ฟิลิปปินส์เป็นประเทศหมู่เกาะที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ๆ กับการเพิ่มขีดความสามารถด้านการทหารเพื่อปกป้องความมั่นคงและปลอดภัยทางทะเล แม้เมื่อก่อนกองทัพฟิลิปปินส์จะให้ความสำคัญกับเรื่องการปราบปรามกองกำลังติดอาวุธในประเทศเป็นอันดับแรก แต่พอการเมืองและความมั่นคงภายในสงบมากขึ้น ประเทศนี้ก็ต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับอันตรายจากภายนอก เพราะประเทศนี้ล้อมด้วยทะเลทุกด้าน กองทัพฟิลิปปินส์จึงต้องกระจายกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้พร้อมเผชิญอันตรายจากทุกหนแห่ง ว่ากันว่า…. กองทัพฟิลิปปินส์หรือ Armed Forces of the Philippines (AFP) ประกอบด้วยกำลังพลพร้อมรบอย่างน้อย 125,000 นาย และยังมีกำลังพลสำรองประมาณ 130,000 นาย
บทบาทของกองทัพฟิลิปปินส์สำคัญต่อความมั่นคงของชาติอย่างมาก เพราะนอกจากจะมีบทบาททางการเมืองหลายครั้ง กอบกู้วิกฤตทางการเมืองจากผู้นำที่ฉ้อโกงได้หลายสมัย กองทัพฟิลิปปินส์ยังถือว่าเป็นกลไกและช่องทางเชื่อมต่อความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ อย่างสหรัฐอเมริกามาโดยตลอดด้วย ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในฐานะพันธมิตรด้านความมั่นคงระหว่างฟิลิปปินส์กับสหรัฐอเมริกา ทำให้ฟิลิปปินส์ไม่เคยหายไปจากการเมืองระหว่างประเทศ ตลอดจนทำให้เรื่องการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถด้านการป้องกันประเทศ (national defense) เป็นเรื่องที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องให้ความสำคัญอยู่เสมอ
………..เมื่อเน้นไปที่ความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างสหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์ อาจย้อนไปได้ถึงช่วงปี 2444 ที่สหรัฐฯ เริ่มปกครองฟิลิปปินส์ ตามสนธิสัญญาปารีส นานมากกว่า 50 ปี ต่อจากสเปน ทำให้รูปแบบการเมืองและการกำหนดนโยบายของอเมริกามีอิทธิพลต่อฟิลิปปินส์อย่างมาก รวมทั้งส่งผลให้การกำหนดนโยบายต่าง ๆ ของฟิลิปปินส์เอื้อประโยชน์ต่ออเมริกาจนถึงทุกวันนี้ …..ที่สำคัญก็คือ ทำให้สหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์ยังคงมีความร่วมมือด้านการทหารที่ใกล้ชิดกันอย่างมาก เพราะมีสนธิสัญญาป้องกันร่วม หรือ Mutual Defense Treaty เป็นรากฐานต่อยอดความสัมพันธ์ต่าง ๆ จนพัฒนากลายเป็นข้อตกลงความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศฉบับปรับปรุงเมื่อปี 2566 ที่พูดถึงความจำเป็นที่ทั้ง 2 ประเทศจะต้องร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อต้านทานอันตรายจากความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในทะเล โดยเน้นที่การยกระดับการฝึกร่วมต่าง ๆ ระหว่างกัน รวมทั้งพัฒนากองทัพฟิลิปปินส์ให้ทันสมัย ตลอดจนเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ สามารถหมุนเวียนบุคลากรเข้าพื้นที่ฟิลิปปินส์ได้นานขึ้น รวมทั้งพัฒนาและจัดการสถานที่สำหรับบุคลากรของสหรัฐฯ ในพื้นที่ฟิลิปปินส์ได้อีกด้วย
ความตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ในปี 2567 นี้ ฟิลิปปินส์พร้อมที่จะจัดการฝึกร่วมกับสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ ที่ชื่อว่า การฝึกร่วม…..รหัส Balikatan หรือบาลิกาตัน ที่ในภาษาตากาล็อกแปลว่า “เคียงบ่าเคียงไหล่” …..ระหว่างวันที่ 22 เมษายน – 10 พฤษภาคม โดยเป็นการฝึกร่วมที่ “ใหญ่ที่สุด” ในรอบหลายปี มีเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการฝึกนี้มากกว่า 16,000 นายจากฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ตลอดจนมีออสเตรเลียเข้าร่วมด้วยเหมือนปีที่แล้ว สำหรับสิ่งที่ทำให้ปีนี้พิเศษ และ “ใหญ่” สุด ๆ เพราะมีกองทัพเรือฝรั่งเศสเข้าร่วมการฝึกด้วยเป็นครั้งแรก รวมทั้งจะมีประเทศต่าง ๆ ส่งผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์ถึง 14 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดาและนิวซีแลนด์
