สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนสร้างปรากฏการณ์ต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีของยูเครนใช้การสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่ทรงพลังแสวงประโยชน์แห่งยุคสมัยได้อย่างดี หลังจากเราได้เห็นการทดลองใช้โดรนและประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence-AI) ในปฏิบัติการทางทหารมากมายในห้วงเวลา 2 ปีกว่า โดยอีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2567 คือการที่นาย Dmytro Kuleba โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของยูเครน แถลงเปิดตัวนาง Victoria Shi โฆษกประจำกิจการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศยูเครน ที่สร้างมาจาก AI เพื่อใช้ในการสื่อสารต่อสาธารณะ ประหยัดเวลาให้กับนักการทูตที่เป็นมนุษย์จะได้มีเวลาไปทำเรื่องที่สำคัญและซับซ้อนมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในส่วนของแถลงการณ์หรือการตอบคำถามสำคัญอ่อนไหวมนุษย์จะยังคงอยู่เบื้องหลังการผลิตและกลั่นกรองเนื้อหาอยู่ โดย AI ตัวแรกนี้เป็นผลงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของยูเครน กับทีมงานของ The Game Changers องค์กรไม่แสวงกำไร และบริษัท Nazovni Tech ของยูเครน
ความน่าสนใจของปรากฏการณ์นี้มีอย่างน้อย 4 มุม
…มุมแรก นี่เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การต่างประเทศของโลกที่ให้ AI ทำหน้าที่นี้ สะท้อนความใจถึง (หรือบุ่มบ่าม?) และกล้าเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ ๆ ของทางการยูเครนภายใต้การนำของประธานาธิบดีเซเลนสกี การมี AI มาช่วยเจ้าหน้าที่ทำงาน โดยเฉพาะในงานละเอียดอ่อนอย่างด้านการสื่อสารกับสาธารณะในภาวะสงครามเช่นนี้ ที่แม้แต่มนุษย์ก็ยังต้องใช้ประสบการณ์สูง เพราะการถาม–ตอบสื่อมวลชน หรือการแสดงท่าทีในนามกระทรวงการต่างประเทศอาจส่งผลดีและร้ายได้เสมอ ซึ่งหากใครติดตามการสัมภาษณ์ของสำนักข่าวใหญ่บ่อย ๆ จะทราบดีว่า นักข่าวสื่อมวลชนผู้มากประสบการณ์มีวิธีการยิงคำถามที่ไม่ง่ายต่อการรับมือเลย อีกทั้งในอีกมุมหนึ่งในวงการการทูตจะยอมรับแนวทางนี้ขนาดไหน เพราะสิ่งใหม่ ๆ ย่อมนำมาซึ่งมุมมองที่หลากหลายและแตกต่างกัน …ย่อมเกิดการปะทะระหว่างขนบเก่ากับวิถีใหม่
การตั้งขอสังเกตของนาง Maria Zakharova หนึ่งในโฆษกประจำกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย เมื่อ 3 พฤษภาคม 2567 ก็น่าคิดตามไม่น้อยที่มองว่า การใช้ AI สื่อสารแทนมนุษย์นั้น คือการนำ AI มาเป็นสิ่งกันชน (buffer) ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนคนจริง ๆ และเป็นการปฏิเสธความรับผิดชอบในฐานะรัฐบาลที่จะทำหน้าที่กรมการกงสุล เพื่อดูแลประชาชนยูเครนในต่างประเทศ อีกทั้งเป็นการหลีกเลี่ยงทางกฎหมายได้ด้วยหากในอนาคตเกิดคดีความการฟ้องร้อง พร้อมประเมินว่ายูเครนมีแนวโน้มจะสร้างเจ้าหน้าที่ AI ในอีกหลายกระทรวง
สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปคือการที่กระทรวงการต่างประเทศยูเครน เปิดโอกาสให้สำนักข่าวต่างประเทศอย่าง Radio Free Europe/Radio Liberty ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ อีกทั้งเป็นสำนักข่าวคู่บาปคู่บุญกับประเทศอดีตสหภาพโซเวียต ได้ผลิตคลิปวิดีโอสัมภาษณ์นาง Victoria Shi และเผยแพร่เมื่อ 3 พฤษภาคม 2567 โดยย้ำว่าการทำงานของโฆษก AI นี้ เพื่อที่จะช่วยให้นักการทูตและเจ้าหน้าที่ที่เป็นมนุษย์ตัวจริงมีเวลาไปทำสิ่งต่าง ๆ ที่สำคัญกว่า และเพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างข่าวลวง ข่าวปลอมจากการใช้ AI (นาง Victoria Shi) นี้ ในทุกวิดีโอจะมีการแปะ QR CODE เพื่อนำไปสู่เว็บไซต์ทางการของกระทรวงการต่างประเทศยูเครน
…มุมที่สอง การตั้งชื่อและเลือกอัตลักษณ์ AI ละเอียดอ่อนไม่ต่างจากมนุษย์ การเลือกใช้อัตลักษณ์มนุษย์จริงที่ยังมีชีวิต มนุษย์ผู้เป็นตำนาน หรือแม้แต่ไม่มีตัวตนจริง ก็ล้วนมีประเด็นที่ต้องขบคิดโดยละเอียดทั้งสิ้น การตัดสินใจของทางการยูเครนจึงมีแง่มุมที่น่าติดตาม เพราะเมื่อมีหนึ่งก็น่าจะมีเพิ่มอีกแน่นอนในอนาคต โดยการสร้างนักโฆษกจาก AI ครั้งแรกนี้ เป็นการใช้ข้อมูลทั้งอัตลักษณ์ทางกายภาพและเสียงจริงจากนาง Rosalie Nombre นักร้องชาวยูเครนซึ่งมีตัวตนจริง และแน่นอนว่าภารกิจหลักของรัฐบาลยูเครนช่วงนี้คือการแถลงประณามรัสเซียผู้รุกรานยูเครน คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ภูมิหลังของนาง Rosalie มีภูมิลำเนาบ้านเกิดจากเมืองโดเนตสค์ ที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การครอบครองของรัสเซีย ส่วนการตั้งชื่อนั้น Victoria สื่อถึงชัยชนะ ส่วน Shi เป็นคำย่อมาจากคำว่า shtuchniy intelekt ในภาษายูเครน ที่แปลมาจาก artificial intelligence
…มุมที่สาม เราควรมุ่งความสนใจตรงไหนกันแน่ ระหว่าง AI แทนที่มนุษย์ได้จริง กับ มนุษย์จะใช้ AI ได้อย่างสร้างสรรค์หรือไม่ อะไรกันแน่ที่อยู่เหนือการควบคุม
ผู้เขียนบทความนี้ (ซึ่งเป็นคนจริง ๆ) ได้ทดลองปรึกษากับกูรูด้าน AI อย่างแชทบอทให้ช่วยประเมินว่า AI จะทำหน้าที่แทนนักการทูตได้หรือไม่ คำตอบก็น่าสนใจเช่นกัน โดยแชทบอทเชื่อว่า AI ยังไม่สามารถแทนที่ได้ในปัจจุบัน แต่ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงจุดแข็งของ AI ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูลภาพรวมได้รวดเร็ว ทักษะการสื่อสารและใช้ภาษาได้หลากหลายภาษา (แม้จะยังไม่สละสลวย แต่ก็กำลังพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด และปรับให้เข้ากับบริบทได้รวดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ) และความสามารถในการทำงานประจำซ้ำ ๆ ที่ไม่ซับซ้อนได้ต่อเนื่อง (24 ชั่วโมง) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่มนุษย์ตัวจริงมีเวลาไปทำสิ่งที่สำคัญมากขึ้น
