เป็นเรื่องปกติที่สัตว์จะอพยพหรือย้ายถิ่นเพื่อไปหาแหล่งที่อยู่ที่เหมาะสม ทั้งการย้ายชั่วคราวในรอบปี หรือย้ายเพื่อไปตั้งถิ่นฐานใหม่ สำหรับหาแหล่งที่อยู่อาศัย และในสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายพื้นที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวนทั้งคลื่นความร้อน วาตภัย และอุทกภัย จึงไม่แปลกที่คราวนี้ ไม่ใช่แค่สัตว์ที่เลือกจะอพยพเพื่อเอาตัวรอด แต่ “มนุษย์” กำลังจะอพยพกันอีกครั้ง หรือจะเกิดเหตุการณ์ “The Great Migration” ซึ่งครั้งนี้จะไปเพื่อบุกเบิกตั้งถิ่นฐานใหม่ในดินแดนที่ไม่มีใครครอบครองมาก่อน ก็คือ ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ….ไปดูกันว่าแนวคิดนี้จะเป็นจริงได้หรือไม่!?
แนวคิดการอพยพไปอยู่ที่ขั้วโลกเหนือเกิดขึ้นมานานแล้ว เคยมีการศึกษาที่ระบุว่ามนุษย์เดินทางไปมาที่ภูมิภาคนี้อยู่เรื่อย ๆ และโอกาสที่คนเราจะไปตั้งรากฐานที่นั้นก็อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เนื่องจากโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลให้น้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็ว และทำให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ เพราะมีฤดูร้อนที่ยาวนานขึ้นกว่าเดิม ขั้วโลกเหนือจึงสามารถกลายเป็นทุ่งหญ้าที่เป็นแหล่งอาหารสัตว์ ซึ่งมีรายงานว่า “แมลง” หรือสิ่งมีชีวิตที่บ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ในขั้วโลกเหนือ ก็มีวงจรการเติบโตที่เปลี่ยนไป เริ่มมีแมลงหลากหลายชนิด เช่น ผึ้งและยุง …..จากหลักฐานเหล่านี้ทำให้อาจกล่าวได้ว่า ขั้วโลกเหนือเริ่มเหมาะกับการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตได้มากขึ้น
อ่านดูแล้วน่าสนใจ แล้วถ้าหากมนุษย์จะต้องไปตั้งถิ่นฐานยังทวีปใหม่แห่งนี้จะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง?
ถ้าอพยพไปขั้วโลกเหนือ …..แม้จะไปในช่วงที่น้ำแข็งละลายและมีอุณหภูมิสูงขึ้นแล้ว แต่จากการสำรวจล่าสุด การทำเกษตรกรรมในขั้วโลกเหนือก็ยังไม่สามารถทำได้ตลอดปี เนื่องจากแกนโลกของเรานั้นเอียง จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์เที่ยงคืน ที่กินเวลานาน 5 เดือน จะมี 1 เดือนที่แสงสว่างตลอดวันเปลี่ยนแปลง จากนั้นก็จะเข้าสู่ความมืดไร้แสงตะวันต่ออีก 6 เดือน การทำเกษตรกรรมสำหรับมนุษย์ที่ต้องการย้ายไปอยู่ที่ขั้วโลกเหนือ จึงอาจต้องอาศัยแสงสังเคราะห์ หรือการเพาะปลูกในโรงเรือนเพียงเท่านั้น
นอกจากนั้น การตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่อาร์กติกยังจำเป็นจะต้องได้รับการยอมรับจากชนพื้นเมือง ได้แก่ ชาวเอสกิโมจากทวีปอเมริกาเหนือ ชาวซามิจากทวีปยุโรป และชาวยาคุตสค์จากไซบีเรีย มิฉะนั้นอาจกลายเป็นการบุกรุกและก่อให้เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่สงครามได้
ถ้าการไปอยู่ขั้วโลกเหนือจะเป็นเรื่องยากไปสักนิด ลองไปดูความเป็นไปได้ที่จะไปอยู่ที่ขั้วโลกใต้ หรือ ทวีปแอนตาร์กติกแทน ซึ่งปัจจุบันไร้ซึ่งมนุษย์ จะมีก็เพียงกลุ่มนักวิจัยที่ตั้งห้องทดลองเฉพาะในฤดูร้อนระยะสั้นๆ เนื่องจากสภาพอากาศเลวร้ายกว่าขั้วโลกเหนือมาก ไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย ความหลากหลายทางชีวภาพก็ต่ำ ไม่เหมาะกับสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ แม้ความหนาวเย็นจะลดลงและน้ำแข็งจะละลายจนเห็นแผ่นดิน เนื่องจากเผชิญภาวะโลกร้อน
