คาบสมุทรเกาหลีเป็นหนึ่งในจุดขัดแย้งที่สำคัญของโลก ซึ่งในปี 2567 สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีมีโอกาสจะเพิ่มความตึงเครียดและไม่แน่นอน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลก การพัฒนาอาวุธของแต่ละฝ่ายเพื่อใช้ป้องปราม (deterrence) ฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ที่ยังไม่ดีขึ้นจากเดิม
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ยังหาจุดลดความขัดแย้งระหว่างกันไม่ได้ และยังคงสภาพ “อยู่ในภาวะสงคราม” เป็นเพราะท่าทีของผู้นำทั้ง 2 ฝ่าย โดยฝ่ายผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ ตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศระยะ 5 ปี รวมทั้งย้ำถึงสถานะที่ชัดเจนว่าต้องการเป็นรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์และจะไม่ยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ ตลอดจนพร้อมจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการโจมตีก่อนหากเผชิญเหตุคุกคาม ท่าทีแบบนี้เท่ากับว่า เกาหลีเหนือในปัจจุบันไม่ต้องการเจรจาสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี และไม่ปลดอาวุธนิวเคลียร์ แม้ว่าก่อนหน้านี้เมื่อปี 2562 จะมีความเป็นไปได้ที่เกาหลีเหนือจะเปลี่ยนนโยบาย จากการพูดคุยกันระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ
พัฒนาการในปี 2567 ที่อาจเป็นสัญญาณว่าเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้กำลังปิดโอกาสการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ คือ กรณีที่เกาหลีเหนือแถลงว่าจะตัดความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ โดยต่อจากนี้ เกาหลีใต้ไม่ใช่ญาติของเกาหลีเหนืออีกต่อไป และได้กลายเป็นศัตรูอันดับหนึ่งของเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ หากเกิดสงครามในคาบสมุทรเกาหลี เกาหลีเหนือก็พร้อมที่จะตอบโต้อย่างเต็มที่ แต่จะไม่เป็นฝ่ายที่เริ่มก่อน ขณะที่เกาหลีใต้เองก็มีความห่วงกังวลเรื่องการพัฒนาขีปนาวุธและนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือมากขึ้น เนื่องจากเกาหลีเหนือมักจะทำกิจกรรมที่ละเมิดข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council – UNSC) เช่น ยิงทดสอบขีปนาวุธ และการลักลอบนำเข้าน้ำมันดิบ
นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 เหตุการณ์ที่ทำให้ความหวาดระแวงของทั้ง 2 เกาหลีเพิ่มขึ้นในปีนี้ ได้แก่ การส่งดาวเทียมสอดแนมขึ้นสู่อวกาศของทั้ง 2 ฝ่าย และการปะทะบริเวณพรมแดน ซึ่งเรื่องดาวเทียมจะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะนอกจากจะทำให้ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามได้มากขึ้นแล้ว ยังเป็นการยกระดับการแข่งขันยุทโธปกรณ์ที่เอื้อต่อปฏิบัติการทางทหารในคาบสมุทรเกาหลีด้วย
ส่วนประเด็นการปะทะบริเวณพรมแดน ซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะเกาหลีใต้กำลังปรับระบบแผนการป้องกันประเทศเชิงรุก ชื่อว่า Three Axis’ Defense Systems ซึ่งเป็นแผนการพัฒนาขีดความสามารถทางการทหารในเชิงรุก เพื่อใช้ชิงโจมตีก่อน ประกอบด้วย ระบบบูรณาการ 3 ระบบ ทั้งระบบการชิงโจมตีก่อน (Kill chain) ระบบป้องกันภัยทางอากาศ และระบบตอบโต้กลับอย่างเต็มกำลัง โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้นำเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังมีกลไกขยายการป้องปรามภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ (Extended deterrence) ที่สหรัฐอเมริกาจะให้หลักประกันแก่เกาหลีใต้ว่าจะปกป้อง รวมถึงส่งขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ให้หากมีความจำเป็น
………อาจสรุปได้ว่า การดำเนินการเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันความมั่นคงประเทศในเชิงรุกและเชิงรับของทั้ง 2 เกาหลี ทำให้บรรยากาศความขัดแย้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสเพิ่มการสะสมอาวุธในภูมิภาค จนเป็นอุปสรรคต่อการรักษาสันติภาพในภูมิภาค การประเมินนี้ยังไม่นับบทบาทของประเทศมหาอำนาจที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ แต่คงไม่มากเท่าการตัดสินใจของ 2 เกาหลีอย่างแน่นอน
สำหรับประเทศไทยนั้นไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาคาบสมุทรเกาหลีโดยตรง แต่หากมีความขัดแย้งหรือการเผชิญหน้าทางการทหารโดยตรงจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของไทยในเกาหลี โดยเฉพาะคนไทยในเกาหลีใต้ จึงต้องมีการประเมินและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งตั้งกลไกให้ข้อมูล แจ้งเตือนคนไทยหากมีสถานการณ์ผิดปกติ เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งในต่างประเทศส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของคนไทย