“ร้อนนนนน” คำสั้นๆ ที่ใคร ๆ ก็ต่างพากันตะโกนออกมาโดยเฉพาะในช่วงปีสองปีที่ผ่านมานี้ เพราะประเทศไทยของเรานั้นร้อนเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากผลกระทบของปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่ทำให้อุณหภูมิในโซนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นสูงขึ้นมาก และเป็นผลกระทบจาก “สภาวะโลกร้อน” ที่ค่อนข้างชัดเจนยิ่งขึ้น แล้วอะไรที่เป็นสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้น คำตอบที่ชัดเจนเลยก็คือ.. มนุษย์ ผู้ที่เป็นสาเหตุหลัก เนื่องจากมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ) ในบ้านเรือน โรงงาน รวมไปถึงยานพาหนะ ซึ่งมีการเผาไหม้และปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา โดยเจ้าก๊าซเรือนกระจกนี้เป็นตัวดูดซับคลื่นรังสีความร้อนในชั้นบรรยากาศใกล้กับพื้นผิวโลก จึงทำให้โลกของเราร้อนขึ้น
เมื่อมนุษย์ทำร้ายโลกได้ขนาดนั้นแล้ว จะมีหรือที่โลกจะทำนิ่งเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในเมื่อกรรมเกิดจากการกระทำ และกรรมก็ติดจรวดมาอย่างรวดเร็ว จึงทำให้อุณหภูมิความร้อนในโลกเริ่มสูงขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งเริ่มมีผลกระทบกับการใช้ชีวิตของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ภายในโลกใบนี้ …..หนึ่งสิ่งที่มาพร้อมกับความร้อนเลยก็คือ ภาวะฉุกเฉินที่เกิดจากร่างกายมีความร้อนสูงเกินไป ซึ่งมักจะเรียกกันว่า “โรคลมแดด” หรือ “Heat Stroke” ที่เราต่างก็รู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
โดยสาเหตุของ Heat Stroke นั้น เกิดได้ทั้งจากการออกกำลังกายอย่างหนัก หรือการที่ต้องอยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้นเป็นเวลานานๆ หากเราต้องอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิด Heat Stroke เราก็ต้องหมั่นสังเกตอาการของตัวเองและคนรอบข้างให้ดีว่า มีอุณหภูมิร่างกายเกินกว่า 40 องศาเซลเซียสไหม มีพฤติกรรมหรือสภาพจิตใจที่เปลี่ยนไป อาทิ กระหายน้ำมาก รู้สึกสับสนเฉียบพลัน หงุดหงิดฉุนเฉียว พูดไม่รู้เรื่อง เพ้อ ชัก ผิวแห้ง เหงื่อไม่ออก ผิวหนังแดง หัวใจเต้นเร็วแรง หายใจหอบถี่ ปวดหัวตุบๆ คลื่นไส้และอาเจียนหรือไม่ ถ้าหากว่ากำลังเผชิญกับอาการเหล่านี้อยู่ ควรรีบปฐมพยาบาลให้เร็วที่สุด ด้วยวิธีการที่ทำให้อุณภูมิในร่างกายลดลงให้ได้ไวที่สุด เช่น การเข้าไปอยู่ในที่ร่มและมีอากาศถ่ายเทสะดวก คลายเสื้อผ้าให้หลวม และใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวโดยเฉพาะบริเวณหลังคอ รักแร้ ข้อพับและขาหนีบ ใช้พัดลมเป่าตามร่างกายเพื่อช่วยระบายความร้อน ดื่มน้ำเปล่าหรือเกลือแร่ให้มากๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำและสูญเสียเกลือแร่ และหากพบผู้มีอาการรุนแรงก็ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล
สำหรับการป้องกันเพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการเป็น Heat Stroke เราควรเลือกที่จะส่วมใส่เสื้อผ้าที่มีความโปร่งสบาย อากาศถ่ายเทได้ดี ดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานานๆ หรือหากจำเป็นควรดื่มเกลือแร่ เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป ทั้งนี้ก็อย่างที่รู้ๆ กันคือ Heat Stroke สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะ 6 