♪♪♪ You got my temperature rising Like El Nin-YO! ♪♪♪ หากคุณโตมาในยุค 90 ก็คงต้องเคยได้ยินเพลงฮิตติดชาร์ตของนักร้องสาวชาวไทยอย่างคุณอมิตา ทาทายัง อย่างเพลง El-nin yo กันมาบ้าง ..แต่เอ๊ะ !! แล้วเพลงมาเกี่ยวอะไรกับ “ลานีญา” ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่โลกกำลังจะเผชิญหน้า
แต่ถ้าลองนึกย้อนกลับไปสมัยที่เรายังเป็นเด็ก ในวิชาวิทยาศาสตร์ เรามักจะได้ยินคำสองคำที่มาคู่กันเสมอ นั่นคือ “ลานีญา-เอลนีโญ” แต่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว เพราะ “เอลนีโญ” ก็ตามความหมายแบบของเพลงตรงๆ ตัวเลย ที่แปลออกมาว่า ♪คุณทำให้อุณหภูมิของฉันสูงขึ้นอย่างกับเอลนีโญ♪ นั่นก็หมายถึงการร้อนแบบสุดขีดจนเกิดภาวะแห้งแล้ง ส่วน “ลานีญา” ก็ตรงข้ามกันเลย คือ ฝนตกหนักจนเกิดภาวะน้ำท่วม…..นั่นเอง
หลายๆ คน อาจจะติดตามดูข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยากันบ้างว่า วันนี้จะมีอุณหภูมิกี่องศา จะร้อนสุดเท่าไร ฝนจะตกไหม แต่ทราบกันหรือไม่ว่า องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization- WMO) ของสหประชาชาติ ได้ประกาศเมื่อเดือน กรกฎาคม 2566 ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญได้เริ่มขึ้นแล้ว ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม และบริเวณที่ได้รับผลกระทบ คือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย หากเราลองนึกย้อนไปในหลายๆ เดือนก่อน เราก็รู้สึกได้ว่า ฤดูหนาวของไทยเรานั้นสั้นเพียงนิดเดียว หลายๆ คนเพิ่งจะดีใจได้หยิบเสื้อกันหนาวมาใส่ประชันแฟชั่นกัน แต่ก็ทำได้เพียงไม่กี่วันก็ต้องพับเสื้อเหล่านั้นเก็บเข้าตู้ที่เดิม เพราะความร้อนได้แวะเวียนเข้ามาหาอย่างรวดเร็ว จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเราถึงได้ร้อนจนรู้สึกว่าตัวเองเป็นเหมือนคุกกี้ที่กำลังนอนรอเวลาที่จะสุกอยู่ในเตาอบ
แต่โดยปกติแล้วปรากฏการณ์อย่างนี้มักจะเกิดขึ้นนานประมาณ 9-12 เดือน ซึ่งถ้าลองนับดู ช่วงเวลานี้ก็น่าจะเริ่มถึงช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านของปรากฏการณ์ ซึ่งกรมอุตุฯ ได้ประกาศว่า สภาวะเอลนีโญกำลังอ่อนลงแล้ว และคาดว่าจะเข้าสู่ช่วงสภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2567 และมีความน่าจะเป็นกว่า 60% ที่จะเริ่มเข้าสู่สภาวะ “ลานีญา” ในช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2567
อย่างที่เรารู้กันว่าลานีญาและเอลนีโญเป็นสองปรากฏการณ์สวนทางกันตลอด จากที่เคยร้อนมากๆ ก็จะกลายเป็นว่ามีระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและมีฝนตกหนักมากกว่าปกติ อุณหภูมิของอากาศก็จะต่ำกว่าปกติ อาจเกิดพายุฤดูร้อนได้บ่อยขึ้น และอาจส่งผลทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ในบางพื้นที่ หรือในบางที่ก็อาจเผชิญกับภาวะฝนทิ้งช่วงด้วยก็เป็นได้ ซึ่งไทยจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
หน่วยงานภาครัฐอย่าง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงมีการจัดทำ (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ประกอบด้วย 1) คาดการณ์ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วง 2) ทบทวน ปรับปรุง เกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำอย่างบูรณาการในระบบลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ 3) เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำโทรมาตร บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยง และศูนย์อพยพให้สามารถรองรับสถานการณ์ในช่วงน้ำหลากและฝนทิ้งช่วง 4) ตรวจสอบพร้อมติดตามความมั่นคงปลอดภัย คันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ 5) เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำอย่างเป็นระบบ 6) ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ 7) เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภท 8) สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์ 9) การสร้างการรับรู้ ศูนย์บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์ และ 10) ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย โดยมาตรการเหล่านี้นั้นเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือโดยภาพรวมระดับประเทศ
………อย่างไรก็ดีไม่ใช่เพียงแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่จะต้องทำหน้าที่ดูแลและเตรียมการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น สำหรับประชาชนนั้นก็ไม่ควรที่จะนิ่งนอนใจและรอรับการช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับ “ลานีญา” โดยการศึกษาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น หมั่นติดตามข่าวสารและประกาศเตือน หากฝนตกหนักติดต่อกัน อาจจะต้องเตรียมลู่ทางในการอพยพ หรือย้ายของมีค่าต่างๆ ขึ้นที่สูง เตรียมข้าวสารอาหารแห้ง ยารักษาโรค ไฟฉาย และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นเผื่อในกรณีเกิดเหตุอุทกภัย ตลอดจนการดูแลบุตรหลานให้ระวังจมน้ำ …..และที่สำคัญอย่าลืมดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมไปถึงโรคติดต่อที่จะมาพร้อมกันด้วย
……………ทั้งนี้ ไม่ว่าอากาศจะเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด ถ้าเตรียมพร้อมไว้เสมอ แม้ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายเพียงใดแค่ไหน…ก็น่าจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้เช่นกัน