เมื่อปลายพฤษภาคม 2567 มีข่าวว่าฟิลิปปินส์ออกมาประท้วงจีน เพราะไม่พอใจและต้องการคัดค้านกรณีจีนประกาศเริ่มใช้กฎหมายห้ามทำประมงในทะลจีนใต้ เริ่มตั้งแต่ปลายพฤษภาคม 2567 ต่อเนื่องไปถึงกันยายน 2567 หรือประมาณ 4 เดือน กฎหมายดังกล่าวจีนเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2542 มีชื่อว่า The Summer Fishing Moratorium หรือ SFM ซึ่งจีนใช้เพื่อปกป้องทรัพยากรทางทะเลในน่านน้ำของจีน ครอบคลุมทั้งบริเวณทะเลปั๋วไห่ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ทะเลเหลือง ทะเลจีนตะวันออก และแน่นอน…ครอบคลุมถึงพื้นที่บริเวณทะเลจีนใต้ ที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ด้วย
สำหรับจีน..กฎหมายนี้ไม่ได้สร้างปัญหาอะไร และเป็นผลดีต่อการรักษาความมั่นคงระยะยาวของทรัพยากรและระบบนิเวศทะเลในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในความพยายามแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ที่เป็นปัญหาท้าทายเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก โดยในปี 2567 จีนบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวยาวนานกว่าปีก่อนหน้านี้ คือขยายเวลาจากประมาณ 3 เดือน เป็น 4 เดือน แม้ว่าจีนจะเน้นว่ากฎหมายดังกล่าวบังคับใช้บริเวณน่านน้ำของจีน และเป็นไปเพื่อรักษาระบบนิเวศ รวมถึงแก้ไขปัญหาใหญ่อย่างเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย แต่มาตรการของจีนส่งผลกระทบต่อฟิลิปปินส์
สาเหตุที่ทำให้ฟิลิปปินส์ไม่พอใจ ต้องออกมาทักท้วงและคัดค้าน เพราะกฎหมายดังกล่าวกินบริเวณบังคับใช้ไปถึงพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ การมีกฎหมายดังกล่าวก็เท่ากับจีนอนุญาตให้ตัวเองมีสิทธิส่งเรือลาดตระเวนเข้าไปควบคุมและจัดการเรือประเทศอื่น ๆ ในน่านน้ำที่ควรจะเป็นน่านน้ำสากล หรือน่านน้ำของฟิลิปปินส์ได้ …เรื่องนี้ฟิลิปปินส์ไม่ยอมเด็ดขาด พร้อมกับแจ้งให้ทั่วโลกรู้ว่าบริเวณที่จีนประกาศใช้กฎหมายนั้นครอบคลุมไปถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone – EEZ) ของฟิลิปปินส์ด้วย จึงโจมตีจีนว่าออกกฎหมายฝ่ายเดียว ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นการกระทำที่ทำให้บรรยากาศขัดแย้งตึงเครียดมากขึ้นกว่าเดิม
เมื่อปี 2566 เวียดนามก็ได้ประท้วงจีนในเรื่องนี้ เพราะชาวประมงเวียดนามใช้ประโยชน์จากน่านน้ำดังกล่าว และโจมตีกฎหมายของจีนว่าละเมิดอธิปไตยของเวียดนาม เนื่องจากครอบคลุมบริเวณพื้นที่พิพาทระหว่างจีนกับเวียดนามในทะเลจีนใต้ด้วย เวียดนามในขณะนั้นเสนอแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาทำประมงผิดกฎหมายด้วยการร่วมกันทำข้อตกลงระหว่างประเทศ เพื่อจำกัดการทำประมงในบางพื้นที่ ไม่ใช่การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะออกกฏหมายที่ส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ แบบนี้
สิ่งหนึ่งที่ฟิลิปปินส์ว่าจีนมาเสมอ คือ จีนมีพฤติกรรมที่ตัดสินใจเองฝ่ายเดียว (unilateral) ซึ่งไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้เราอยากจะชวนทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ว่า ประเทศต่าง ๆ มีสิทธิ์แค่ไหนที่จะออกกฎหมายปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของตัวเอง!?
