การกลับมาเปิดเมืองของประเทศต่าง ๆ หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เบาบาง ทำให้ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็เจอแต่ผู้คนพลุกพล่านมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมือง ไม่ว่าจะเป็นเมืองใหญ่ เมืองหลัก หรือเมืองรอง แต่ไม่ว่าจะเมืองไหน ๆ เราก็ต้องการความปลอดภัยไม่ต่างกัน……แน่นอน
ข่าวมือมีด ที่เป็นชายวัย 40 ปี ไล่แทงคนที่ห้างสรรพสินค้า Westfield Bondi Junction ทางตะวันตกของซิดนีย์ ออสเตรเลีย เมื่อ 13 เมษายน 2567 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 คนและมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 8 คน โดยตำรวจเชื่อว่า มือมีดที่ก่อเหตุเพียงลำพัง มีปัญหาทางจิต และตัดสินใจวิสามัญฆาตกรรมในที่เกิดเหตุ… อีก 2 วันต่อมา มีเด็กชายวัยรุ่นอายุ 16 ปี ก่อเหตุไล่แทงที่โบสถ์ Christ The Good Shepherd Church ในซิดนีย์ เป็นเหตุให้บิชอฟและสานุศิษย์ได้รับบาดเจ็บเมื่อ 15 เมษายน 2567 ซึ่งตำรวจระบุว่าเป็นการก่อการร้าย เนื่องจากผู้ก่อเหตุมีแนวคิดสุดโต่งนิยมความรุนแรง ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีกับเด็กชายวัยรุ่นอายุระหว่าง 14-17 ปีเพิ่มเติมอีก 5 คน ด้วยข้อหาพัวพันกับการก่อการร้าย เนื่องจากทั้งหมดมีอุดมการณ์สุดโต่งใช้ความรุนแรง และเกี่ยวข้องกับเด็กชายมือมีดวัย 16 ปีที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้
ขณะที่สหราชอาณาจักรก็มีข่าวในทำนองเดียวกันคือ มีชายวัย 36 ปี ใช้ดาบไล่ฟันผู้คนที่เดินในที่สาธารณะ 5 คน เป็นพลเรือน 3 คน และตำรวจ 2 คน ที่ชุมชน Hainault ในลอนดอน เมื่อ 30 เมษายน 2567 ก่อนที่ตำรวจจะจับกุมตัวผู้ก่อเหตุได้ ซึ่งตำรวจสันนิษฐานว่าไม่ใช่การก่อการร้าย ส่วนจีนเกิดเหตุมือมีดไล่แทงผู้คนในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่มณฑลยูนนาน เมื่อ 7 พฤษภาคม 2567 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บ 21 คน เหตุการณ์ทั้งหมดคงพอสะท้อนถึงความไม่ปลอดภัยที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงในเมืองและพื้นที่ชุมชน
การใช้มีดเป็นอาวุธในการก่อเหตุรุนแรง ไม่ใช่เรื่องใหม่ ช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 หลายประเทศในยุโรปประสบปัญหาการใช้มีดไล่แทงผู้คนในที่สาธารณะบ่อยครั้ง รวมทั้งยังมีการขับรถพุ่งชนฝูงชน ซึ่งหลายครั้งผู้ก่อเหตุมีแนวคิดนิยมความรุนแรง ขณะที่หลายเมืองในสหรัฐฯ มีข่าวการกราดยิงบ่อย ๆ และหลายครั้งผู้ก่อเหตุเป็นเด็ก หรือมีเป้าหมายที่เด็ก การก่อเหตุรุนแรงในลักษณะนี้ เดิมเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในห้วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากลับเป็นเรื่องที่พบเจอได้ในหลายประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ไทย และไม่ว่าผู้ก่อเหตุจะมีวัตถุประสงค์ใด สิ่งที่ต้องคิดคือ จะทำอย่างไรให้เมืองและชุมชนเป็นพื้นทีปลอดภัย…ไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงภัยที่ยากจะป้องกัน
ในกรณีของไทย หนังสือเรื่อง “เมืองกับการก่อการร้ายร่วมสมัย” ของโครงการความมั่นคงศึกษา ระบุว่า ไทยอาจต้องแบ่งพื้นที่ตามลำดับความเสี่ยง ได้แก่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่เมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และพื้นที่ที่เป็นแหล่งชุมชนหนาแน่น โดยแต่ละพื้นที่ต้องการมาตรการรักษาความปลอดภัย(รปภ.)ที่เข้มข้นแตกต่างกัน ทั้งการเตรียมการป้องกันและการรับมือกับเหตุฉุกเฉิน ขณะที่การสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนเพื่อให้ตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และร่วมมือกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม และระหว่างประชาชนด้วยกันในการ รปภ. แจ้งข่าวสารความผิดปกติ ตลอดจนเรียนรู้ที่จะป้องกันตัวและช่วยเหลือกันในยามคับขัน เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากผู้ก่อเหตุเป็นไปได้ทั้งคนในพื้นที่ คนต่างพื้นที่ และคนต่างชาติ และยิ่งน่ากังวลมากขึ้นในห้วงที่มีคนล้นเมือง เนื่องจากจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงหากมีผู้ไม่ประสงค์ดีก่อเหตุรุนแรง
