การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังคงเป็นเรื่องใหญ่ที่สื่อรายงานข่าวอยู่ทุกวัน ๆ จนเรานึกสงสัยว่ามันจะมีทางออกของเรื่องนี้ไหมที่ไม่ใช่แนวทางการสู้รบหรือปฏิบัติการทางทหารระหว่างกัน…. เมื่อได้สำรวจก็พบข้อมูลว่า สวิตเซอร์แลนด์กำลังมุ่งมั่นจะจัดการประชุมนานาชาติเพื่อหาแผนสันติภาพให้ยูเครนทันในช่วงฤดูร้อนนี้ หรือการประชุมที่มีชื่อเรียกว่า Ukraine Peace Conference ระหว่าง 15-16 มิถุนายน 2567 โดยความคาดหวังของสวิตเซอร์แลนด์คือให้ผู้แทนของหลาย ๆ ประเทศสนับสนุนการแก้ไขความขัดแย้งนี้ร่วมกัน เพราะสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่สู้รบยืดเยื้อกันยาวนานมามากกว่า 2 ปี สร้างความเสียหายต่อบรรยากาศความมั่นคงโลกในมากมายหลายมิติ เพราะทุกสงครามไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก และความร่วมมือระหว่างประเทศ
บทความนี้อยากจะเน้นไปสำรวจความพยายามของนานาชาติที่จะยุติสงคราม ด้วยการเสนอ “แผนสันติภาพ” เพื่อพิสูจน์ว่า แนวคิดที่ว่านานาชาติควรจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ (external engagement) ตามแนวคิด cooperative security หรือการแสวงหาความร่วมมือเพื่อรักษาความมั่นคง ทั้งกับกลุ่มที่เป็นพันธมิตรกัน และกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน หรือแม้กระทั่งเป็นศัตรูคู่ขัดแย้งกัน ก็ยังสามารถร่วมมือกันได้นั้น จะยังคงเป็นแนวทางที่ดีในยุคสมัยอันวุ่นวายและซับซ้อนนี้ไหม และถ้าผลักดันสำเร็จ “แผนสันติภาพเพื่อยุติสถานการณ์ยูเครน” จะกลายเป็นโมเดลแก้ไขความขัดแย้งในพื้นที่อื่น ๆ ได้หรือไม่
หลายประเทศมีความพยายามจะเสนอตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนรอบนี้ เพราะรัสเซียกับยูเครนเหมือนจะเจรจากันเองไม่ได้ เนื่องจากมีเงื่อนไขในแผนการสันติภาพที่แตกต่างกัน อย่างยูเครนมีแผนสันติภาพ 10 ข้อที่ประกาศเมื่อปลายปี 2565 เน้นต้องการให้รัสเซียถอนทหารออกไปทั้งหมด ส่วนรัสเซียยืนยันจะต้องอยู่ในภูมิภาคตะวันออกของยูเครนต่อไป เพื่อปกป้องประชาชนในพื้นที่ที่ยึดมาจากการกดขี่ข่มเหงของยูเครนได้ เท่ากับว่า…แผนสันติภาพของทั้ง 2 ฝ่ายเหมือนพูดกันไปคนละเรื่องเดียวกัน จึงจำเป็นต้องมีประเทศอื่น ๆ เข้าไปไกล่เกลี่ย นอกจากจะรับบทคนกลางหรือผู้ไกล่เกลี่ยปัญหา ก็มีประเทศที่เสนอแผนสันติภาพเป็นทางเลือกให้ทั้ง 2 ฝ่ายด้วย วันนี้ขอหยิบมาเป็นตัวอย่าง 5 ประเทศก่อนจะไปที่สวิตเซอร์แลนด์ ที่กำลังวางแผนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเพื่อหาทางออกจากปัญหานี้ร่วมกัน
ประเทศแรก เดนมาร์ก สมาชิกสหภาพยุโรปแห่งนี้จัดการประชุมเรื่อสันติภาพในยูเครนไปเมื่อ มิถุนายน 2566 มีผู้แทนจากหลากหลายแห่งไปเข้าร่วม ทั้งสมาชิก G7 ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป รวมทั้งมีอินเดีย บราซิล ซาอุดีอาระเบีย เกาหลีใต้ ผลการประชุมครั้งนั้นค่อนข้างเข้าทางยูเครน เพราะแผนสันติภาพที่ไปคุยกันก็เป็นแผนของยูเครนที่รัสเซียไม่ยอมรับ
