ประเทศยุโรป 3 แห่ง ได้แก่ นอร์เวย์ สเปน และไอร์แลนด์ ประกาศเมื่อ 22 พฤษภาคม 2567 ว่ามีแผนจะรับรองรัฐปาเลสไตน์อย่างเป็นทางการ เริ่มตั้งแต่ 28 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อส่งเสริมสันติภาพในภูมิภาค เนื่องจากการรับรองรัฐปาเลสไตน์จะทำให้รัฐปาเลสไตน์มีสิทธิเท่าเทียมประเทศอื่น ๆ ในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งเอื้อต่อแนวทาง 2 รัฐ หรือ (Two-state solution) ที่จะแก้ไขปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ด้วยการให้ทั้ง 2 รัฐอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นแนวทางที่เสนอโดยนานาชาติผ่านข้อตกลงออสโล (The Oslo Accords) เมื่อปี 2536
คาดว่า ประเทศอื่น ๆ จะทยอยประกาศรับรองรัฐปาเลสไตน์เพิ่มเติม เพื่อหวังให้ยุติปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง …..ปัจจุบัน มีประเทศที่รับรองรัฐปาเลสไตน์ 135 ประเทศ รวมทั้งไทย ซึ่งรับรองรัฐปาเลสไตน์เมื่อปี 2557 หรือช่วงที่ผู้นำชาวปาเลสไตน์ทั้งในฉนวนกาซาและเขตเวสต์แบงก์ ตกลงกันจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อให้นานาชาติรับรองสถานะปาเลสไตน์เป็นรัฐ ทั้งนี้เมื่อเป็นรัฐแล้ว ปาเลสไตน์จะได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายระหว่างประเทศ
ที่ผ่านมา ปาเลสไตน์มีองค์ประกอบครบถ้วนที่จะสามารถเป็นรัฐตามอนุสัญญากรุงมอนเตวิเตโอ (Montevideo Convention on Rights and Duties of the states) คือ มีดินแดนที่แน่นอน มีประชากรอยู่อาศัยได้เป็นสังคม มีรัฐบาลที่ทำหน้าที่บริหารจัดการดินแดนในพื้นที่ และมีอำนาจอธิปไตยเพื่อดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปกครองตนเองได้โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับรัฐอื่น เงื่อนไขทั้ง 4 อย่างนี้คือการมีสภาพรัฐที่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม หลายประเทศมองว่าปาเลสไตน์ยังไม่มีองค์ประกอบครบถ้วน เพราะอิสราเอลยังครอบครองดินแดนปาเลสไตน์บางส่วน รวมทั้งรัฐบาลยังขาดอำนาจในการปกปครองอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ปาเลสไตน์จะเป็นรัฐได้อย่างสมบูรณ์ ก็ต้องได้รับการรับรองจากประเทศอื่น ๆ (recognition)
การที่หลายประเทศเริ่มจะรับรองสถานะรัฐของปาเลสไตน์มากขึ้น ทำให้ปาเลสไตน์และนานาชาติขยับเข้าใกล้ความหวังที่จะใช้แนวทาง 2 รัฐแก้ไขปัญหาระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ …..สาเหตุที่หลายฝ่ายสนับสนุนแนวทางนี้ เพราะเป็นแนวทางที่น่าจะเป็นผลดีต่อทั้ง 2 ฝ่าย และยังเป็นแนวทางที่ตกลงร่วมกันโดยอดีตผู้นำอิสราเอลและผู้นำขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ จึงเท่ากับว่าได้รับการยอมรับแล้วจากผู้นำทางการเมืองของทั้ง 2 ข้าง โดยตอนนั้นเมื่อปี 2536 มีสหรัฐอเมริกาและสหประชาชาติร่วมสนับสนุนด้วย
สาระสำคัญของแนวทาง 2 รัฐ คือการที่อิสราเอลและปาเลสไตน์จะได้ร่วมกันถืออธิปไตยเหนือดินแดน โดยมีการแบ่งเขตและใช้กฎหมายแตกต่างกันได้ แนวทางนี้ดูจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะหลังจากที่อังกฤษผ่อนคลายอิทธิพลของตัวเองในพื้นที่ดังกล่าวในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ไม่เคยจัดสรรปันส่วนแบ่งพื้นที่นั้นให้ชัดเจนเลย ทำให้ดินแดนบริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะเยรูซาเล็มที่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิของหลายศาสนา กลายเป็น “พื้นที่เสี่ยงขัดแย้ง” ดังนั้นแนวทาง 2 รัฐ จึงคล้าย ๆ กับการอนุญาตให้ “เป็นเจ้าของดินแดนร่วมกัน” …แต่ในทางปฏิบัติหรือการนำแนวทางนั้นมาใช้ในสถานการณ์จริงกลับเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะเมื่ออิสราเอลและปาเลสไตน์ต่างมีความต้องการและเรื่องที่ยังยอมกันไม่ได้ จึงทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งกันมาตลอด …โดยไม่นำพาแนวทางสู่สันติภาพที่วางไว้อยู่ตรงหน้าแล้วก็ตาม
กระนั้นก็ดี แม้ว่าเวลาจะผ่านมานาน และความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์จะไม่เคยยุติลงไปได้แบบถาวร โดยมีสงครามเกิดขึ้นระหว่างกันเป็นระยะ ๆ แต่การที่ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มตื่นตัวกับเรื่องการรับรองรัฐปาเลสไตน์ รวมทั้งกลับมาพูดถึงแนวทาง 2 รัฐอีกครั้ง จึงรู้สึกว่าเหมือนกำลังเห็นความพยายามของประเทศต่าง ๆ ที่จะยุติวิกฤตด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซาที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2566 ด้วยการยกเอา “เครื่องมือ” ที่น่าจะมีประสิทธิภาพที่สุดมาเพิ่มสิทธิในเวทีระหว่างประเทศให้รัฐบาลปาเลสไตน์ รวมทั้งอาจเป็นการกดดันอิสราเอลทางอ้อม เพราะหลายเดือนที่ผ่านมา…. อิสราเอลไม่ฟังใครเลย ไม่ว่าจะเป็นการร้องขอให้ชะลอปฏิบัติการโจมตีทางทหารในพื้นที่ที่มีพลเรือนอาศัยอยู่ หรือให้เปิดทางรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา
การที่แนวทาง 2 รัฐ หรือถนนสู่สันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ กำลังกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง สะท้อนว่า ไม่ว่าโลกเราจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นมากมายแค่ไหน แต่ในอีกมุมหนึ่งจะมีความพยายามของนานาชาติ….เพื่อปกป้องสันติภาพอยู่เสมอ อาจเป็นเพราะสันติภาพหรือความสงบสุขคือสิ่งที่ทำให้สังคมมนุษย์อยู่รอดปลอดภัยได้ต่อไป และไม่ว่าการส่งเสริมแนวทาง 2 รัฐ รวมทั้งการรับรองรัฐปาเลสไตน์จะมีความคืบหน้าไปในทิศทางใด เชื่อว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่ออนาคตความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ก็คือความต้องการของประชาชนในทั้ง 2 พื้นที่ ซึ่งอาจจะใกล้ถึงจุด tipping point หรือต้องตัดสินใจแล้วว่าจะเอายังไงกับความบาดหมางนี้ เพราะถ้าทั้ง 2 ฝ่ายเลือกผิดทาง …อาจจะกลายเป็นการอยู่บนถนนที่มุ่งสู่ทางตัน มากกว่า “ทางรอด” ที่พอจะทำให้อิสราเอลและปาเลสไตน์อยู่ร่วมกันได้ต่อไป