แต่ขณะเดียวกัน ข้อจำกัดของ AI ก็ยังคงมีอยู่ อาทิ ทักษะในการเข้าใจและอ่านสถานการณ์เพื่อสั่งการให้ต้องทำการแสดงออกที่เป็นลักษณะการเห็นอกเห็นใจ และการแยกแยะความแตกต่างในระดับที่เล็กน้อยมาก ๆ ที่ต้องใช้ประสบการณ์ในการประเมินบริบทและบรรยากาศแวดล้อมในระหว่างการแถลงข่าว รวมถึงการชั่งน้ำหนักในด้านจริยธรรมและการคาดการณ์ผลกระทบในสิ่งที่จะตามมาจากแถลง พร้อมย้ำว่า AI เหมาะจะเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อช่วยสนับสนุนเท่านั้น แต่ยังไม่เหมาะสมที่จะแทนที่มนุษย์
นอกจากความใจถึงไม่รอใครมาอนุญาตแล้ว สิ่งที่ทำให้ยูเครนน่าสนใจยิ่งกว่าคือ พัฒนาการของการใช้ AI เพื่อการสื่อสารกับสาธารณะของยูเครนในอนาคต ในยุคที่มนุษย์เลือกที่จะเปิดใจรับฟัง influencer ได้มากกว่าหน่วยงานราชการหรือแม้แต่องค์การระหว่างประเทศผู้ทรงภูมิ เราอาจได้มีโอกาสเห็น AI ที่ออกแบบและพัฒนาออกมาอย่างมีเป้าหมายเฉพาะเจาะจง และทำให้การสื่อสารมีพลังแบบก้าวกระโดดได้มากขึ้น แม้อาจเป็นดาบสองคม โดยคมหนึ่งอาจทำให้มนุษย์เข้าใจกันมากขึ้นด้วยการสื่อสารผ่านตัวกลางอย่าง AI โดยเฉพาะการช่วยแปลภาษาในระยะเวลาที่รวดเร็วและต้นทุนต่ำ (ต่ำว่าการจ้างล่าม) แต่อีกคมหนึ่งอาจทำให้เกิดการรวมกลุ่มของมนุษย์ที่มีความเชื่อและค่านิยมเหมือนกันและนำไปสู่ความสุดโต่งก็เป็นได้
หากมองเป้าประสงค์การสร้าง AI ของยูเครนในครั้งนี้ ตั้งแต่การตั้งชื่อและการเลือกต้นแบบล้วนมีนัยทั้งสิ้น ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีที่ทรงพลังอย่าง AI ที่หลายฝ่ายสะพรึงกลัวนั้น ก็มีมุมความเปราะบางอยู่เหมือนกัน เมื่ออยู่ในสถานะ “เครื่องมือ” ทำให้นึกทบทวนถึงการงัดข้อระหว่างการพัฒนา AI ของผู้พัฒนา กับภาครัฐทั้งในประเทศและเวทีระหว่างประเทศที่ยังดูสับสนอลหม่านกับแนวทางการกำกับดูแล และพึ่งจะสามารถออกมติร่วมกันระหว่างผู้แทนรัฐสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ไปเมื่อ 21 มีนาคม 2567 เป็นครั้งแรก ว่า AI ต้องถูกควบคุมเพื่อส่งเสริม “ความปลอดภัย มั่นคงและวางใจได้” แต่ก็น่าคิดต่อว่า ในปัจจุบันนี้ “ความไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคงและไม่สามารถวางใจได้” แท้จริงแล้วเกิดขึ้นจากความก้าวหน้าของตัวเทคโนโลยีเอง หรือเกิดจากมนุษย์มากกว่ากัน โดยเฉพาะมนุษย์ผู้อ้างสิทธิในการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ ซึ่งการธำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์แห่งชาตินี่แหละที่พามนุษยชาติเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ มานักต่อนักแล้ว