……..แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำแข็งหนาหลายกิโลเมตรมาตลอด คือ ภูมิประเทศลักษณะขรุขระที่เกิดจากการกัดเซาะของธารน้ำแข็ง แอ่งทะเลสาบน้ำเค็ม รวมถึงภูเขาไฟราว 100 ลูกที่ยังคงปะทุอยู่ และพื้นที่ที่แห้งแล้งกว่าทะเลทราย อย่างเช่น หุบเขาแม็กเมอร์โด้ดราย (Mcmurdo Dry Valleys) ที่ไม่เคยมีฝนตกลงมาเลยและไร้สิ่งมีชีวิต อุปสรรคเหล่านี้จะท้าทายให้กับเหล่าประชากรที่หนีภัยพิบัติต่างๆ มาหาโอกาสในการใช้ชีวิตในพื้นที่แห่งนี้
เท่ากับว่าขั้วโลกใต้ก็ยังไม่ต้อนรับสิ่งมีชีวิตสักเท่าไหร่ …โอกาสแรกของมนุษย์เราจึงอาจจะเป็นขั้วโลกเหนือมากกว่า
แม้ว่าโอกาสในการอพยพย้ายที่อยู่ไปยังดินแดนน้ำแข็งจะมองดูเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ซึ่งดินแดนดังกล่าวก็กำลังค่อย ๆ เปลี่ยนสภาพไปจนจะสามารถอยู่อาศัยได้จริง ๆ แต่ในทำนองเดียวกัน…กว่าที่ขั้วโลกเหนือจะกลายเป็นพื้นที่ที่สามารถอยู่อาศัยได้ ก็หมายถึงว่าน้ำแข็งในขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็วและเกิดปริมาณน้ำจืดมหาศาล ที่อาจเรียกได้ว่า “ได้รับการปลดปล่อยออกจากเขื่อนน้ำแข็ง” และแน่นอนว่าจะเข้าท่วมพื้นที่ชายฝั่งไม่ต่ำกว่า 30-40 เซนติเมตร การได้มาซึ่งดินแดนในขั้วโลกเหนือ อาจต้องแลกมากับการที่ชาวเมืองริมทะเลจำนวนกว่า 2,000 ล้านคน จะไร้ที่อยู่อาศัยทันที และจะต้องเอาชีวิตรอดให้ได้ ก่อนที่จะได้ร่วมกันย้ายไปอยู่ขั้วโลกเหนือ เพื่อไปเผชิญกับความท้าทายทั้งด้านภูมิประเทศและภูมิอากาศแบบใหม่ และต้องเรียนรู้ทักษะใหม่เพื่อปรับตัวสำหรับการอยู่รอดครั้งใหม่
สรุปว่า การย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ขั้วโลก อาจเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งที่ท้าทาย แต่ต้องไม่ลืมว่า โลกเรายังมีพื้นที่ว่างอีกหลายแห่งที่อาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจได้ เพราะปัจจุบัน ทะเลทรายแห้งแล้งที่เคยถูกทิ้งไว้ให้เปล่าประโยชน์กลางประเทศในอเมริกา จีน และออสเตรเลีย กำลังได้รับการทดลองและเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งอาจเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สำหรับการเพาะปลูกไปได้ในอนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์เข้าไปเปลี่ยนแปลง
ส่วนพื้นที่ป่าของโลก….อาจจะไม่ได้เป็นตัวเลือกในเรื่องนี้ ไม่ใช่เพราะไม่เหมาะสม แต่เพราะผืนป่ากำลังถูกทำลายลงเรื่อย ๆ ต่างหาก! อัตราการทำลายป่าก็รวดเร็วซะด้วย อยู่ที่เฉลี่ยขนาด 10 สนามฟุตบอลต่อนาที ดังนั้น แม้ว่ามนุษย์จะมีความรู้ วิทยาการ และเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการอยู่รอด แต่ดูเหมือนว่า “ทางเลือก” ที่อยู่อาศัยอาจจะมีจำกัด อาจเป็นเพราะธรรมชาติกำลังลงโทษมนุษย์เราที่มีส่วนร่วมในการทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงรวดเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น เราอาจจะต้องเร่งมือและเร่งวิวัฒนาการตัวเรา รวมทั้งเครื่องมือต่าง ๆ ให้สามารถปรับตัวอยู่รอดได้ในสภาวะที่ยากเย็นกันต่อไป