ไม่เพียงแรงจูงใจจากการก่อการร้ายหรือความไม่พอใจภาวะสงครามที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่…ในการตัดสินใจใช้ความรุนแรงของผู้ก่อเหตุ ซึ่งอาจจะเป็นสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายสากล กลุ่มในท้องถิ่น หรือผู้ก่อเหตุโดยลำพังที่มีการบ่มเพาะแนวคิดนิยมความรุนแรงด้วยตัวเอง เป็นสิ่งที่ต้องกังวลสำหรับความปลอดภัยในเมืองและพื้นที่ชุมชน ….แต่การก่อเหตุที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และจีนก็กระตุ้นเตือนให้ฉุกคิดถึงอันตรายที่มาจากอาวุธโลว์เทคและพบเจอได้ง่ายในชีวิตประจำวัน เช่น มีด ด้วย และที่สำคัญคือ มาจากบุคคลธรรมดา ที่ยากจะคาดเดาหรือตรวจพบเบาะแส ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ที่ไม่อาจมองเห็นความผิดปกติจากรูปลักษณ์ภายนอก หรือผู้ที่ผิดหวังทางเศรษฐกิจและสังคม แต่เลือกใช้ความรุนแรงในการแก้แค้นสังคมหรือระบายความเครียดหรือความทุกข์ยากที่เผชิญอยู่
……….และเมื่อมองจากสายตาของคนธรรมดาทั่วไป การก่อเหตุของผู้ก่อเหตุที่เป็นเยาวชนและเกิดขึ้นในหลายประเทศกลายเป็นความเสี่ยงที่ต้องห่วงกังวลว่าจะเกิดมากขึ้นไม่ต่างจากผู้ก่อเหตุวัยผู้ใหญ่ โดยมีปัจจัยผลักดันไม่ต่างกัน ทั้งการมีพฤติกรรมเลียนแบบ ความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การใช้แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ปัญหาครอบครัวและสังคม และการมีอาวุธในครอบครองทั้งได้จากการซื้อหาหรือประดิษฐ์ขึ้นเองเพื่อใช้ก่อเหตุก็ทำได้ไม่ยาก ขณะที่ความเสี่ยงจากการก่อเหตุโดยผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตก็มีไม่น้อยเมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ในกรณีของไทยข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปี 2566 มีผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 4 ล้านคน ไม่รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยจากยาเสพติดอีก 2.5 ล้านคนเมื่อปี 2565 คิดเป็น 6.44% ของประชากรไทยทั้งหมด ในจำนวนนี้มีเพียง 38.75% ที่เข้าถึงการรักษา
ตัวเลขผู้ป่วยที่สูงขึ้นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่า ความเสี่ยงจากการก่อเหตุของผู้ป่วยทางจิตมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นและเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย โดยมีสาเหตุจากปัจจัยส่วนตัวของผู้ป่วย ความเครียดและแรงกดดันต่าง ๆ สภาพแวดล้อมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลภาวะ ที่ส่งผลต่อระบบประสาทและสมองของมนุษย์ ทำให้เกิดความเจ็บป่วยทางจิตใจ ซึมเศร้า วิตกกังวล รวมถึงการใช้ความรุนแรง เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาชญากรที่มีการใช้ความรุนแรงอยู่แล้ว เช่น กรณีสหราชอาณาจักร ที่มีข้อมูลว่ามีการก่ออาชญากรรมโดยใช้มีดเป็นอาวุธเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อปี 2566 ส่วนใหญ่ร้อยละ 29 เกิดขึ้นในเขตเมือง เฉพาะที่ลอนดอนมีการใช้มีดในการก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20
………..เหตุปัจจัยเหล่านี้สะท้อนว่า เมืองและชุมชนกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยมากขึ้น โดยเป้าหมายไม่ได้จำกัดเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน สถานที่สำคัญ หรือผลประโยชน์ของต่างชาติเท่านั้น ที่มักตกเป็นตัวเลือกของผู้ก่อเหตุที่มีจุดประสงค์ทางการเมือง แต่เหยื่อการก่อเหตุรุนแรงในเขตเมืองและชุมชนในปัจจุบัน……เป็นใครก็ได้ที่เผชิญหน้ากับผู้ก่อเหตุในขณะนั้น คำถามคือจะทำอย่างไรเพื่อให้เมืองเป็นพื้นที่ปลอดภัยมากกว่าจะเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยสำหรับทุกคน….หรือลดความสูญเสียให้น้อยที่สุด