จีนตัดสินใจฝ่ายเดียวเองจริง ๆ ตามที่ฟิลิปปินส์ว่า แต่นั่นเป็นเพราะจีนเชื่อว่าเขาได้ถือสิทธิ์อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนในพื้นที่ทางทะเลที่จีนบังคับใช้กฎหมายควบคุมการทำประมงแล้ว ดังนั้น นี่เป็นเรื่องภายในประเทศที่จีนสามารถตัดสินใจเองได้ นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยืนยันว่า กฎหมายของจีนไม่ขัดกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea – UNCLOS) ซึ่งเป็นกรอบข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องสิทธิทางทะเล เริ่มใช้เมื่อปี 2559 ดังนั้น ข้อโต้แย้งของฟิลิปปินส์จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง บิดเบือนความจริง และฟิลิปปินส์ต่างหากที่เป็นฝ่ายทำให้บรรยากาศความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคตึงเครียดขึ้น
จีนยังปฏิเสธข้อกล่าวหาของฟิลิปปินส์ที่บอกว่าจีนเป็นต้นเหตุของการทำลายระบบนิเวศในทะเลจีนใต้ ด้วยการขุดลอกพื้นทะเลขึ้นไปสร้างเกาะเทียม ที่จีนใช้ในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่อาจต้องตรวจสอบข้อมูลกันอย่างละเอียด เพราะการสร้างผลกระทบต่อแนวปะการังขนาดใหญ่ในทะเลจีนใต้ อาจส่งผลเสียต่อความสมบูรณ์และสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคนี้ระยะยาว
แล้วจีนมีสิทธิ์ที่จะออกกฎหมายในลักษณะนี้หรือไม่!? คำตอบก็คือ จีนมีสิทธิ์โดยชอบธรรม ที่จะออกกฎหมายในประเทศ หลังจากจีนผ่านช่วงเวลาของการพัฒนากฎหมายมาอย่างยาวนาน ในระบบการออกกฎหมายของจีน มีทั้งรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา และกฎหมายชนิดอื่น ๆ เป้าหมายเพื่อใช้กฎหมายป้องกันเหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของจีน และใช้เป็นเครื่องมือปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ หากกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมา ได้รับรองจากสภาประชาชนแห่งชาติของจีน เท่ากับว่าสามารถดำเนินการตามนั้น รวมทั้งการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายดังกล่าว ก็จะต้องรับโทษตามที่กำหนดไว้ด้วย
ว่ากันตามหลักการและประสบการณ์ในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ กฎหมายภายในประเทศกลับเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ได้อย่างจริงจังมากกว่ากฎหมายระหว่างประเทศซะอีก!! อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะกับจีน แม้ว่ากฎหมายระหว่างประเทศจะมีผลให้ประเทศต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตาม แต่มีงานวิจัยหลายฉบับแล้วที่บอกว่า กฎหมายระหว่างประเทศส่วนใหญ่ใช้ไม่ได้ผล เพราะลักษณะของกฎหมายระหว่างประเทศที่บังคับใช้แบบ horizontal enforcement หรือการใช้ในระนาบเดียวกัน ทุกประเทศ และทุกองค์กรรระหว่างประเทศ ทำให้เกิดปัญหาการบังคับใช้ในประเทศที่มีบริบทแตกต่างกัน กฎหมายระหว่างประเทศจึงมีความสำคัญในระดับเป็น “แนวทาง” หรือคู่มือให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการตามเพื่อรักษาสันติภาพโลกเท่านั้น
อาจสรุปได้ว่าการที่จีนบังคับใช้กฎหมายห้ามทำประมงในน่านน้ำอาจเป็นเรื่องที่อยู่ภายใต้สิทธิ์ของจีน ตามความชอบธรรม ถือว่าจีนใช้ประโยชน์จากกฎหมายเป็นเครื่องมือปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติได้อย่างดี แล้วประเทศอื่น ๆ มีสิทธิ์จะเมินเฉยต่อกฎหมายดังกล่าวของจีนหรือไม่!? ก็อาจทำได้ โดยเฉพาะในพื้นที่พิพาทที่ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรได้มีคำพิพากษาเมื่อปี 2559 ว่าจีนไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายใดๆ ที่จะอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้ อย่างไรก็ตาม ประเทศต่าง ๆ อาจจะไม่อยากเสี่ยง!! เพราะจากสถานการณ์ที่ตึงเครียดสูงในปีนี้ ทำให้เราคาดว่าจีนจะส่งเรือลาดตระเวนไปขับไล่และเฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมายอย่างเข้มงวดแน่นอน