ประเทศที่สอง ตุรกี …เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีผู้นำสามารถพูดคุยและพบได้ทั้งกับประธานาธิบดีปูติน และประธานาธิบดีเชเลนสกีของยูเครน ตุรกีมีบทบาทสำคัญในการเจรจาให้เกิดการเปิดช่องทางส่งออกธัญพืชผ่านทะเลดำ ตามข้อตกลง Black Sea Grain Deal ที่แม้ว่าข้อตกลงนี้จะยุติไปแล้ว แต่ผลงานนี้ถือว่าช่วยลดปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่ยูเครนส่งออกธัญพืชไม่ได้เพราะสงคราม นอกจากนี้ ปัจจุบันตุรกีก็ยังไม่เคยลดละความพยายามหรือมีบทบาทในฐานะผู้เจรจาระหว่างยูเครนกับรัสเซีย เพราะเมื่อตอนที่ประธานาธิบดียูเครนเยือนตุรกีเมื่อ มีนาคม 2567 ผู้นำของตุรกีก็ได้แสดงความพร้อมที่จะจัดการพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนด้วย โดยใช้ชื่อว่าการประชุม peace summit แต่ดูเหมือนว่าทางยูเครนเองยังไม่พร้อมจะเข้าสู่การเจรจากับรัสเซีย หากเป็นการเจรจาที่ริเริ่มโดยประเทศอื่น เพราะยูเครนมองว่า รัสเซียที่เป็นผู้เริ่มรุกรานยูเครนก่อน ควรจะเป็นฝ่ายเสนอให้มีการเจรจาสันติภาพ เพื่อรับผิดชอบเหตุการณ์ทั้งหมดนี้
ประเทศที่สาม ซาอุดีอาระเบีย ในช่วงที่มหาอำนาจแห่งตะวันออกกลางแห่งนี้เข้าไปมีบทบาทในการจัดการพูดคุยแก้ไขปัญหารัสเซีย-ยูเครนรอบแรกเมื่อ สิงหาคม 2566 ทั่วโลกนึกว่าจะยุติสงครามได้แล้วเชียว เพราะเชิญประธานาธิบดีปูตินไปเข้าร่วมด้วย ดูทรงจะเข้ากรอบแนวคิด cooperative security มากที่สุดแล้ว แต่ท้ายที่สุด การที่ประธานาธิบดีปูตินตัดสินใจไม่ไปเข้าร่วมในตอนท้าย ทำให้การประชุมไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาร่วมกันของทุกฝ่าย แม้จะมีผู้แทนจากอีก 40 ประเทศ รวมทั้งยูเครน ไปเข้าร่วมก็ตาม
การเจรจาที่ซาอุดีอาระเบียรอบล่าสุด คือเมื่อธันวาคม 2566 เป็นการประชุมลับ ที่ท้ายที่สุดก็เปิดเผยออกมาว่ามีเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของหลายประเทศไปเข้าร่วม สาเหตุที่เขาจัดให้เป็นการประชุมลับเพราะไม่ต้องการสร้างความลำบากใจให้ประเทศต่าง ๆ ที่ยังลังเลหรือกังวลใจว่าถ้าไปแล้วรัสเซียจะโกรธไหม จะไม่พอใจหรือเปล่า หรือจะส่งผลกระทบต่อความร่วมมือกับรัสเซียหรือไม่ การประชุมครั้งนี้จึงไม่มีการเปิดเผยกำหนดการล่วงหน้า ว่ากันว่าประเทศที่ไปเข้าร่วมก็มียูเครน สมาชิกกลุ่ม G7 ตุรกี อินเดีย และประเทศซีกโลกใต้จำนวนหนึ่ง แน่นอนว่าไม่มีรัสเซีย และไม่มีจีน บราซิล รวมทั้ง UAE ที่เคยเข้าร่วมการประชุมครั้งก่อนด้วย ซึ่งผลลัพธ์การพูดคุยกันครั้งนั้นไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ เพราะแม้บางประเทศจะผลักดันให้ G7 และยูเครนไปคุยกับรัสเซียตรง ๆ แต่ตอนนั้นยูเครนไม่เอาด้วยเลย เพราะได้รับผลกระทบหนักมากจากขีปนาวุธของรัสเซีย
ประเทศที่สี่ มอลตา ประเทศเกาะขนาดเล็กในยุโรป ได้จัดการประชุมไปเมื่อ ตุลาคม 2566 มีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วม 65 ประเทศ ถือว่าเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งที่ 3 แต่มอลตาไม่ประสบความสำเร็จในการเชิญรัสเซียไปเข้าร่วมด้วย ท้ายที่สุดก็กลายเป็นการประชุมที่รัสเซียโจมตีว่าเป็นอีเวนท์ที่จัดขึ้นเพื่อต่อต้านรัสเซีย
