กรต่าง ๆ และประชาชนอาจไม่เพียงพอต่อการควบคุมและลดระดับการแพร่ขยายอุดมการณ์หัวรุนแรงสุดโต่ง แต่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์และอินเทอร์เน็ตอย่างจริงจังมากขึ้นด้วย
……ท้ายที่สุดนี้ การป้องกันและแก้ไขปัญหาแนวคิดหัวรุนแรงสุดโต่งที่จะนำไปสู่การก่อการร้ายก็ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยย่อย ๆ ของสังคม ได้แก่ ครอบครัวและโรงเรียน ตลอดจนให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาตามสภาพสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ เพราะยังไม่มีสูตรสำเร็จในการต่อต้านการก่อการร้ายได้อย่างรวดเร็ว แม้จะเป็นประเทศที่มีแสนยานุภาพทางทหารหรือข้อมูลข่าวสารมากมายก็ตาม