กลุ่มเสี่ยงที่ควรดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่ 1) ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดดเป็นประจำ 2) ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น 3) เด็กเล็กและผู้สูงอายุ 4) ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก 5) ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และ 6) ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก เพราะจะทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
…….และใช่ว่า Heat Stroke จะเกิดขึ้นกับมนุษย์เพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นได้ในสัตว์ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสุนัขและแมว เนื่องจากมีขนปกคลุมทั่วร่างกายทำให้ร้อนได้ง่ายกว่า และการระบายความร้อนของสัตว์นั้นก็ไม่ได้ดีเท่ามนุษย์ เพราะว่ามีต่อมเหงื่อที่บริเวณฝ่าเท้าและจมูกเท่านั้น จึงต้องอาศัยการระบายความร้อนจากการหายใจและการหอบเป็นหลัก และสิ่งสำคัญคือสัตว์ไม่สามารถบอกได้ว่ากำลังรู้สึกอย่างไร หรือเป็นอะไรอยู่ ต้องอาศัยการสังเกตจากมนุษย์เท่านั้น โดยสัตว์จะมีอาการแลบลิ้นออกมามากผิดปกติ ตัวร้อน เหนื่อยหอบ หายใจเร็ว ชีพจรเต้นเร็ว กระวนกระวาย เดินโซเซ ดูมึนงง กระหายน้ำรุนแรง น้ำลายมีลักษณะเหนียวและยืดออกจากปาก ลิ้นและเหงือกมีสีแดงเข้ม เหงือกและจมูกแห้ง อาเจียนบ่อย ท้องเสียฉับพลัน นอนเกร็งทั้ง 4 ขา อาจมีเลือดกำเดาไหล หรือชักร่วมด้วย
ทั้งนี้ สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้สัตว์เลี้ยงเป็น Heat Stroke ได้แก่ การเป็นโรคติดเชื้อที่ทำให้เกิดไข้สูง และการให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในบริเวณที่มีอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน เช่น การทิ้งสัตว์เลี้ยงไว้ในรถยนต์ เป็นต้น สำหรับในส่วนของการปฐมพยาบาลเบื้องต้นนั้นก็คล้ายกันกับมนุษย์ คือ การลดอุณหภูมิร่างกายให้เร็วที่สุด โดยการให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในพื้นที่ร่มและมีอากาศถ่ายเทสะดวก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัว และอาจเป่าพัดลมร่วมด้วย เพื่อช่วยในการระเหยของความร้อน แต่ไม่ควรใช้น้ำแข็งหรือน้ำที่เย็นจัด เพราะจะทำให้เกิดอาการสั่นเนื่องจากเส้นเลือดส่วนปลายหดตัว ส่งผลให้การลดความร้อนของร่างกายช้าลง หากยังไม่ดีขึ้นก็ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์
ถ้าดูจากอาการและวิธีการปฐมพยาบาลของ Heat Stroke อาจดูเหมือนจะไม่อันตรายร้ายแรงมาก แต่เชื่อหรือไม่ว่า Heat Stroke มีโอกาสเสียชีวิตมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว หลายคนอาจเคยได้ยินข่าวนำเสนอว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 มีจำนวนผู้เสียชีวิตจาก Heat Stroke ถึง 61 ราย โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนผู้เสียชีวิต 33 ราย ซึ่งนับว่ามากที่สุดของประเทศ ดังนั้น Heat Stroke จึงถือได้ว่าเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวมากจนไม่รู้ว่าจะแปลงร่างเป็นมัจจุราชเมื่อไร เราทุกคนจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ โดยควรดูแลสุขภาพของตัวเองและคนที่คุณรัก พร้อมกับอย่าลืมใส่ใจสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงด้วย ถ้าไม่อยากเสียใครไปก่อนเวลาอันควรจากความร้อน …เพราะโลกไม่เคยหยุดร้อน…และดูจะยิ่งร้อนนนขึ้นๆๆ