ประเทศสุดท้าย จีน ที่จริงจีนไม่เคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสันติภาพ แต่เราเลือกจีนขึ้นมาเพราะจีนเสนอแผนสันติภาพให้รัสเซีย-ยูเครนและทั่วโลกลองนำไปคิดเป็นทางเลือกใหม่ด้วย เรียกว่าเอกสาร China’s Peace Plan เสนอเมื่อ กุมภาพันธ์ 2566 มีสาระสำคัญทั้งหมด 12 ข้อ หลาย ๆ ข้อดูเหมือนเป็นการส่ง message แบบกว้าง ๆ ไม่เฉพาะเจาะจงเป้าหมายไปที่การแก้ไขปัญหารัสเซีย-ยูเครน และดูเหมือนจะเป็นประโยชน์กับจีนในเวทีระหว่างประเทศ เช่น ให้ทุกฝ่ายเคารพอธิปไตยเหนือดินแดนของประเทศอื่น ให้ยุติการแพร่กระจายแนวคิดยุคสงครามเย็น ให้ทุกฝ่ายกลับเข้าสู่การเจรจา เน้นความสำคัญของมาตรการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ห้ามการใช้อาวุธนิวเคลียร์ และส่งเสริมความร่วมมือด้านการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม
…………แม้ว่าจีนจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซีย แต่ข้อเสนอของจีนก็ไม่ได้รับการตอบรับ ทำให้ปัจจุบัน แผนสันติภาพรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่มีฉบับไหนที่ได้รับการยอมรับจากทั้ง 2 ฝ่าย หรือนานาชาติเลยแม้แต่ฉบับเดียว
กลับมาที่บทบาทของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการเป็นศูนย์กลางการประชุมและเจรจาที่สำคัญ ๆ ของโลก จริง ๆ แล้วสวิตเซอร์แลนด์ เคยจัดการประชุมเพื่อผลักดันสันติภาพยูเครนไปแล้ว เมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้เอง คือในช่วงที่มีการประชุม World Economic Forum โดยมีผู้แทนจาก 83 ประเทศเข้าร่วม จึงถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีพอสมควร สวิตเซอร์แลนด์ถือว่าตนเองประสบความสำเร็จที่ประเทศต่าง ๆ ส่งผู้แทนมาเข้าร่วม เพราะคาดหวังให้การประชุมมีผลเปลี่ยนแปลงสถานการณ์จริง ๆ โดยเฉพาะการที่มีสมาชิก BRICS เข้าเกือบครบ ที่ว่าเกือบครบเพราะรัสเซียกับจีนไม่เข้าร่วม
มีข้อสังเกตนึงเกี่ยวกับการประชุมเรื่องยูเครนที่สวิตเซอร์แลนด์รอบนั้น คือ มีการโปรโมทเยอะมากว่าประเทศซีกโลกใต้ หรือ global south ไปเข้าร่วมการประชุมนี้ อันนี้อาจจะเป็นความพยายามในการทำให้รัสเซียเห็นว่า ประเทศที่สนับสนุนสันติภาพ มีจำนวนมากขึ้น เพื่อโน้มน้าวให้รัสเซียเข้าร่วมการประชุมหรือการเจรจาเพื่อดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังในปี 2567
แต่ดูเหมือนว่า ความหวังของสวิตเซอร์แลนด์ที่จะสร้างสันติภาพตามหลักการ cooperative security ด้วยการประชุมครั้งนี้ จะไม่เป็นจริงซะแล้ว เพราะเมื่อประกาศว่ากำหนดการจะเริ่มขึ้นใน 15-16 มิถุนายนนี้ ทางรัสเซียก็ยืนยันว่าจะไม่เข้าร่วมทันที ดับฝันการบรรลุข้อตกลงเพื่อยุติสงครามในพื้นที่ hot spot ของโลกอีกครั้ง ดังนั้น…อาจจะสรุปได้ตรงนี้ว่า แผนสันติภาพ 10 ข้อของยูเครนจะยังไม่สามารถดำเนินการได้ต่อไป เพราะหากคู่ขัดแย้งอย่างรัสเซียไม่ยอมรับ ก็ไม่มีวี่แววว่าจะแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยการผลักดันของนานาชาติ บทเรียนนี้อาจทำให้โลกต้องเลือกจะร่วมมือกับรัสเซียให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงจากรัสเซีย โดยให้ปรับมุมมองต่อสถานการณ์ตรงที่ให้ตระหนักว่าจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัสเซียไม่น้อยเหมือนกัน…