ขยะคืออะไร….. ไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเราทุกคนต่างก็เป็นได้ทั้งผู้ผลิตและผู้ทิ้งขยะ และยิ่งผลิตมากขึ้นตามระดับการอุปโภค บริโภค และการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจําวันของเรา ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หลายครั้งเราจะเห็นภาพภูเขาขยะกองโตและบ่อขยะหลุมใหญ่ในบางพื้นที่ที่ชวนให้คิดว่า…… เราจะจัดการกับขยะยังไงที่นับวันจะมีมากขึ้นทั้งประเภทและปริมาณ
เป็นที่รู้กันว่า ขยะมูลฝอยแบ่งตามลักษณะทางกายภาพได้เป็น ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป และขยะอันตราย รวมถึงขยะหน้าใหม่ที่จะเป็นปัญหามากขึ้นในยุคดิจิทัลคือ …..ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ประกอบกับความสามารถในการออกแบบและสร้างสรรค์ของผู้ผลิตในธุรกิจต่าง ๆ ในปัจจุบัน เราจึงเห็นร่างใหม่ของขยะที่ผ่านกระบวนการแปลงร่างไม่ว่าจะเป็นรีไซเคิล หรืออัพไซเคิล เพื่อทำให้ของเหลือทิ้งเช่นขยะ กลับมีคุณค่าและเพิ่มมูลค่ากลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่หลากหลายประเภท อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะแปลงร่างขยะด้วยวิธีการใด กระบวนการที่นำมาใช้จะมีส่วนปล่อยมลพิษ ออกสู่สิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่าง ๆ….. จึงน่าสงสัยว่า การแปรสภาพขยะเป็นงานดีไซน์เพื่อนำกลับใช้ใหม่จะตอบโจทย์กระแสรักษ์โลกได้มากน้อยเพียงใด
ขณะที่ข่าวการลักลอบขนย้ายกากแคดเมียม ตามมาด้วยเหตุรั่วไหลและไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมีและวัตถุอันตรายหลายแห่งในช่วง 2-3 เดือนมานี้ ที่สร้างความหวาดวิตกให้ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้เคียง ถึงมาตรฐานความปลอดภัยและผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งต่อคุณภาพชีวิตตัวเองและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับมาตรการจัดการกับขยะของไทย ไม่เฉพาะขยะอันตราย ที่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนสารอันตราย วัตถุมีพิษ วัตถุกัดกร่อน วัตถุติดเชื้อ และวัตถุไวไฟเท่านั้น เพราะไทยไม่เพียงแต่มีขยะในประเทศจำนวนมากแล้ว แต่ไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่รองรับขยะจำนวนมากจากต่างประเทศด้วย ที่ผ่านมาไทยไม่มีมาตรการควบคุมหรือจำกัดการนำเข้า โดยเพิ่งจะมีนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกเมื่อต้นปี 2566 ซึ่งเป็นการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศหลังจาก 31 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป แต่อนุญาตให้โรงงานอุตสาหกรรม 14 แห่งที่กำหนด นำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่เขตปลอดอากร ระหว่างปี 2566 – 2567 ได้แก่ โรงงานทั้งหมดที่ใช้เศษพลาสติกเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออกที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากร นำเข้าไม่เกินความสามารถในการผลิตจริง รวม 372,994 ตัน ต่อปี
ในห้วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาขยะมากขึ้น ทั้งมาตรการจัดการในประเทศ และห้ามนำเข้าและส่งออกขยะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดโลกร้อน มลพิษ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น จีน ที่มีคำสั่งห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศเมื่อปี 2560 ทำให้ผู้ประกอบการรีไซเคิลพลาสติกในจีนต้องย้ายฐานการผลิต โดยมีไทยเป็นหนึ่งในตัวเลือก ซึ่งส่งผลให้ไทยกลายเป็นประเทศที่นำเข้าขยะพลาสติกมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เมื่อปี 2561 ที่นักลงทุนจีนเริ่มย้ายฐานการผลิตมาไทยมีการนำเข้าเศษพลาสติกเข้ามาในไทยมากถึง 552,912 ตัน มากกว่าการนำเข้าเมื่อปี 2560 ที่มีปริมาณ 152,737 ตัน ถึง 4 เท่า
ขณะที่สหภาพยุโรป (European Union – EU) บรรลุความตกลงทางการเมืองเมื่อต้นปี 2567 โดยห้ามสมาชิก EU ส่งออกขยะพลาสติกไปยังประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development – OECD) ตั้งแต่ปี 2569 กับทั้งจะออกข้อตกลงที่เข้มงวดในการส่งออกขยะพลาสติกไปยังประเทศ OECD มากขึ้น สำหรับการส่งออกของเสียอื่น ๆ ที่เหมาะสำหรับการรีไซเคิลจาก EU ไปยังประเทศนอก OECD จะเกิดขึ้นเฉพาะในกรณีที่มั่นใจว่าประเทศเหล่านั้นจะสามารถจัดการกับของเสียได้อย่างยั่งยืนเท่านั้น
มาตรการของ EU อาจเป็นหนึ่งในความพยายามแสดงความรับผิดชอบของ EU ในการจัดการกับของเสียที่ EU สร้างขึ้น โดยไม่โยนภาระไปให้ประเทศที่สาม รวมทั้งเป็นการป้องกันมลพิษและความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมในประเทศที่สามที่เกิดจากของเสียของ EU (ปี 2563 EU ส่งออกของเสียไปยังประเทศนอก EU 32.7 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของการค้าของเสียทั่วโลก) ขณะเดียวกันยังจะมีส่วนสนับสนุนเป้าหมายของ European Green Deal ในการลดมลพิษและส่งเสริมเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน
ท่ามกลางปัญหาระดับโลกที่มีหลากหลาย ปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นทั้งที่กองทับถมบนบกและที่ไหลลงสู่ทะเลเป็นอีกหนึ่งปัญหาร่วมกันของประชาคมโลกที่ต้องยอมรับว่าไม่ง่ายที่จะจัดการ อีกทั้งยังเป็นความท้าทายต่อความสามารถในการจัดการอย่างยั่งยืน ทั้งประเทศที่เป็นต้นกำเนิดและปลายทางของขยะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไทย ที่มีแนวโน้มจะมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นทั้งขยะอาหาร ขยะพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์ สัมพันธ์กับการขยายตัวของประชากรทั้งประชากรตามทะเบียนราษฎร์และประชากรแฝง การขยายตัวของเมือง การจัดการขยะที่ไม่เหมาะสม การทิ้งขยะอย่างผิดกฎหมาย อีกทั้งยังมีปัจจัยเสริมจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ
……..ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ขยะมูลฝอยเมื่อปี 2565 ก่อนที่ไทยจะเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบเช่นทุกวันนี้ ไทยมีปริมาณขยะ 25.70 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง และขยะมูลฝอยตกค้าง มีปริมาณรวมกันถึง 17.01 ล้านตัน
ปัจจุบัน ในขณะที่ทั่วโลกดูจะมุ่งมั่นกับการลดภาวะเรือนกระจก การแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองก็น่าจะเป็นอีกภารกิจที่ต้องการความมุ่งมั่นจริงจังในการแก้ไขปัญหาเช่นกันเพื่อลดปริมาณขยะ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคมรวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน เช่น Startups ด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยกันเปลี่ยน “ขยะ” ให้มีคุณค่าและมีราคามากกว่า……เป็นแค่ของเหลือทิ้ง