แต่ในอนาคตที่เราอาจ..ไม่มีทางรู้นั้น ก็ยังมีอีกหนึ่งฉากทัศน์ที่น่าสนใจไม่น้อย หาก “เครื่องมือ” อย่าง AI จะสามารถเป็นฝ่ายเลือกผู้ใช้ได้ด้วยตัวเอง หรือ “เครื่องมือ” สามารถกำหนดใจตนเองได้ ในขณะที่มนุษย์ยังต้องทำสงครามกันเพื่อให้ได้มาซึ่งการกำหนดใจตนเอง ซึ่งปัจจุบันนี้ ดูเหมือนว่าความก้าวหน้าของ AI อาจสามารถพลิกโฉมบางอย่างได้ แต่ก็ยังไม่เข้าใกล้การสั่นคลอนประเด็นปัญหาบางอย่างได้เลย เพราะแม้แต่มนุษย์ด้วยกันเองก็ยังยากแท้หยั่งถึงกันอยู่
…และประเด็นท้ายสุดหรือมุมที่สี่นั้น อีกหนึ่งปรากฏการณ์คู่ขนานในโลกแพลตฟอร์มออนไลน์ที่น่าสนใจไม่น้อย คือการที่มนุษย์ลอกเลียนแบบการแสดงท่าทางเหมือน AI หรือหุ่นยนต์ซ้ำ ๆ หรือที่เรียกว่า Non-player Character(NPC) ซึ่งเดิมเป็นคำที่ใช้เรียกตัวละครในเกมส์ที่มีการกำหนดคำสั่งตอบโต้คำพูดและท่าทางไว้เป็นโปรแกรม แต่ปัจจุบันคำนี้เป็นที่นิยมในแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นอีกหนึ่งชื่ออาชีพจริงบนโลกมนุษย์ โดยมนุษย์แต่งตัวและทำท่าทางแบบ NPC นั้นสามารถสร้างรายได้ไม่น้อย เพราะผู้ชมออนไลน์สามารถเล่นกับคนด้วยกันได้ ผ่านการส่งของขวัญในรูปแบบดิจิทัล ที่สามารถแปลงเป็นเงินได้จริง ๆ ให้กับมนุษย์ที่มาจำลองตัวเองเป็น NPC เพื่อแลกกับการทำท่าเลียนแบบหุ่นยนต์แล้วได้รับรางวัลจากผู้ชม ซึ่งจากสถิติที่มีการเปิดเผยบางรายสามารถทำรายได้ถึง 100,000 บาทเลยทีเดียวต่อการไลฟ์สดหนึ่งครั้ง และบางครั้งผู้ชมก็ส่งของขวัญให้รัว ๆ จนมนุษย์ผู้จำลองเป็น NPC ร้องไห้ สะอึก หายใจไม่ทันขณะไลฟ์กันเลยก็มีปรากฏให้เห็นเป็นระยะ อืมที่น่าคิดคือ ..เส้นบาง ๆ ระหว่างให้รางวัลสนับสนุนกับการกลั่นแกล้งระบายอารมณ์ผ่าน NPC ในแพลตฟอร์มออนไลน์ การยินยอม (?) ในลักษณะนี้ควรมีสถานะเป็นอะไรในสังคม และมีจุดสูงสุดหรือต่ำสุดอยู่ที่ตรงไหน
……….ประเด็นนี้มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยที่ว่ามนุษย์กลุ่มหนึ่งพยายามนำ AI มาแทนที่อาชีพของมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ได้ไปทำในสิ่งที่สำคัญหรือมีประโยชน์มากกว่า แต่ขณะเดียวกันมนุษย์กลุ่มหนึ่งในโลกใบเดียวกัน ก็สามารถสร้างอาชีพจากการเลียนแบบหุ่นยนต์และ AI ได้เช่นกัน อีกทั้งสามารถทำเป็นอาชีพได้อีกด้วย สิ่งนี้กำลังบ่งชี้ว่าภาครัฐในทุกประเทศจะเผชิญโจทย์ซับซ้อนยุ่งเหยิงต่อการกำกับดูแลและกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ ในอนาคตอย่างแน่นอน เพื่อตามให้ทันกับความสร้างสรรค์เหนือจินตนาการของมนุษย์ในการริเริ่มพฤติกรรมหรือค่านิยมใหม่ ๆ ภายหลังจากที่เกิดความก้าวหน้าใหม่ ๆ ตามมาและท้าทายเส้นแบ่งทางศีลธรรมของมนุษย์มากขึ้นอยู่ทุกขณะ……..
…..สรุปแล้วในอนาคตเราจะได้เห็นอะไรกันแน่ที่พลิกโฉมระหว่างมนุษย์จำลองเป็นหุ่นยนต์ หรือหุ่นยนต์จำลองเป็นมนุษย์