นอกจากการฝึกครั้งนี้จะยิ่งใหญ่ด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมแล้ว ยังยิ่งใหญ่ด้วยเรื่องที่จะฝึกร่วมกันอีกด้วย มีทั้งการฝึกเรื่องป้องกันขีปนาวุธ ปฏิบัติการเพื่อป้องกันความปลอดภัยทางทะเล ปฏิบัติการทางไซเบอร์ การฝึกสั่งการและควบคุมสถานการณ์ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร โดยสหรัฐอเมริกามองว่าการฝึก Balikatan ครั้งนี้ปรับเพิ่มทุกอย่างเพื่อให้ฟิลิปปินส์มีความสามารถในการรับมือกับอันตรายจากภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับพื้นที่การฝึกส่วนใหญ่จะอยู่ในอธิปไตยของฟิลิปปินส์ เช่น ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ จ.ลูซอน และ จ.ปาลาวัน ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้กับไต้หวันและทะเลจีนใต้ รวมทั้งจะฝึกในพื้นที่นอกทะเลอาณาเขตของฟิลิปปินส์เป็นครั้งแรกด้วย
เมื่อวิเคราะห์ดูสาเหตุที่ฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ต้องการจัดการฝึก Balikatan ครั้งที่ 39 ให้ยิ่งใหญ่และโปรโมทเยอะที่สุดในปีนี้ นับตั้งแต่ Balikatan เริ่มต้นเมื่อปี 2534 อาจเป็นเพราะ 2 เหตุผล
เหตุผลแรก…. ฟันธงได้เลยว่าเป็นเพราะเรื่องสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ (South China Sea) ที่ตึงเครียดมากขึ้นเป็นระยะ ๆ ตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา และฟิลิปปินส์ นอกจากจะเป็นประเทศหมู่เกาะ ที่ร่วมเป็นผู้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนและพื้นที่บริเวณดังกล่าวแล้ว ยังเป็นประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเคลื่อนไหวทางทหารในทะเลที่อา0จะทำให้เกิดอุบัติเหตุด้านความมั่นคงในพื้นที่ทะเลจีนใต้ได้ เพราะเหตุการณ์ยั่วยุทางการทหารหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จะเกิดจากฝ่ายฟิลิปปินส์และจีนเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการใช้เรือแรงดันน้ำตอบโต้กันไปมาในบริเวณสันดอนโธมัสที่ 2 ที่ทำให้สถานการณ์ในทะเลจีนใต้กลายเป็นข่าวอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งนอกจากปัจจัยด้านสถานการณ์ที่ตึงเครียดขึ้น อาจต้องเน้นด้วยว่า การที่จีนใช้ยุทธวิธีสีเทา (Gray Zone Tactics) ในการอ้างกรรมสิทธิ์และเพิ่มความชอบธรรมในการครอบครองทะเลจีนใต้ ยิ่งทำให้ฟิลิปปินส์ตกอยู่ในความเสี่ยงและเสียเปรียบได้ง่าย
ดังนั้น ฟิลิปปินส์คงหวังจะใช้การฝึก Balikatan เพิ่มความพร้อมให้กองทัพฟิลิปปินส์ได้มีความสามารถมากขึ้นจากการแชร์ความรู้และประสบการณ์ร่วมกับกองทัพจากประเทศอื่น ๆหลังจากการฝึกครั้งนี้ ฟิลิปปินส์จะมีระบบอาวุธใหม่ ๆ ไว้ใช้ป้องกันภัยด้วย ไม่ว่าจะเป็นระบบยิงจรวด High Mobility Artillery Rocket System (HIMARS) แบบที่สหรัฐฯ ให้ยูเครนใช้ และระบบยิงขีปนาวุธจากเรือรบรุ่นใหม่ C-star ที่ผลิตจากเกาหลีใต้ เพิ่อเสริมกำลังทหารให้ฟิลิปปินส์
เหตุผลที่สอง….. อาจเป็นเพราะฝ่ายสหรัฐอเมริกา ต้องการใช้การฝึกนี้เป็นความสำเร็จสำคัญในการดำเนินยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ หลังจากที่ความคืบหน้าในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดูเหมือนจะ “จืดจาง” ลงไป เพราะความใกล้ชิดกับอาเซียนก็ไม่คืบหน้า การแข่งขันอิทธิพลด้านเศรษฐกิจและการลงทุนกับจีนก็เหมือนจะเสียเปรียบ อเมริกาเลยต้องใช้ความร่วมมือที่ต่อยอดได้มากที่สุด คือ “การทหารและความมั่นคง” เป็นหลักเริ่มต้นขยายอิทธิพลในภูมิภาคต่อไป …..มีข้อสังเกตว่า สหรัฐอเมริกาเองก็ให้ความสำคัญกับ Balikatan อย่างมาก จึงมีความเป็นไปได้ที่หลังจากนี้ไป สหรัฐฯ จะกลับไปเน้นความร่วมมือกับฟิลิปปินส์ ต่อยอดจากความร่วมมือเดิม และเพิ่มเติมให้ประเทศนี้ร่วมมือกับพันธมิตรอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ด้วย โดยเฉพาะออสเตรเลียและญี่ปุ่น ที่กำลังเพิ่มความร่วมมือด้านทหารกับสหรัฐฯ เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น การฝึก Balikatan ประจำปี 2567 ที่ “ยกระดับใหญ่กว่าปีอื่น ๆ” จึงอาจเป็นหมุดหมายสำคัญของการขยายความร่วมมือทางทหารในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ โดยมีฟิลิปปินส์เป็นศูนย์กลาง และมีประเทศต่าง ๆ ที่สนใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายความมั่นคง (security network) ในพื้นที่ที่แข็งแกร่งต่อไป